“เอ็นหน้าเท้าอักเสบ” อาการที่มักพบในนักวิ่งมาราธอน รักษายังไงดี?
“เอ็นหน้าเท้าอักเสบ” อาการบาดเจ็บที่เหล่านักวิ่งพึงระวัง ซึ่งแม้จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ แต่หากปล่อยไว้ก็อันตรายต่อตัวนักวิ่งมากทีเดียว หากพูดให้เห็นภาพได้ง่าย ๆ หากเปรียบเทียบว่านักวิ่งเป็นรถยนต์ การมีปัญหาเจ็บเท้าด้านในก็เทียบได้กับรถที่ยางแตกได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี อาการนี้ไม่ใช่อาการที่พึงประสงค์เท่าไหร่สำหรับนักวิ่งที่เป็นนักกีฬา รวมถึงผู้ที่ชื่นชอบในการวิ่ง เพราะหากปล่อยไว้ ไม่รักษา ก็จะเกิดอาการเรื้อรัง หลังจากนั้นอาจจะรักษายากและต้องหยุดพักการวิ่งกันไปแบบยาว ๆ ก็เป็นได้
เอ็นหน้าเท้าอักเสบ อาการนี้คืออะไร ทำไมจึงมักเกิดกับนักวิ่ง?
เอ็นด้านหน้าข้อเท้าหรือ tibialis anterior tendon จะอยู่ที่ด้านหน้าข้อเท้า ปลายหนึ่งจะเป็นกล้ามเนื้อเกาะที่หน้าแข้ง อีกปลายหนึ่งจะเป็นเส้นเอ็นเกาะที่กระดูกเท้า โดยเอ็นเส้นนี้จะพาดผ่านบริเวณข้อเท้าทางด้านหน้า ดังนั้นหน้าที่หลัก ๆ ของเอ็นเส้นนี้ก็คือการกระดกข้อเท้าขึ้นนั่นเอง
ซึ่งอาการ เอ็นข้อเท้าอักเสบ เจ็บด้านหน้าข้อเท้า คือ เอ็นบริเวณด้านหน้าข้อเท้าชื่อว่า tibialis anterior tendon ซึ่งทำหน้าที่กระดกข้อเท้าขึ้น มีการอักเสบขึ้น ทำให้มีอาการปวด บวม ใช้งานเดินหรือวิ่งมาก ๆ แล้วเจ็บ ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้งานมากเกินไป หรืออุบัติเหตุก็ได้ ไม่ว่าจะอุบัติเหตุจากการกีฬาหรือจากการจราจร ร่วมกับ อาการเจ็บข้อเท้าทางด้านหน้าที่บริเวณเอ็น อาจจะเป็นมากกว่าการอักเสบก็ได้ซึ่งอาจจะมีเอ็นฉีกขาดร่วมด้วยได้ โดยจะมีอาการเดินแล้วข้อเท้าตก ไม่สามารถกระดกข้อเท้าได้เต็มที่นั่นเอง
เอ็นหน้าเท้าเกิดการอักเสบ ส่งผลต่อนักวิ่งอย่างไร?
