กายภาพบำบัดกล้ามเนื้อ แชร์สารพัดวิธีแก้ปัญหากล้ามเนื้อให้ดีขึ้น
กายภาพบำบัดกล้ามเนื้อ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่หลาย ๆ คนเลือก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า กล้ามเนื้อ คือ ส่วนหนึ่งของร่างกายที่ช่วยออกแรงและการเคลื่อนไหว โดยมีหน้าที่พยุงและปรับเปลี่ยนท่าทางการเคลื่อนที่ไปมา ยิ่งกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นและความแข็งแรงมาก ยิ่งทำให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดภาวะผิดปกติทางกล้ามเนื้อขึ้นมา การทำกายภาพบำบัด เพื่อการฟื้นฟูที่ยั่งยืนจึงเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ที่สุดนั่นเอง
กายภาพบำบัดกล้ามเนื้อ แนวทางลดอาการปวด แก้ปัญหาการอักเสบ รักษาปัญหาอาการทางกล้ามเนื้อเรื้อรัง
การทำกายภาพบำบัด เป็นหนึ่งในเทคนิคฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันการทำกายภาพบำบัดมีด้วยกันหลายรูปแบบ สำหรับใช้ในจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูแก่ผู้ป่วยหรือผู้พิการให้มีสุขภาพดี และสามารถกลับสู่สภาพปกติหรือใกล้เคียงปกติได้มากที่สุดตามศักยภาพของผู้ป่วย โดยอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ช่วยในกายภาพบำบัตมีหลายประเภท ส่วนใหญ่สถานพยาบาลจะเลือกใช้ เครื่องอัลตร้าซาวน์และเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า แต่การทำงานมันแตกต่างกันอย่างไร มาดูไปพร้อม ๆ กัน
ทำความรู้จัก “กายภาพบำบัดระบบกล้ามเนื้อ” คืออะไร?
กายภาพบำบัดระบบกล้ามเนื้อ (Orthopedic physical) หรือบางคนอาจเรียกชื่อตรงตัวว่ากายภาพบำบัดแบบออร์โธปิดิกส์ เป็นการกายภาพเพื่อรักษาหรือฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ (Musculoskeletal) ประกอบไปด้วย
- กล้ามเนื้อ
- กระดูก
- เอ็น และเส้นเอ็น
- พังผืด (Fascias)
- เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue)
โดยนักกายภาพบำบัดจะสามารถประเมินอาการของคุณ หรือทำงานร่วมกับแพทย์ที่รักษา เพื่อกำหนดแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคุณ
กายภาพบำบัดทางกล้ามเนื้อ ช่วยฟื้นฟูอาการบาดเจ็บได้อย่างไร?
กายภาพบำบัดระบบกล้ามเนื้อ นั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ไม่ต้องการผ่าตัด โดยกายภาพบำบัดจะช่วยลดความเจ็บปวด และเสริมสร้างการทำงานของร่างกายให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด นอกจากนี้ กายภาพบำบัดยังช่วยให้รู้จักวิธีป้องกันการได้รับบาดเจ็บอันเป็นสาเหตุให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพในการเคลื่อนไหวได้อีกด้วย ทั้งนี้ยังเป็นกระบวนการทางกายภาพที่ใช้การออกกำลังกายและเทคนิคอื่น ๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูและปรับปรุงสภาพร่างกายหรือสุขภาพของบุคคลที่มีปัญหาทางกายภาพ เช่น บาดเจ็บ อาการปวดเรื้อรัง การกายภาพบำบัดมุ่งเน้นที่การเพิ่มความแข็งแรง ความคล่องแคล่ว และความสามารถในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย ซึ่งส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติมากขึ้น
กายภาพบำบัดระบบกล้ามเนื้อเหมาะกับใครบ้าง?
