ฉีดยา นิ้วล็อค คืออะไร ฉีดแล้วจะช่วยได้จริงหรือเปล่า?
ฉีดยา นิ้วล็อค หลาย ๆ คนคงอาจจะยังไม่ทราบว่ามีวิธีนี้อีกวิธีหนึ่งที่ใช้รักษาโรคนิ้วล็อคได้ เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วคนไข้อาจจะรู้จักเพียงการผ่าตัด ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเพราะคนไข้ทุกคนไม่ได้มีวิธีการรักษาที่เหมือนกัน เพราะอาการ “นิ้วล็อค” นั้น แม้จะเป็นปัญหาการเคลื่อนไหวเฉพาะที่ ดูไม่มีอาการอะไรมาก และไม่ได้มีความรุนแรงอะไร แต่แท้จริงแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายระยะด้วยกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนไข้บางคนถึงต้องผ่าตัด และทำไมบางคนจึงเหมาะกับการฉีดยามากกว่า ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าการฉีดยารักษาโรคนิ้วล็อคคืออะไร ช่วยให้หายได้จริงหรือไม่
ฉีดยา นิ้วล็อค หนทางรักษาสำหรับคนไม่อยากผ่าตัด
ปัจจุบัน โรคนี้พบบ่อยขึ้นในกลุ่มคนทำงานและยุคสังคมออนไลน์ จากการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟนมากเกินไป ซึ่งมีการใช้มือและนิ้วมือทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งถ้าทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาจะเกิดความผิดปกติของเส้นเอ็นรวมถึงข้อต่อต่าง ๆ ของนิ้วมือได้
การรักษาอาการนิ้วล็อคด้วยการฉีดยา คือ…
การฉีดยาเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อคนั้นเป็นอีกหนทางหนึ่งของผู้ป่วยที่มีความกังวลในการผ่าตัดและต้องการเลือกแนวทางอื่น ๆ เพื่อทำการรักษา โดยในการฉีดยานั้นจะเป็นการฉีดเฉพาะจุดเท่านั้น และต้องเข้ารับการฉีด 2-3 ครั้งขึ้นไปเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ซึ่งคนไข้ต้องเคร่งครัดและมีวินัยในการเข้าพบแพทย์ทุกครั้ง
แนวทางการรักษา
การรักษานิ้วล็อค ในผู้ป่วยที่เป็นตั้งแต่ระดับที่ 1 – 3 จะแนะนำให้ฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ จะได้ผลดี และหายกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป ในรายงานบางแห่งได้ผลดีและหายถึงกว่าร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 30 – 40 อาการล็อคจะกลับมาเป็นอีกได้ ในกลุ่มที่กลับมาเป็นใหม่นี้ จะให้มีการฉีดยาสเตียรอยด์ซ้ำได้ 2 – 3 ครั้ง โอกาสที่จะดีขึ้น และหายจะมีบ้างแต่น้อยมาก แพทย์ศัลยกรรมกระดูกจะแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษาจะดีกว่า เพราะการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ซ้ำ ๆ หลายครั้งจะไม่ทำให้อาการดีขึ้น
มาทำความรู้จัก “สเตียรอยด์”
สเตียรอยด์ (Steroid) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ต้านการอักเสบ ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ กดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
ประโยชน์ของสเตียรอยด์ในการรักษาโรคกล้ามเนื้อ
ด้วยความที่สเตียรอยด์เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ อันได้แก่ อาการปวด บวม แดง ร้อน ของเนื้อเยื้อภายในร่างกาย รวมถึงมีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันและลดไข้ จึงนิยมใช้ในการรักษาอาการปวดของกล้ามเนื้อบางชนิด หรือโรคทางเดินหายใจที่มีการอักเสบของหลอดลมร่วมด้วย เพื่อบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดน้อยลง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการเจ็บปวดหายไปอย่างรวดเร็ว
ใช้สเตียรอยด์อย่างไรให้ได้การรักษาที่เต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย
ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษา หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง หากมีความจำเป็นต้องซื้อยาสเตียรอยด์สำหรับทาภายนอกใช้เอง เพื่อการใช้สเตียรอยด์อย่างปลอดภัย
การดูแลตนเองหลังจากฉีดยารักษา
การลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่น การใช้สมาร์ตโฟนเป็นเวลานาน การเกร็งนิ้วมือในท่าเดิมเป็นเวลานาน เช่น การหิ้วของหนักโดยใช้นิ้วมือ รวมไปถึงการพักมือเป็นระยะ ๆ ร่วมกับการบริหารมือและนิ้วมือจะลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้
ท้ายที่สุด การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรคนิ้วล็อคนั้น แม้จะได้รับการยอมรับจากทางการแพทย์ในเรื่องของการช่วยรักษาและบรรเทาอาการปวดนั้น แต่ถ้าหากได้รับการฉีดที่มากเกินไปหรือมีการรักษาที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้คนไข้ได้รับผลข้างเคียงที่ส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคนไข้ต้องพิจารณาเลือกสถานที่รักษาโดยละเอียด เช่น ทีมแพทย์ มาตรฐานความสะอาด หรือในกรณีที่เป็นคลินิกรักษาเฉพาะทางก็ต้องดูใบอนุญาตการเปิดคลินิคหรือใบประกอบวิชาชีพร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นสถานที่รักษาที่ไว้ใจได้และปลอดภัยด้วย
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอนี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง