Chorea-แขน ขา เคลื่อนไหวผิดปกติ เสี่ยงเป็นอาการโคเรีย
Chorea (โคเรีย) หลายๆ คนอาจไม่คุ้นชื่อกับโรคนี้ และอาจคิดว่าไกลตัว ซึ่งแท้จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น โดยหากพิจารณาจากอาการแล้ว ถือว่าเป็นภาวะอาการที่ใกล้ตัวเรามากทีเดียว ซึ่ง โคเรีย เป็นภาวะอาการเคลื่อนไหวผิดปกติคล้ายกับการฟ้อนรำ มีการเคลื่อนไหวเร็วต่อเนื่อง ไม่เป็นจังหวะ ที่บริเวณ นิ้ว มือ เท้า และส่วนแขนหรือขา อาจพบได้ที่แขนหรือขาข้างเดียว หรือเป็นครึ่งซีก หรือเป็นทั้งตัว โดยส่วนมากผู้ป่วยไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวผิดปกตินี้ได้ แต่มักปิดบังอาการด้วยการใช้แขนหรือขาข้างนั้นทำกิจกรรมอื่นแทนนั่นเอง
Chorea (โคเรีย) คืออะไร เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่?
กลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ โคเรีย เป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติในรูปแบบของการขยับ บิดหรือม้วนไปมา ไม่สามารถคาดเดาทิศทางหรือรูปแบบได้ คล้ายการรำ อาจพบได้ที่แขนหรือขาข้างเดียว หรือเป็นครึ่งซีก หรือเป็นทั้งตัว โดยส่วนมากผู้ป่วยไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวผิดปกตินี้ได้ แต่มักปิดบังอาการด้วยการใช้แขนหรือขาข้างนั้นทำกิจกรรมอื่นแทน เช่น มีโคเรียที่มือ ผู้ป่วยมักจับกระดุมไปมาคล้ายกลัดกระดุมเพื่อกลบเกลื่อนอาการ เป็นต้น หรืออาจมีอาการที่ไม่สามารถบังคับให้ตัวเองอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน เช่น ให้กำแต่ห้ามบีบมือผู้ตรวจ เป็นต้น ซึ่งอาการโคเรียและอาการร่วมเหล่านี้ มักรบกวนการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยยกตัวอย่างเช่น ถือของแล้วหล่น ปัดของหล่น คว้าสิ่งของไม่ได้ เดินโยกเยกหรือหกล้ม เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
ภาวะโคเรีย เกิดจาก…
การเกิดโคเรียมีได้หลายสาเหตุ แบ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และสาเหตุที่เกิดภายหลัง โดยโรคที่พบทางพันธุกรรมที่เกิดโคเรียได้บ่อย คือ โรคฮันทิงทัน (Huntington disease) มักพบในคนอายุน้อยและมักมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย
ส่วนสาเหตุที่เกิดภายหลังนั้น มีหลายปัจจัยที่พบบ่อยคือ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- หลอดเลือดสมองตีบในบางตำแหน่งของสมอง
- ภาวะอิมมูน ที่ตอบสนองผิดปกติต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ภาวะเกลือแร่ที่ผิดปกติหรือจากการใช้ยาบางกลุ่ม
เป็นต้น
ลักษณะอาการของ “ภาวะโคเรีย”
เป็นการเคลื่อนไหวที่แขนขาขยับมากเกินปกติ ส่ายไปมา ไม่สามารถคาดเดาทิศทางได้คล้ายการรำ ผู้ป่วยไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวผิดปกติได้เอง ทำให้รบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น คว้าสิ่งของไม่ได้ เดินโยกเยกหรือหกล้ม
แนวทางการรักษา
ขึ้นอยู่กับสาเหตุ บางครั้งอาจหายได้เอง หรืออาการลดลงตามกาลเวลา เช่น โคเรียที่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักต้องรับการรักษาเพื่อควบคุมอาการโดยเฉพาะโคเรียที่เกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาหากเกิดโรคทางพันธุกรรม ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดจากโรค มักเป็นการรักษาเพื่อควบคุมอาการโคเรียและอาการทางจิตเวชเท่านั้น การวางแผนครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วย จุดประสงค์เพื่อลดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และลดจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการในครอบครัวนั้นๆ การรักษาโคเรียของสาเหตุที่เกิดภายหลังมักเป็นการมองหาสาเหตุ และการแก้ไขเฉพาะจุด ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการที่สงสัยโคเรียควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป อย่างไรก็ดี ในส่วนการดูแลตนเอง เมื่อมีอาการนี้ คือ ควรต้องพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ, รักษาควบคุมโรคที่เป็นต้นเหตุ, และหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ ยาคลายเครียด และ/หรือยาแก้ภาวะสับสน โดยไม่จำเป็น เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันภาวะนี้ได้ในระดับหนึ่ง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- กายภาพบำบัด นักกีฬา เคล็ดลับการฟื้นตัวให้ลงสนามได้ไว
- “ปวดหลังเรื้อรัง” 6 พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “วิ่งแล้วเจ็บข้างเท้าด้านใน” อาการที่ไม่น่าวางใจสำหรับนักกีฬา