นักกายภาพบำบัดด้านกล้ามเนื้อ (Orthopedic physical therapists) สามารถให้การรักษาฟื้นฟูอาการที่ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้เกือบทุกประเภท ซึ่งผู้ที่เหมาะกับการทำกายภาพบำบัดระบบกล้ามเนื้อ อาจมีดังต่อไปนี้
- ผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายได้จำกัด
- ผู้ที่มีอาการปวดหลัง
- ผู้ที่มีภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema)
- ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อลีบ (Muscular dystrophy)
- ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- ผู้ที่เป็นโรครองช้ำ (Plantar fasciitis) หรือเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้า
- นักกีฬาที่ต้องการคำแนะนำการ และบริหารกล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง
โดยนักกายภาพบำบัดที่ทำการรักษาตามจุดประสงค์ดังกล่าว ก็อาจมีความเชี่ยวชาญต่างกันออกไป เช่น นักกายภาพบำบัดที่ให้บริการผู้สูงอายุ นักกีฬา หรือผู้ป่วยโดยเฉพาะ
6 เทคนิคการทำกายภาพเพื่อรักษาภาวะผิดปกติทาง “กล้ามเนื้อ”
กายภาพบําบัดระบบกล้ามเนื้ออักเสบ สามารถรักษาด้วยเครื่องมือ กายภาพบำบัด ดังนี้…
1.การประคบร้อน และเย็น (Hot and cold therapy)
นักกายภาพบำบัดอาจใช้ทั้งการบำบัดด้วยความร้อน และความเย็นร่วมกันเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม นอกจากนี้ความร้อนและความเย็น สามารถช่วยป้องกันความเสียหายของกล้ามเนื้อ แต่ความเย็นสามารถใช้กับกล้ามเนื้อหลังจากออกกำลังกายทันทีเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ด้วย
2.การบำบัดด้วยการออกกำลังกาย (Exercise therapy)
นักกายภาพบำบัดอาจออกแบบแผนการออกกำลังกายให้เฉพาะบุคคล ซึ่งมักเน้นเรื่องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว และสร้างสมดุล
3.การบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical stimulation)
สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นประสาทผ่านผิวหนัง (TENS) ช่วยบรรเทาอาการปวดเฉียบพลัน และการกระตุ้นกล้ามเนื้อที่มีเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (NMES) เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และฟื้นฟูอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
4.การใช้เครื่องดึงคอ (Traction)
เป็นการใช้เครื่องมือสร้างแรงดึงแยกผิวข้อต่อกระดูก เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว มักใช้กับผู้ที่มีอาการปวดคอ ปวดหลังส่วนล่าง นักกายภาพบำบัดอาจใช้เครื่องมือ หรือใช้มือก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
5.การใช้วารีบำบัด (Hydrotherapy)
หรือธาราบำบัด ซึ่งเป็นการออกกำลังกายในสระน้ำ หรืออ่างน้ำวน เพราะในสระน้ำมีแรงต้านที่อ่อนโยน อาจช่วยให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6.กายภาพบำบัดด้วยการขยับข้อ (Joint mobilization)
เป็นเทคนิคการขยับข้อต่อไปในทิศทางต่างๆ ที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กล้ามเนื้อคลาย ลดอาการเกร็ง และลดอาการปวด
อย่างไรก็ดี การปวดกล้ามเนื้อเช่นนี้แม้จะดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่แท้จริงแล้วสามารถทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอันตรายอื่น ๆ ได้มากมาย ดังนั้น หากใครที่กำลังพบกับปัญหานี้อยู่ ก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย ควรรีบเข้าพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อทำการรักษาโดยเร็ว เพราะนอกจากจะรักษาการเจ็บปวดแบบเฉียบพลันแล้วก็ยังส่งผลดีต่อกล้ามเนื้อในระยะยาวอีกด้วย
สรุป ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “กายภาพบำบัดระบบกล้ามเนื้อ”
ท้ายที่สุด การทำกายภาพบำบัดมีด้วยกันหลากหลายเทคนิคที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับอาการของแต่ละคน ทั้งนี้ บทบาทของกายภาพบำบัดไม่ได้จำกัดแค่การรักษาและฟื้นฟูร่างกายจากการเจ็บป่วยหรือ อุบัติเหตุอย่างที่หลายคนคุ้นเคย แต่ยังรวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การบริหารร่างกายเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ การแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง เป็นต้น
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- กายภาพบําบัด กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาได้ผลไหม ต้องทำต่อเนื่องหรือเปล่า?
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- กล้ามเนื้ออักเสบ กินอะไรดี ให้ฟื้นฟูไว กลับมาใช้งานได้ปกติ