ออกกําลังกาย อุณหภูมิร่างกายสูง ภาวะ Heat Stroke ในนักวิ่ง
ออกกําลังกาย อุณหภูมิร่างกายสูง ภาวะอันตรายสำหรับนักวิ่ง ผู้ที่ชื่อชอบการเล่นกีฬา และออกกำลังกาย โดยปัจจุบัน การวิ่งในลักษณะต่างๆ มีมากขึ้น พร้อมกับข่าวผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน ส่วนใหญ่ประสบปัญหาหัวใจวายเฉียบพลัน หรือหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า อีกปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนตลอดทั้งปี และมีช่วงฤดูร้อนที่อุณภูมิสูงเกือบ 40 องศาเซลเซียส คือ ภาวะฮีทสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจเสี่ยงถึงชีวิตได้อีกด้วย
ออกกําลังกาย อุณหภูมิร่างกายสูง ภาวะอันตรายที่ไม่ควรละเลย
แม้การออกกำลังกายจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การออกกำลังจนทำให้ร่างกายมีภาวะผิดปกติ เช่น การปล่อยให้อุณภูมิร่างกายสูงเกินไป ก็อาจทำให้การออกกำลังกายกลายเป็นกิจกรรมที่มีอันตรายเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องบอกก่อนว่า แม้ฮีทสโตรกนั้นจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นแบบฉับพลัน แต่อันตรายของมันนั้นก็สามารถส่งผลถึงชีวิตเลยก็เป็นได้ และแม้จะเป็นอาการที่มักจะเกิดเพราะอุณหภูมิร้อนหรือความร้อน แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่า ฮีทสโตรก ก็สามารถเกิดขึ้นในสภาพอากาศอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน
Heat Stroke คืออะไร
คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว กับความร้อนที่สูงมากขึ้นได้ ทำให้อุณหภูมิทั่วร่างกายสูง เกิน 40.5 C จนระบบการทำงานต่างๆ เสียไป โดยเฉพาะที่สมอง ทำให้เกิดอาการคล้าย หลอดเลือดสมอง (stroke) คือ ซึม อ่อนแรง ชักเกร็ง แต่ไม่ได้มีความผิดปกติจากหลอดเลือด โดยตรง เป็นผลเกิดจากความร้อนที่มากเกินไป ทำให้สมองทำงานผิดปกติ เลยเรียกว่า Heat Stroke
นอกจากนี้ ความร้อน ยังไปทำลาย ระบบต่างๆ ได้มากมาย อาทิ กล้ามเนื้อ เกิดภาวะกล้ามเนื้อแตกสลาย จนไตวายได้
การออกกำลังกายเกิดฮีทสโตรกได้อย่างไร
การเกิดภาวะฮีทสโตรกเช่นนี้ เป็นการเกิดฮีทสโตรกประเภท Exertional heat stroke ซึ่งหมายถึงการเกิดจากการออกกำลังกายหรือการทำงานจนทำให้อุณหภูมิกายสูง ในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดฮีทตโตรก ส่งผลเซลล์ต่างๆทำงานหนักและทำให้อุณหภูมิกายสูงจนไม่สามารถลดอุณหภูมิลงได้
โดยมีการรายงาน ว่าการเกิดภาวะโรคฮีทสโตรกนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในฤดูร้อนเสมอไป เพราะเป็นผลมาจากความชื้นในอากาศที่สูงและไม่มีแรงลม ทำให้ไม่สามารถขับความร้อนและพัดพาความร้อนจากร่างกายไปได้ การออกกำลังกายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฮีทสโตรก คือการออกกำลังกายแบบ moderate to high intensity นานกว่า 1 ชั่วโมง เช่น การวิ่งมาราธอน การเต้นแอโรบิก เป็นต้น โดยอาการจะเริ่มจากลมแดด คือมีอาการ ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ เวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน รู้สึกหน้ามืด เหงื่อออกลดลงกว่าเดิมหรืออาจไม่มีเหงื่อ จนมีอาการของฮีทสโตรกคือ หมดสติ ชักเกร็ง จนทำให้เสียชีวิตได้
อาการของ Heat Stroke ที่เราต้องสังเกต
