กดจุด นิ้วล็อค 4 เทคนิคการกดจุดช่วยบรรเทาอาการ
กดจุด นิ้วล็อค ยังเป็นโรคยอดนิยมสำหรับหนุ่มสาววัยทำงานอยู่ไม่น้อย กับอาการนิ้วล็อค โดยสาเหตุคงเดาได้ไม่ยากนัก เนื่องจากพฤติกรรมการทำงานต้องใช้นิ้วพิมพ์งานอยู่เสมอ และต้องทำในชีวิตประจำวัน นั่นจึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจนักว่าทำไมโรคนี้จึงมักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนในวัยนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหลาย ๆ คนเป็นแล้ว หายแล้ว แต่ก็กลับมาเป็นอีก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่รู้วิธีการรักษาที่ถูกต้องและไม่มีเวลาเข้าพบแพทย์ ดังนั้นในบทความนี้เราจึงรวบรวมเทคนิคการกดจุดนิ้วล็อคมานำเสนอเพื่อช่วยบรรเทาอาการในระหว่างทำงานให้ดีขึ้น
กดจุด นิ้วล็อค ยากไหม ช่วยบรรเทาอาการได้จริงหรือเปล่า?
“นิ้วล็อค” ถือเป็นโรคที่น่ากลัวอีกโรคหนึ่งที่ผู้ที่มีความเสี่ยงควรระวัง โดยเฉพาะคนในวัยทำงานและผู้สูงอายุ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่านอกจากโรคนี้จะเป็นภัยเงียบแล้ว ยังเป็นภัยใกล้ตัวอีกด้วย โดยสาเหตุหลัก ๆ ของโรคมักมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานนิ้วหนักเกินไป ใช้นิ้วมือด้วยท่าเดิม การใช้นิ้วยกของหนัก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานนิ้วมือเกิดการอักเสบและใช้ชีวิตได้ยากมากขึ้น
นิ้วล็อค เกิดจาก…
เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อคไว้ ส่งผลให้เกิดการปวดบริเวณโคนนิ้วมือและมักมีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้วในเวลาใช้งาน
ลักษณะอาการของโรคนิ้วล็อค
อาการนิ้วล็อคแบ่งเป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วมือ
- ระยะที่ 2 มีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง
- ระยะที่ 3 กำมือแล้วเกิดอาการล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้มือมาช่วยง้างออก
- ระยะที่ 4 ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย
ทั้งนี้ อาการจะเริ่มจากการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ มีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว หากมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที
การรักษา โรคนิ้วล็อค ทำยังไง?
การรักษานิ้วล็อคแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ
การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เฉพาะที่
เพื่อลดการอักเสบ ลดการบวมของเส้นเอ็น แต่การฉีดยาอาจทำให้อาการดีขึ้นได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ และสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ในระยะเวลาไม่นาน ข้อจำกัดในการรักษานี้คือ ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 หรือ 3 ครั้งต่อนิ้วที่เป็นโรค
การผ่าตัด
โดยการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้าง เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้สะดวก ไม่ติดขัด หลังผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาล ซึ่งแผลหลังผ่าตัดห้ามโดนน้ำประมาณ 1-2 อาทิตย์
การรักษาโดยการทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบําบัดนิ้วล็อค วิธีนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถช่วยลดอาการปวด ลดการเกร็งนิ้วมือ ช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ รวมไปจนถึงเส้นเอ็นบนนิ้วมือเกิดการคลายตัว มีความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีการรักษาเช่นนี้จะเหมาะกับผู้ที่อยู่ในระยะอาการเริ่มต้น ยังไม่รุนแรง ยังสามารถป้องกันและบรรเทาได้โดยไม่ต้องฉีดยาหรือผ่าตัด
การบรรเทาอาการนิ้วล็อคด้วยการ “กดจุด”
วิธีแก้อาการ นิ้วล็อค นั้นมีทั้งการลดพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค ฉีดยาลดการอักเสบหรือแม้กระทั่งการผ่าตัด แต่ก่อนที่จะไปถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น เราก็สามารถดูแลนิ้วมือของเราด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการกดจุดก็ได้ เพราะสามารถทำตามได้ง่าย ๆ ทุกคน
เริ่มต้น..
โดยก่อนทำการกดจุด เราควรแช่มือในน้ำอุ่นก่อนประมาณ 10-15 นาที ในน้ำอุ่นนั้นเราสามารถผสมสมุนไพรต่าง ๆ ลงไปได้ เช่น มะกรูด ขมิ้นชัน ซึ่งการนำมือไปแช่น้ำอุ่นนี้จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น รวมถึงยังลดอาการเจ็บปวดจากโรคนิ้วล็อคได้ด้วย
4 เทคนิคการกดจุดลดอาการนิ้วล็อค
บริเวณเนินอุ้งมือ
ใช้นิ้วโป้งกดบริเวณเนินอุ้งมือทั้งฝั่งซ้ายและขวา ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 2 รอบ
บริเวณข้อนิ้วมือ
ใช้นิ้วโป้งกดบริเวณข้อนิ้วมือ ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 2 รอบ
บริเวณกึ่งกลางข้อมือ
ใช้นิ้วโป้งกดจุดบริเวณกึ่งกลางข้อมือ โดยวัดจากปลายอุ้งมือลงมา 2 นิ้ว (ใช้สองนิ้วมือทาบ) ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 2 รอบ
บริเวณกลางฝ่ามือ
ใช้นิ้วโป้งกดบริเวณกลางฝ่ามือ ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 2 รอบ
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงเทคนิคการกดจุดเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีวิธีการแก้ไขอีกมากมายที่สามารถบรรเทาอาการและรักษาจนทำให้หายได้ อย่างไรก็ตามโรคนิ้วล็อคไม่ใช่โรคที่เป็นและหายขาดได้เลย อาจกลับมาเป็นซ้ำหากพฤติกรรมของผู้ป่วยยังคงเป็นแบบเดิม ดังนั้น หากจะให้ดีต้องเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับวิธีปรับพฤติกรรมและการรักษาที่ถูกต้อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพในช่วงเวลาการพักรักษาและหายจากโรคนี้ได้โดยไม่กลับมาเป็นเรื้อรังอีก
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอนี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นิ้วล็อค อาการ เริ่มต้นเป็นยังไง สังเกตจากอะไรได้บ้าง?
- ฉีดยา นิ้วล็อค คืออะไร ฉีดแล้วจะช่วยได้จริงหรือเปล่า?
- รักษา นิ้วล็อค หายขาดได้ไหม มีวิธีไหนรักษาได้บ้าง?