วิ่งอย่างไรไม่ให้ปวดเข่า หากรู้สึกปวดระหว่างวิ่งควรทำยังไง?
วิ่งอย่างไรไม่ให้ปวดเข่า เรียกได้ว่าเป็นคำถามที่เหล่าบรรดานักวิ่งหรือผู้ที่ชื่นชอบออกกำลังกายต้องการทราบเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลาย ๆ คนต้องพบกับปัญหาบาดเจ็บต่าง ๆ จากการออกกำลังกายชนิดนี้ โดยเฉพาะ “หัวเข่า” อวัยวะที่เหมือนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งแน่นอนว่าหากมีภาวะอาการเจ็บที่เข่า ก็ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการวิ่งจนทำให้เรารู้สึกเจ็บเข่า “การเลิกวิ่ง” คงไม่ใช่คำตอบของใครหลาย ๆ คน ดังนั้น จะทำอย่างไรให้เราสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ Newton Em Clinic มีคำตอบ
วิ่งอย่างไรไม่ให้ปวดเข่า หากรู้สึกเจ็บขณะวิ่ง ควรทำอย่างไร?
ปัจจุบันคนหันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่ง “การวิ่ง” คือกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ง่ายและลงทุนน้อย แค่มีรองเท้าวิ่งหนึ่งคู่ก็สามารถเริ่มวิ่งได้แล้ว แต่ก็เพราะความคิดที่ว่าการวิ่งนั้น ‘ง่าย’ นี่แหละ ทำให้นักวิ่งหน้าใหม่หลายคนละเลยที่จะเรียนรู้ถึงวิธีการวิ่งที่ถูกต้อง พอเกิดอาการบาดเจ็บก็มักสรุปเอาเองว่ารองเท้าไม่ดี…ทั้งที่จริงแล้วเราอาจ “วิ่งไม่ถูกวิธี” ต่างหาก
อาการบาดเจ็บจากการวิ่งที่พบได้บ่อย เกิดจากสาเหตุอะไร?
สำหรับ “การวิ่ง” นั้น แม้จะเป็นการออกกำลังกายที่ดูง่าย และไม่อันตราย แต่ก็มักพบนักวิ่งทั้งมือเก่ามือใหม่ได้รับบาดเจ็บกันอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็เพราะในการวิ่งจะมีช่วงที่ร่างกายลอยอยู่ในอากาศ เมื่อกลับลงสู่พื้นจะต้องใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการรับน้ำหนัก หรือแรงกระแทกที่มากกว่าภาวะปกติราว 3 เท่าของน้ำหนักตัว นักวิ่งจึงอาจได้รับบาดเจ็บสะสมจากการกระแทกซ้ำ ๆ และแม้ว่ารองเท้าสำหรับวิ่งสามารถช่วยลดแรงกระแทกขณะวิ่งได้ส่วนหนึ่ง แต่หากนักวิ่งมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม เช่น กล้ามเนื้อไม่แข็งแรงพอ ไม่มีความยืดหยุ่นที่ดี วิ่งในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง วิ่งในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม หรือการวิ่งมากเกินไป ก็จะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการบาดเจ็บได้มากขึ้นนั่นเอง
“ปวดเข่า-ปวดหลัง” อาการบาดเจ็บที่เหล่านักวิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
อาการบาดเจ็บจากการวิ่งนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายอาการ เช่น
ปวดเข่าด้านหน้า
เป็นการบาดเจ็บที่ผิวกระดูกอ่อนของกระดูกสะบ้า จากการเสียดสีของลูกสะบ้ากับกระดูกต้นขา เป็นอาการบาดเจ็บที่นักวิ่งเป็นกันมากจนได้รับชื่ออาการว่า Runner’s knee โดยคนไข้จะมีอาการปวดรอบ ๆ กระดูกสะบ้าเวลางอเข่า โดยเฉพาะเวลาขึ้นลงเนินเขาหรือบันได เกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบบ่อยคือการก้าวยาวเกินไปเวลาวิ่ง วิ่งลงส้นเท้าในขณะที่เข่าตึง การไม่บริหารให้เกิดความยืดหยุ่นของข้อและกล้ามเนื้อก่อนการวิ่ง รวมไปถึงการเพิ่มระยะทางวิ่งในขณะที่กล้ามเนื้อแกนกลางร่างกาย กล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อสะโพกด้านข้างยังไม่แข็งแรงพอ เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการล้า จะส่งผลให้เข่าทั้งสองข้างต้องรับแรงกระแทกมากขึ้น จึงเสี่ยงต่อการปวดเข่า
ปวดเข่าด้านนอก หรือ ITBS (iliotibial band syndrome)
เป็นอาการอักเสบที่เกิดจาก IT Band ซึ่งเป็นเอ็นที่อยู่ด้านข้างต้นขาเสียดสีกับกระดูกเข่าด้านนอก ส่งผลให้คนไข้มีอาการเจ็บเข่าด้านนอกร้าวขึ้นไปต้นขา สาเหตุมักจะเกิดจากการวิ่งระยะไกล โดยสภาพกล้ามเนื้อเกิดความล้า วิ่งขึ้นลงทางชัน วิ่งในพื้นแข็ง ๆ เป็นเวลานาน รวมไปถึงการวิ่งโดยลงเท้าในลักษณะเปิดเข้าด้านใน
