ปวดเส้นเอ็นแขน แก้ยังไง หากไม่อยากผ่าตัด ควรรักษายังไงดี?
“ปวดเส้นเอ็นแขน” อาการบาดเจ็บที่หลาย ๆ คนกำลังเผชิญและอาจมีภาวะรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องบอกก่อนว่าอาการปวดแขนเช่นนี้อาจเกิดขึ้นจากภาวะ “เอ็นอักเสบ” หรือ Tendinitis ซึ่งเป็นการบวมเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นแถบเนื้อเยื่อพังผืดที่ยืดหยุ่นได้ตามแนวกระดูก คอยเชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูกไว้ด้วยกัน ช่วยในการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อต่อ สาเหตุที่เอ็นอักเสบมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งซ้ำ ๆ เช่น แขนหรือบริเวณข้อต่าง ๆ ตามร่างกาย จนทำให้มีอาการปวดหรือเจ็บรอบ ๆ ซึ่งจากที่บอกไปว่าเมื่อเกิดอาการนี้ขึ้นก็ทำให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมากเพราะไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ทำได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น การรักษาอาการเอ็นแขนอักเสบก่อนที่จะเกิดอาการเรื้อรังจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย
ปวดเส้นเอ็นแขน จนใช้งานต่อไม่ไหว รักษายังไงให้หายขาด?
สำหรับภาวะการอักเสบของเส้นเอ็นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายโดยที่เราอาจไม่ทันระวังตัว ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทุกกิจกรรมที่ทำ ไม่เพียงแต่เกิดกับนักกีฬาเท่านั้น สาเหตุมักเกิดจากการที่เส้นเอ็นถูกใช้งานหนักเกินไป หรือได้รับบาดเจ็บที่ซ้ำ ๆ จนเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด กดเจ็บ บริเวณเส้นเอ็น โดยปกติอาการของเส้นเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรงควรเข้าพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดโดยเร็วที่สุดเพื่อทำการรักษา
ปวดเส้นเอ็นแขนเกิดจาก…
ส่วนใหญ่แล้ว เอ็นอักเสบอาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับบาดเจ็บอย่างฉับพลัน หรือเกิดจากการเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณหนึ่ง ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยมากมักเกิดจากสาเหตุข้อหลัง โดยเฉพาะการทำอาชีพหรืองานอดิเรกที่ต้องมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเอ็นซ้ำ ๆ ซึ่งทำให้เอ็นบริเวณที่ถูกใช้งานตึงขึ้นเรื่อย ๆ หรือกิจกรรมกีฬาที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวบริเวณเดิมบ่อย ๆ เช่น เทนนิส กอล์ฟ ว่ายน้ำ จึงควรมีเทคนิคที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการใช้งานกล้ามเนื้อเอ็นมากจนเกินไป ทั้งนี้ยังอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น…
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น จะมีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้เกิดเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย หรือเส้นเอ็นอักเสบได้ง่ายขึ้น
- อุบัติเหตุ ส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บอย่างฉับพลันจากการออกกำลังกาย เล่นกีฬา และอาจเสี่ยงต่อการเกิดเอ็นฉีกขาดได้
- การอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม หรือผิดท่า ทำให้เอ็นต้องเกร็งตัวตลอดเวลา ก็ทำให้เส้นเอ็นอักเสบได้ เช่น นั่งทำงานผิดท่า นอนผิดท่า
- จากการเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณหนึ่ง ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ภาวะนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น เพื่อให้ละเอียดมากที่สุดควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์จะดีที่สุด
เส้นเอ็นอักเสบ อาการ เป็นยังไง?
เอ็นกล้ามเนื้อในบริเวณใด ๆ ของร่างกายล้วนแต่เกิดการอักเสบขึ้นได้ทั้งนั้น แต่บริเวณที่เป็นบ่อยคือ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเข่า และข้อเท้า ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีอาการ ดังนี้
- รู้สึกปวดตื้อ ๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวที่ใช้แขนขาหรือข้อต่อนั้น ๆ
- ใช้การเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อได้ลำบาก
- มีอาการฟกช้ำ
- มีอาการบวม บางครั้งอาจรู้สึกอุ่น ๆ หรือมีอาการแดงร่วมด้วย
- มีก้อนบวมนูนตามเอ็นกล้ามเนื้อนั้น ๆ
อาการของเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรง ต่อเนื่อง กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่า 2-3 วัน หรือคิดว่าเอ็นกล้ามเนื้ออาจฉีกขาด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
กายภาพบำบัด เส้นเอ็นอักเสบ มีวิธีไหนบ้าง?