ปวดศีรษะ ขณะออกกำลัง, HR (ฮาร์ตเรต-จังหวะการเต้นของหัวใจ) ไม่ลง แม้ เบาการออกกำลังลง, คลื่นไส้ อาเจียน, ผิวหนังแดง ร้อน แห้ง บางรายอาจมีเหงื่อได้, เป็นตะคริวตามกล้ามเนื้อ หลายๆ ที่, หน้ามืด เป็นลม, ถ้าเป็นหนัก จะเริ่มมีอาการทางสมอง เบลอ พูดจาสับสน ชักเกร็ง หมดสติ
ดังนั้น ถ้าเริ่มมีอาการปวดหัว HR สูงแปลกๆ กว่าที่เคย คลื่นไส้ อาเจียน ขณะออกกำลัง ให้สงสัยว่า เราอาจเริ่มมีอาการของ Heat Stroke ได้ ให้หยุดออกกำลังทันที และรีบทำให้ร่างกายเย็นลง แจ้งเพื่อน ๆ ที่ไปออกกำลังกายหรือวิ่งด้วยกันทันที
การปฐมพยาบาลนักกีฬาที่มีภาวะฮีทสโตรก
หลักการสำคัญคือการลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด โดยสามารถทำได้ดังนี้
1.รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม
2.ปลดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้มากที่สุดเพื่อเป็นการระบายความร้อน
3.เปิดพัดลมเพื่อเป็นการไล่ความความร้อน หรือ การเปิดแอร์
4.เช็ดตัวผู้ป่วยด้วยน้ำปกติหรือน้ำเย็น หรือ การใช้ สเปรย์ฉีดน้ำไปบริเวณตัวผู้ป่วย หรือ นำ cooling gel มาวางตามบริเวณซอกคอ และข้อพับ หรือถ้ามีน้ำแข็งสามารถใช้น้ำแข็งถูคนไข้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ โดยวิธีต่างๆสามารถทำพร้อมกันได้ เพื่อเป็นการลดอุณหภูมิร่างกายอย่างรวดเร็ว จนกว่าทีมแพทย์ฉุกเฉินมาถึง ถ้าผู้ป่วยมีสติรู้เรื่องให้รับประทานน้ำปริมาณมากๆ
5.ถ้าผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจ ให้ทำการ CPR จนกว่าทีมแพทย์ฉุกเฉินจะมาถึง
แนวทางการป้องกันฮีทสโตรกในนักกีฬา
สำหรับเบื้องต้น นักกีฬา นักวิ่ง หรือผู้ที่ชอบออกกำลังกาย สามารถป้องกันภาวะฮีทสโตรกได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก เวลาที่อากาศร้อนจัด เช่นเลือกเวลาออกกำลังกายตอน เช้า และเย็น
- ดูอุณหภูมิก่อนออกกำลังกาย ถ้าเกิน 38c ควรหลีกเลี่ยง หรือต้องเตรียมตัวให้พร้อม
- ถ้าจำเป็นต้องฝึกซ้อม เพื่อให้ร่างกายทนความร้อน ต้องค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อฝึกให้ร่างกายปรับตัว
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ราดน้ำตามร่างกายเป็นระยะๆ เพราะน้ำที่กิน และราดตัว สามารถลดอุณหภูมิได้โดยตรง ไม่ควรฝึกอดน้ำหรือกินน้ำน้อยๆ ระหว่างแข่งหรือซ้อม
- สวม เสื้อ กางเกง ที่ระบายอากาศ ระบายความร้อนได้ดี
ท้ายที่สุด อีกหนึ่งข้อแนะนำสำหรับการออกกำลังกายในวันที่แดดร้อยหรืออากาศร้อนมาก ๆ ควรดูแลตนเองด้วยการแนะนำให้ดื่มน้ำ 700 ml ก่อนออกกำลัง 2 ชั่วโมง ค่อยๆ ดื่มเรื่อยๆ และพิจารณาดื่ม Sports Drink ประมาณ 250 ml แทนน้ำเปล่าบางส่วน ทุก 20 นาทีของการออกกำลังกาย ให้ดื่มน้ำอย่างน้อย ประมาณ 250 ml สลับกับเกลือแร่ สังเกตสีปัสสาวะคร่าวๆ ว่าเรากินน้ำพอไหม ถ้าเข้มมาก แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำ
และสำหรับนักวิ่งควรเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายในทุกงานแข่ง นอกจากรู้ระยะทาง เส้นทางแข่งแล้ว เราต้องรู้ อุณหภูมิ และความชื้นวันแข่ง เพื่อปรับความหนักในการ ออกกำลัง วางแผนการกินน้ำ แข่งกีฬาอย่างเหมาะสม และรู้เท่าทันอาการเริ่มแรกของ Heat Stroke
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “ปวดหลังเรื้อรัง” พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “โรคกระดูกสันหลัง” 4 โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
- กระดูกสันหลังคด กายภาพ บำบัดหายไหม มีขั้นตอนยังไง?