ในช่วงแรกที่เป็นเอ็นอักเสบ มักจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงของการวิ่ง ซึ่งเมื่อวิ่งไปสักพัก อาการก็จะค่อย ๆ หายไป แต่หากเป็นมาก ๆ อาการปวดจะรบกวนตลอดเวลาที่วิ่ง เนื่องจากในการวิ่งก้าวหนึ่ง ๆ จังหวะที่ใช้เอ็นกระดกข้อเท้ามากที่สุดคือจังหวะที่ส้นเท้าแตะพื้น และปลายเท้าของเราค่อย ๆ ลดลงมาเพื่อให้เท้าทั้งเท้าวางราบกับพื้น ซึ่งในคนที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นนี้ไม่แข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งานระยะยาว ๆ เช่น วิ่งมาราธอน ตอนที่เอ็นเส้นนี้ล้ามาก ๆ ขณะวิ่งเมื่อส้นเท้าลงพื้นแล้ว ข้อเท้าจะไม่สามารถค่อย ๆ ลดปลายเท้ามาวางราบกับพื้นได้ แต่ปลายเท้าของเราจะกระแทกพื้นอย่างแรงและทำให้อาการกำเริบและเกิดอาการเรื้อรังได้นั่นเอง
ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเส้นเอ็นเท้ามีอาการอักเสบ
จากที่บอกไปว่า แม้อาการนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ในนักวิ่ง แต่หากไม่รีบรักษาให้หายอาจเกิดอาการรุนแรงอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น…
- หากเป็นซ้ำ เรื้อรัง ก็จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะเป็นลักษณะการบวมตึงหรือเคลื่อนไหวผิดจังหวะจนมันไปเสียดสีกับกระดูก (ไม่อยากจะคิด)
- การผ่าตัด ณ จุดนี้ก็เสี่ยงติดเชื้อ เพราะว่าแผลอยู่ที่เท้าล่างสัมผัสกับพื้นโดยตรง
- มีโอกาสที่จะเดินได้ไม่สมดุลย์ดังเดิม ออกกำลังกายหนักหรือรวดเร็วไม่ได้อีกเลย
แนวทางการรักษา
สำหรับการรักษาแบบเบื้องต้นที่นักกีฬาสามารถดูแลตนเองได้ก่อนเข้ารับการบำบัดจากนักกายภาพบำบัด สามารถทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้…
- ประคบน้ำแข็งทันทีที่รู้สึกเจ็บตึงครั้ง 15 นาที วันละ 2-3 ครั้งให้เส้นหายบวม ให้ประคบในวันแรกที่เป็นเลยจะยิ่งดี
- ไม่ต้องนวดเพราะยิ่งกระตุ้นอาการ
- อาจใช้วิธีพันผ้าไว้
- ลดกิจกรรมการเดิน การถ่ายน้ำหนักที่ไปขาข้างที่เจ็บ
- งดวิ่งจนกว่าจะหายเจ็บสนิท ใช้เวลา 1-2 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น
- รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ แนะนำว่าให้แพทย์จ่ายให้
การรักษาโดยกายภาพบำบัด
เป็นวิธีบำบัดรักษาโดยใช้การออกกำลังกาย เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อที่อักเสบ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ เช่น การเพิ่มความต้านทานของกล้ามเนื้อที่เน้นการเกร็งตัวในขณะที่มีการยืดตัว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาการอักเสบเรื้อรังของเอ็นกล้ามเนื้อ
กายภาพบำบัดง่าย ๆ ด้วยตนเอง
- นอกจากหมั่นยืดเหยียดแล้ว ก็คือการหาลูกเทนนิสกลมๆ มา้ใช้เท้าคลึงไปมา เพื่อบริหารยืดหยุ่นของเท้า ทำได้ที่ใต้โต๊ะทำงาน
- ฝึกใช้เท้าเขียนตัวอักษร A-Z เพื่อฟื้นฟูการควบคุมการเคลื่อนไหวของเท้าให้ดีขึ้น
ท้ายที่สุด สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ควรปล่อยให้อาการนี้เป็นอาการเรื้อรัง เพราะมิเช่นนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงและอาการแทรกซ้อนที่ตามมาอีกมากมาย หากพบว่าตนเองมีอาการเจ็บที่เท้าขณะวิ่ง ควรรีบพบแพทย์หรือนักกายภาพเพื่อตรวจสอบให้ชัดเจนย่อมดีกว่าเพื่อสุขภาพในระยะยาว
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- กายภาพบําบัด กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาได้ผลไหม ต้องทำต่อเนื่องหรือเปล่า?
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- กล้ามเนื้ออักเสบ กินอะไรดี ให้ฟื้นฟูไว กลับมาใช้งานได้ปกติ