ปวดข้อนิ้วมือ อาการเล็ก ๆ ที่อาจส่งผลอันตรายกว่าที่คิด
ปวดข้อนิ้วมือ แม้จะเป็นอาการที่ดูไม่อันตราย และมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยในช่วงแรกเริ่ม แต่ต้องบอกก่อนว่าหากปล่อยไว้จนเกิดอาการเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อมืออักเสบได้ ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงผลกระทบเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะสิ่งที่ร้ายแรงกว่าคืออาการปวดข้อดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายบางอย่างก็เป็นได้ ซึ่งในบทความนี้เราจะมาดูกันว่ามีโรคอะไรบ้าง
ปวดข้อนิ้วมือ เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณของโรคอะไรหรือเปล่า?
มือเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานแทบจะตลอดเวลาเพราะเกือบทุกกิจกรรมจำเป็นจะต้องใช้มือไม่ว่าจะหยิบอาหารเข้าปาก ใช้มือเขียนหนังสือ ใช้มือหยิบสิ่งของ ยิ่งในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ทำให้มือถูกใช้งานหนักขึ้นอย่างมาก
เมื่อมือถูกใช้งานหนักเกินไปอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่มือ ปวดข้อนิ้วมือ ปวดฝ่ามือ อาจเป็นเฉพาะจุดหรือเป็นทั้งมือก็ได้ โดยสาเหตุและโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อนิ้วมือมีหลายโรค และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลงจากการใช้งานมือได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นจากอะไรได้บ้าง และอันตรายแค่ไหน
สาเหตุของการปวดข้อ ปวดนิ้วมือ
สาเหตุของอาการปวดข้อที่นิ้วมืออาจเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก ดังนี้
โรค
อาการปวดบริเวณข้อนิ้วมืออาจมีสาเหตุมาจากโรคข้ออักเสบ อย่างโรครูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกอักเสบ หรือโรคอื่น ๆ เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ กลุ่มอาการประสาทมือชา ภาวะเอ็นฝ่ามือหดรั้ง โรคเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ การติดเชื้อและเนื้องอกบริเวณนิ้วมือ หรือโรคผิวหนังอักเสบก็อาจทำให้เกิดอาการปวดได้เช่นกัน
การบาดเจ็บ
นิ้วมือประกอบไปด้วยหลายส่วน ทั้งกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ กระดูก เส้นเอ็น เส้นประสาท และหลอดเลือด ถ้าหากส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดการบาดเจ็บ อย่างนิ้วเคล็ด นิ้วซ้น หรือกระดูกหัก ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดนิ้วมือตามมา ซึ่งการบาดเจ็บที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดข้อนิ้วมือได้บ่อย เช่น การเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรงปะทะ อุบัติเหตุ หรือการเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ อย่างการพิมพ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
อาการปวดข้อนิ้วมืออักเสบ
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อนิ้วมือมักจะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อนิ้วมือ โดยอาการปวดที่เกิดจากการใช้งานหนัก การอักเสบ หรือจากโรคอื่น ๆ มีดังนี้
- อาการปวดข้อนิ้วมือ เป็นได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยจนถึงปวดรุนแรง
- ข้อนิ้วมืออาจมีอาการบวม ร้อนแดง
- เคลื่อนไหวข้อนิ้วมือได้ไม่เต็มที่ เช่น ยืดข้อนิ้วมือไม่ได้ หรืองอข้อนิ้วมือไม่ได้
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดข้อที่นิ้วหากไม่รักษา
แม้ว่าอาการปวดข้อนิ้วแบบชั่วคราวอาจหายได้เอง แต่ในรายที่มีการบาดเจ็บรุนแรงหรือมีโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวด ไม่ควรปล่อยอาการเหล่านี้ทิ้งไว้โดยไม่รักษาให้หายขาด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
การรักษาอาการปวดข้อนิ้วมือ