ปวดหลัง
เป็นอีกหนึ่งอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในนักวิ่งมือใหม่ จะมีอาการปวดไปทั้งแผ่นหลัง หรือปวดเฉพาะบริเวณเอว โดยสาเหตุอาจเกิดจากการวิ่งโน้มตัวไปข้างหน้ามากเกินไป การไม่แกว่งมือตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ร่างกายขาดสมดุล จึงเกิดการเกร็งตัวอัตโนมัติเพื่อรักษาสมดุล กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่เกิดการเกร็งตัวเป็นเวลานานจึงล้าและมีอาการปวด รวมไปถึงการที่ไม่ได้ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบลำตัวให้แข็งแรงพอ
6 วิธีลดปัญหาปวดเข่าขณะวิ่ง ที่นักวิ่งควรรู้
โดยทั่วไปแล้วการลดปัญหาการเจ็บเข่าที่ได้ผลมากที่สุดคือการปรับพฤติกรรมการวิ่ง สามารถทำได้โดย…
1. ยืดกล้ามเนื้อรอบเข่าและข้อเท้าให้เพียงพอ
ควรยืดช้า ๆ ค้างไว้ 10 – 15 วินาทีต่อครั้ง และหมั่นออกกำลัง กล้ามเนื้อต้นขาโดยการเหยียดเข่าตรงและเกร็งค้างไว้ 5 วินาทีต่อครั้ง ทำประมาณ 10 – 20 ครั้งต่อวัน
2. วอร์มอัพให้เพียงพอ
โดยเริ่มจากการเดินเร็วหรือ วิ่งเหยาะ ๆ ก่อนที่จะวิ่งเต็มที่ เพื่อการปรับตัวของกล้ามเนื้อระบบไหลเวียนโลหิต และระบบการหายใจ
3. เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการวิ่ง
ควรมีพื้นกันแรงกระแทกที่เพียงพอและมีความกระชับพอดีกับเท้า โดยทั่วไปถ้าต้อง การวิ่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ให้เลือกรองเท้าแบบ Cross Training
4. เลือกบริเวณวิ่งให้เหมาะสม
ควรเป็นพื้นที่เสมอกันไม่ควรวิ่งบริเวณที่เป็นพื้นเอียงหรือบริเวณที่มีการหักเลี้ยวอย่างเฉียบพลัน พื้นวิ่งที่ดีที่สุดคือพื้นยางสังเคราะห์หรือพื้นดิน เพราะมีความนุ่มและเก็บพลังงานเพื่อเปลี่ยนเป็นแรงส่งตัวได้ดี ถ้าจะวิ่งบนพื้นคอนกรีต ควรเลือกรองเท้าที่รับแรงกระแทกอย่างเพียงพอ
5. ไม่ควรวิ่งก้าวเท้ายาวเกินไป
หรือยกเข่าสูงเกินไป เพราะทำให้ข้อเข่าต้องงอมากเกินความจำเป็นทำให้เกิดปัญหา ปวดเข่าได้ง่ายขึ้น ส่วนแขนก็ควรงอเพียงเล็กน้อยและแกว่งข้างลำตัว ในกรณีที่คุณมีปัญหาปวดหลังหรือน้ำหนักตัวมาก ควรแกว่งแขน ให้ค่อนมาทางด้านหลังเพื่อไม่ให้ลำตัวก้มไปข้างหน้ามากเกินไปด้วย
6.ค่อย ๆ ลดความเร็วลง เมื่อใกล้จะหยุดวิ่ง
ควรเดินต่ออีกสักพักเพื่อให้ร่างกายได้ชะเอากรดแล็กติกออกไปจากกล้ามเนื้อบ้าง ช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อหลังวิ่งในวันรุ่งขึ้น
ท้ายที่สุด นอกจากการปรับท่าวิ่งแล้ว สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้คือการวอร์มอัพและยืดกล้ามเนื้อก่อนการวิ่ง เพื่อให้กล้ามเนื้อและข้อต่อมีความยืดหยุ่น จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้ และจะต้องไม่หักโหมจนเกินไป ค่อย ๆ เพิ่มความเร็วและระยะทาง โดยเฉลี่ยไม่เกิน 10% ต่อสัปดาห์ รวมไปถึงการบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อลำตัว สะโพก และต้นขาอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญคือหากเกิดอาการบาดเจ็บไม่ควรฝืนวิ่งต่อ อย่าคิดว่าวิ่งไปเรื่อย ๆ แล้วอาการจะดีขึ้น เปลี่ยนไปออกกำลังกายที่ได้รับแรงกระแทกน้อยกว่า เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และอาจรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วย เมื่อหายจากอาการบาดเจ็บค่อยกลับมาวิ่งใหม่ แต่หากมีอาการกล้ามเนื้อขาอักเสบ หรือบวม ปวดเกินกว่าที่จะทนได้ ควรรีบพบแพทย์
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- กายภาพบําบัด กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาได้ผลไหม ต้องทำต่อเนื่องหรือเปล่า?
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- กล้ามเนื้ออักเสบ กินอะไรดี ให้ฟื้นฟูไว กลับมาใช้งานได้ปกติ