กายภาพบำบัด (Physical therapy: PT) รักษาอาการเอ็นแขนอักเสบ ถือเป็นการรักษาเบื้องต้นโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาการใช้งานกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณเล็ก ๆ ที่มักถูกละเลย ดังนั้น การเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กเหล่านี้มีส่วนพัฒนาการทำงานของหัวไหล่ โดยนักกายภาพบำบัดจะประเมินอาการ และเป็นผู้วางแผนการบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ ให้นั่นเอง
เมื่อสามารถควบคุมอาการปวดได้ นักกายภาพบำบัดจะให้คำแนะนำในการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่แขนและหัวไหล่ อย่างไรก็ตาม การกายภาพบำบัดไม่ได้ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บโดยตรง แต่เป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อเท่านั้น หากอาการเป็นมากขึ้น หรือปล่อยไว้เป็นระยะเวลานาน อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
วิธีทางกายภาพบำบัดสำหรับ “เอ็นและกล้ามเนื้ออักเสบ” มีวิธีใดบ้าง
วิธีการกายภาพบำบัดเอ็นข้อไหล่อักเสบอาจมีความแแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้วางแผนการรักษาให้เหมาะกับผู้รับบริการ ยกตัวอย่างเช่น…
ประคบร้อน (Heat therapy)
ช่วยบรรเทาอาการปวด และช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย มักใช้หลังจากอาการบาดเจ็บนั้นผ่านมาเกิน 72 ชั่วโมงแล้ว
กายภาพบำบัดด้วยมือ (Hands-on therapy)
นักกายภาพบำบัดจะใช้มือดัด หรือนวดคลึงผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บของหัวไหล่
อัลตราซาวด์ (Ultrasound)
การอัลตราซาวด์เพื่อบำบัดรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็นข้อไหล่ และเนื้อเยื่ออื่น ๆ เป็นการใช้ความร้อนเข้าไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไหล่ติดร่วมด้วย ช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นได้มากขึ้น และเพิ่มขอบเขตการเคลื่อนไหว
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า (Electrical stimulation)
เป็นการใช้ไฟฟ้าเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่กล้ามเนื้อหัวไหล่ เพื่อกระตุ้นประสาท บางกรณีอาจใช้เพื่อลดการอักเสบ และลดอาการปวด
เทปคิเนซิโอ (Kinesiology taping)
หรือที่หลายคนเรียกว่าเทปพยุงกล้ามเนื้อ เมื่อติดเข้ากับกล้ามเนื้อจะกระชับผิว ทำให้เกิดพื้นที่ระหว่างใต้กล้ามเนื้อและผิวหนัง ช่วยลดการระคายเคืองของหัวไหล่ได้ นอกจากนี้ยังอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และน้ำเหลืองอีกด้วย
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Activity modification)
นอกจากนักกายภาพบำบัดจะช่วยบรรเทาอาการให้คุณแล้ว ยังช่วยคุณวางแผนป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วย โดยแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้หัวไหล่ไม่ทำงานหนักเกินไป
การทำกายภาพสำหรับรักษา “เอ็นอักเสบเรื้อรัง” ช่วยอะไร?
การไปทำกายภาพบำบัดเอ็นอักเสบ ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวดเพียงอย่างเดียว แต่นักกายภาพบำบัดจะวางแผนร่วมกับคุณเพื่อป้องกันการกลับมาบาดเจ็บซ้ำจากสาเหตุเดิมด้วย เช่น…
- นักกายภาพบำบัดอาจอธิบายพื้นฐานเรื่องกายวิภาคเกี่ยวกับหัวไหล่ เพื่อให้คำแนะนำในการเคลื่อนไหวอย่างถูกวิธี
- นักกายภาพบำบัดจะใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยให้คุณสามารถกลับมาเคลื่อนไหวแขน และหัวไหล่ได้ดีขึ้น
- นักกายภาพบำบัดจะแนะนำการออกกำลังกายเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหัวไหล่ขณะอยู่ที่บ้าน หรือสถานที่ทำงาน
- นักกายภาพบำบัดจะแนะนำการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การนั่งที่เหมาะสม ลักษณะการยืนที่ถูกวิธี เพื่อลดและป้องกันอาการปวด
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการบาดเจ็บรุนแรง หรือปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วยังไม่หาย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย แต่หากอาการยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การกายภาพบำบัดเอ็นไหล่อักเสบ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาเบื้องต้นเท่านั้น
เอ็นอักเสบ กินยาอะไรดี
การใช้ยาถือเป็นการรักษาขั้นแรกที่แพทย์มักจะเลือก ซึ่งยาที่ใช้ก็จะมีด้วยกันหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มยาลดอาการปวด กลุ่มยาต้านการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาทาเฉพาะที่ โดยการใช้ยาควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเอง หรือเพิ่ม / ลดขนาดยาเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาโรคตับหรือโรคไตอาจจะต้องใช้ยาอย่างระมัดระวัง อีกทั้งควรคำนึงถึงอาการแพ้ยาร่วมด้วย
เอ็นอักเสบกี่วันหาย ใช่เวลานานแค่ไหนในการฟื้นฟู
อาการของเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรง ต่อเนื่อง กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่า 2-3 วัน หรือคิดว่าเอ็นกล้ามเนื้ออาจฉีกขาด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา สาเหตุของเอ็นอักเสบ
อย่างไรก็ตาม การทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีบำบัดรักษาโดยใช้การออกกำลังกาย เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อที่อักเสบ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ เช่น การเพิ่มความต้านทานของกล้ามเนื้อที่เน้นการเกร็งตัวในขณะที่มีการยืดตัว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาการอักเสบเรื้อรังของเอ็นกล้ามเนื้อก็จริง แต่หากมีอาการเจ็บหนักเกินกว่าวิธีการทำกายภาพบำบัดจะควบคุมได้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเช็กอาการให้ละเอียด จะดีที่สุด
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- กายภาพบําบัด กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาได้ผลไหม ต้องทำต่อเนื่องหรือเปล่า?
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- กล้ามเนื้ออักเสบ กินอะไรดี ให้ฟื้นฟูไว กลับมาใช้งานได้ปกติ