การรักษาอาการปวดข้อนิ้วมือมุ่งเน้นไปที่การรักษาสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือการบาดเจ็บ โดยอาการปวดแบบไม่รุนแรงหรือชั่วคราวอาจบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่หากมีอาการปวดรุนแรง ต่อเนื่อง หรือมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม ควรไปพบแพทย์ โดยวิธีรักษาอาจทำได้ ดังนี้
การรักษาด้วยตนเอง
อาการปวดนิ้วมือแบบชั่วคราวอาจบรรเทาได้ด้วยการดูแลหรือรักษาด้วยตนเอง เบื้องต้นควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด อย่างการเล่นกีฬาหรือยกของหนัก สำหรับผู้ที่สวมแหวนควรถอดแหวนออก หากมีอาการปวดบวมร่วมด้วยอาจใช้การประคบนิ้วมือหรือแปะแผ่นบรรเทาปวด
การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวด สำหรับกรณีที่ทราบสาเหตุแน่ชัด แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น อาการปวดที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่างนิ้วซ้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยสวมอุปกรณ์ดามนิ้ว สำหรับผู้ที่มีโรคที่เกี่ยวกับข้อโดยตรงอย่างโรคข้ออักเสบ แพทย์อาจรักษาด้วยยาแก้อักเสบ กายภาพบำบัด หรือทำการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงและชนิดของโรค นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดข้อนิ้วมือจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์และรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุควบคู่ไปกับการบรรเทาอาการปวดด้วยวิธีต่าง ๆ
ท่ากายบริหาร บรรเทาอาการปวดข้อที่นิ้ว
ผู้ที่มีปัญหาปวดข้อ ปวดนิ้ว สามารถทำตามท่ากายบริหารตามได้ง่าย ๆ ดังนี้
ท่าบิดข้อมือ
- กำมือในท่ากดไลค์และวางมือบนโต๊ะ
- บิดข้อมือให้นิ้วเอนเข้าหาตัว ทำค้างไว้ 2-3 วินาที แล้วค่อยๆ คลายออก
- ทำซ้ำ 10 ครั้งกับมือทั้ง 2 ข้าง
ท่าเอนข้อมือไปด้านข้าง
- คว่ำมือลงบนโต๊ะ ข้อมือเหยียดตรง
- พยายามออกแรงที่ข้อมือให้บิดไปทางขวาให้ได้มากที่สุด ค้างไว้ 2-3 วินาที แล้วกลับมาตรงกลางตามเดิม
- จากนั้นออกแรงบิดไปทางซ้าย และกลับมาตรงกลาง
- ทำซ้ำ 10 ครั้งกับมือทั้ง 2 ข้าง
ท่ายืดนิ้ว
- วางมือคว่ำราบกับโต๊ะ
- ใช้มืออีกข้างค่อย ๆ ยกนิ้วที่มีอาการขึ้นมาให้สูงที่สุด โดยที่นิ้วอื่น ๆ ยังคงวางแนบโต๊ะ และนิ้วที่ถูกยกไม่รู้สึกตึงหรือเจ็บเกินไป
- ดึงค้างไว้ 2-3 วินาทีแล้วปล่อย
- ทำซ้ำ 5 ครั้งกับมือทั้ง 2 ข้าง วันละ 3 เซ็ต
- สามารถทำกับทุกนิ้วที่เหลือได้เช่นกัน แม้จะไม่มีอาการนิ้วล็อค
ท่างอนิ้ว
- แบมือ งอนิ้วโป้งเข้าหาฝ่ามือและพยายามเอื้อมไปแตะปลายนิ้วชี้ให้ได้มากที่สุด
- ทำค้างไว้ 10 วินาที และทำซ้ำกับนิ้วอื่นๆ ตลอดวัน วันละ 3-4 ครั้ง
ท่าบีบมือ
- วางลูกบอลเล็กๆ หรือสิ่งของที่กำได้กลางฝ่ามือ
- ออกแรงบีบให้แน่น แล้วค่อย ๆ คลายมือออก
- ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง วันละ 2-3 เซ็ต โดยอาจเปลี่ยนวัตถุที่ใช้กำไปเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม นอกจากวิธีบรรเทาอาการด้วยท่ายืดนิ้วมือที่ควรทำเป็นประจำ การหยุดให้มือและนิ้วมือได้พักเมื่อเริ่มรู้สึกตึงหรือปวดก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรละเลย ไม่เช่นนั้นอาจตามมาด้วยอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น นิ้วติด นิ้วฝืด งอหรือเหยียดนิ้วไม่ได้ ชาหรือปวดในข้อนิ้ว เป็นต้น
หากสังเกตอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที โดยการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง และอาจมีการรักษาและบำบัดหลายวิธีร่วมกันไป เช่น การพักการใช้งาน การใส่เฝือกนิ้ว การทำท่ายืดนิ้วมือ รวมถึงการให้ยาแก้อักเสบเพื่อช่วยบรรเทาอาการ
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “ปวดหลังเรื้อรัง” พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “โรคกระดูกสันหลัง” 4 โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
- กระดูกสันหลังคด กายภาพ บำบัดหายไหม มีขั้นตอนยังไง?