ปวดข้อศอก จี๊ดๆ เพราะเล่นกีฬา อาจเป็นสัญญาณเอ็นข้อศอกอักเสบ
ปวดข้อศอก จี๊ดๆ อีกหนึ่งอาการที่นักกีฬาหลาย ๆ คนอาจกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังแขนเป็นหลักในการแข่งขัน ซึ่งต้องบอกก่อนว่าแม้จะดูเป็นอาการธรรมดาที่ไม่รุนแรง แต่ความเป็นจริงแล้วมันอาจเป็นสัญญาณของภาวะบาดเจ็บที่รุนแรงกว่า นั่นก็คือ “เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ” ที่อาจส่งผลเสียต่อบริเวณข้อศอกและกล้ามเนื้อแขนได้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้เกิดอาการเรื้อรังจนอาจจะต้องเลิอกเล่นกีฬาไปเลยก็เป็นได้ ดังนั้น การรีบรักษาให้หายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดก่อนจะสายเกินไป
ปวดข้อศอก จี๊ดๆ แปล๊บ ๆ ในนักกีฬาที่อาจเป็นสัญญาณของเส้นเอ็นอักเสบ
เชื่อได้ว่านักกีฬาหลาย ๆ ท่านอาจกำลังเผชิญปัญหาปวดข้อศอกจากการเล่นกีฬาซึ่งจะมีอาการปวด เจ็บจี๊ด ๆ และกดเจ็บบริเวณตุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า Tennis elbow หรือ เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ ซึ่งสำหรับในนักกีฬา มักพบในนักกอล์ฟ นักเทนนิส ซึ่งอาจเคยมีอาการ เช่น ซ้อมกอล์ฟมาก ๆ แล้วค่อย ๆ เจ็บบริเวณข้อศอก ใกล้ ๆ ปุ่มกระดูกนูน ๆ ด้านนอกหรือด้านในข้อศอก และบางครั้งตีแรงเกินไปแล้วเจ็บขึ้นมาทันทีที่บริเวณข้อศอก
ปวดข้อศอก มีอาการจี๊ด ๆ ตึง ๆ จากการเล่นกีฬา มักมาจากสาเหตุไหนกันแน่?
สำหรับอาการปวดข้อศอกจากการเล่นกีฬานั้น อาจเกิดจากการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือข้อต่อจากการเคลื่อนไหวในท่าเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น การเล่นกีฬาอย่างกอล์ฟหรือเทนนิส การประกอบอาชีพที่ต้องเคลื่อนไหวแขนในท่าเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งการรักษาให้อาการนี้หายไปสำหรับนักกีฬาถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะต้องฟื้นตัวให้ไวเพื่อการแข่งขันในครั้งต่อไป
“ปวดข้อศอก” อาการบาดเจ็บที่นักกีฬาควรรู้จัก
โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอกที่รู้จักกันดี มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ได้แก่ โรคข้อศอกเทนนิส หรือ Tennis Elbow เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้ข้อมือและข้อศอกมาก หรือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา แต่มีการใช้มือเกร็งในท่าซ้ำ ๆ และมีการกระดกข้อมือและเหยียดศอกอยู่เสมอ เช่น การปัดกวาด เช็ดถู การทาสี การตีกลอง การทำผม การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตลอดจนการเล่นกีฬาต่าง ๆ โดยเฉพาะกอล์ฟและเทนนิส นั่นเอง
อาการของ Tennis Elbow แบ่งออกเป็นกี่แบบ?
อาการของโรค Tennis elbow นี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- กลุ่มนักกีฬา เกิดจากการเล่นกีฬาจริง ๆ ส่วนมากในกลุ่มนี้จะมีอายุน้อย
- กลุ่มคนทำงาน เกิดจากการทำงานที่เป็นลักษณะใช้งานซ้ำ ๆ หรือใช้งานหนัก ๆ เช่น คนทำงานบ้าน ช่างไม้ เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนมากมีอายุมากกว่ากลุ่มแรก
ปัจจุบันนี้พบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนมากเป็นคนทำงานมากกว่านักกีฬา ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดในปัจจุบัน แต่จากการคาดเดาทางการแพทย์ เชื่อกันว่าอาจมีสาเหตุมาจากการฉีกขาดของจุดเกาะกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือ หรือ เกิดจากความเสื่อมที่บริเวณจุดเกาะของกล้ามเนื้อดังกล่าวข้างต้นนั่นเอง ซึ่งใน 2 กลุ่มอาการนี้จะได้รับการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการที่พบเจอ
แนวทางการรักษา
สำหรับการรักษาเบื้องต้นโดยยังไม่ต้องเข้าทำการผ่าตัด แบ่งได้ 2 แนวทางหลัก ๆ ดังนี้…
การรักษาโดยแพทย์
การรักษาโดยแพทย์มักใช้รักษาอาการปวดข้อศอกที่มีความรุนแรง หรือเป็นผลมาจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งจะมีวิธีในการรักษาที่แตกต่างกันออกไปตามสาเหตุของการเกิดอาการและเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน
การทำกายภาพบำบัด
ในช่วงต้น นักกายภาพบำบัดอาจทำการ การประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดในช่วงแรก ๆ จากนั้นจะเริ่มนำอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดมาใช้ เช่น การทำอัลตราซาวด์ช่วยลดอาการปวดและอักเสบ และหลังอาการปวดดีขึ้น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง จะช่วยป้องกันการอักเสบซ้ำในอนาคตได้นั่นเอง
ทั้งนี้ ในบางกรณีที่อาจมีภาวะอาการที่เรื้อรังหรือรุนแรงมาก ๆ อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีการผ่าตัดผ่านกล้อง (arthroscopic surgery) ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดที่มีความปลอดภัย แผลผ่าตัดเล็ก และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
แนวทางการป้องกัน
สำหรับแนวทางการป้องการนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้…
สำหรับนักกีฬา
สิ่งที่ต้องทำคือ การจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การใช้อุปกรณ์ในบ้าน เช่น ด้ามไม้กวาด ท่าหยิบจับหนังสือ เอกสาร ไม้เทนนิสต้องขนาดพอเหมาะไม่ใหญ่เกินควร เพราะจะช่วยลดแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่า ทั้งนี้ควรมีด้ามจับที่เหมาะมือเพื่อลดการเกิดอาการบาดเจ็บด้วย
สำหรับบุคคลทั่วไป
ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้อศอกหรือกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวแบบซ้ำ ๆ หรือการใช้งานที่หนักเกินไป ทั้งนี้ อาจทำท่ากายบริหารแบบเบา ๆ เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จะช่วยลดการบาดเจ็บของข้อศอกบริเวณด้านนอกได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการรักษาและการป้องกันที่กล่าวมา นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจด้วยการเอกซเรย์ (X-Ray), การอัลตราซาวด์ (Ultrasound), การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), หรือซีทีสแกน (CT scan) เพิ่มเติม เพื่อแยกแยะว่าอาการปวดข้อศอกที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากกระดูกหักหรือโรคข้ออักเสบอื่น ๆ รวมถึงตรวจดูความเสียหายของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ตอบโจทย์และถูกต้องมากยิ่งขึ้น
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- กายภาพบําบัด กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาได้ผลไหม ต้องทำต่อเนื่องหรือเปล่า?
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- กล้ามเนื้ออักเสบ กินอะไรดี ให้ฟื้นฟูไว กลับมาใช้งานได้ปกติ