มือเท้าสั่น เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณโรคร้ายหรือไม่?
มือเท้าสั่น แม้จะเป็นอาการที่ดูไม่มีอันตราย แต่ก็สร้างความลำบากในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยอาการมือสั่นหรือเท้าสั่นเช่นนี้มักเกิดจากความผิดปกติของระบบปลายประสาท ส่งผลให้สมองที่เป็นส่วนควบคุมร่างกายหรือการเคลื่อนไหวเสื่อมสภาพและทำงานผิดปกตินั่นเอง อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงสาเหตุหลักที่มักพบเจอในคนไข้เท่านั้น ซึ่งในบางรายก็สั่นแบบไม่ทราบสาเหตุด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทุกคนจึงจำเป็นต้องทราบว่าอาการนี้มีสาเหตุ อาการ และการรักษาอย่างไรกันแน่?
มือเท้าสั่น เกิดจากอะไร เป็นอาการของโรคร้ายหรือเปล่า?
อาการมือหรือเท้าสั่น เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในคนปกติเมื่อร่างกายอยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน เช่น ตื่นเต้น มีความเครียด มีความกังวล หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แต่หากอาการสั่นที่เป็นอยู่รุนแรงมากขึ้น เป็นไปได้ว่าอาการนี้อาจไม่ใช่การสั่นในคนปกติ แต่เป็น “โรคมือ-เท้าสั่น” (Essential Tremor) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคตได้
อาการ มือ-เท้า สั่น เกิดจาก…
สาเหตุของมือหรือเท้าสั่น อาจเกิดจากโรคหรือภาวะต่างๆ ได้แก่
-
ความเครียด
เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้ โดยอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธที่รุนแรง หิวจัด หรือภาวะขาดการนอนหลับ โดยสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการมือสั่นหรือที่เรียกว่า การสั่นทางสรีรวิทยา (Physiologic Tremors)
-
การขาดวิตามิน บี 12
จะทำให้ระบบประสาททำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้เล็กน้อย
-
ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)
เป็นผลมาจากระบบประสาทส่วนปลายได้รับความเสียหาย ซึ่งทำให้เกิดอาการสั่นได้
-
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
ภาวะนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกาย และทำให้เกิดอาการสั่นได้
-
โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor)
โรคทางระบบประสาทที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนเซรีเบลลัม (Cerebellum) โดยปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของความผิดปกติดังกล่าว
-
โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่สั่งงานการเคลื่อนไหวของอวัยวะในร่างกาย อาการสั่นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย แต่โดยส่วนใหญ่ในระยะเริ่มต้นของโรค มือ เท้า หรือนิ้วมือมักจะมีอาการสั่น
-
โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีความเกี่ยวของกับการเคลื่อนไหวและความรู้สึกของร่างกาย ทำให้เกิดอาการสั่นที่มือหรือเท้า และจะมีอาการสั่นคล้าย ๆ กับโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ คือสั่นในขณะที่กำลังเคลื่อนไหวมือ
ลักษณะอาการของภาวะ มือ-เท้า สั่น
อาการมือสั่นที่พบได้บ่อยที่สุด คือโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) เป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นกับวัยผู้ใหญ่จำนวนมาก คาดว่าเป็นเพราะการทำงานที่ผิดปกติหรือการหยุดทำงานของสมองส่วนเซรีเบลลัม (Cerebellum) โดยนักวิจัยยังไม่สามารถหาสาเหตุของการทำงานที่ผิดปกติหรือการหยุดทำงานของสมองส่วนดังกล่าวได้ โดยจะมีอาการสั่นเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ขยับขึ้นและลงโดยที่ไม่สามารถบังคับตนเองได้ และยังเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้ เช่น แขน ศีรษะ เปลือกตา ริมฝีปาก หรือกล้ามเนื้อ และรวมไปถึงกล่องเสียง ซึ่งอาจทำให้เสียงสั่น นอกจากนั้น อาการสั่นจากโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ มักจะสังเกตได้อย่างชัดเจน เมื่อผู้ที่มีอาการพยายามใช้มือจับหรือควบคุมสิ่งของบางอย่าง เช่น เขียนหนังสือ เป็นต้น สำหรับอาการสั่นที่พบได้บ่อยอีกโรค คือโรคพาร์กินสัน ซึ่งจะเริ่มต้นอาการสั่นที่แขนและขา โดยเฉพาะที่มือหรือนิ้วมือ ซึ่งอาจจะสังเกตเห็นนิ้วชี้และนิ้วโป้งขยับไปมา นอกจากนั้น อาการสั่นของโรคพาร์กินสันจะสังเกตอาการได้แม้ในขณะอยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย
ต้อง “สั่น” รุนแรงขนาดไหน จึงต้องเข้าพบแพทย์
ผู้ป่วยที่มีอาการมือสั่นไม่รุนแรงและไม่กระทบกับชีวิตประจำวัน เช่น ใช้มือเขียนหนังสือได้ดี สามารถใช้มือจับแก้วและยกดื่มน้ำได้ไม่หก ใช้มือจับช้อนตักข้าวทานได้ดี ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและดูอาการไปก่อนได้ แต่หากอาการสั่นนี้กระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น เขียนหนังสือแล้วลายมือเปลี่ยน ใช้มือหยิบแก้วน้ำแล้วน้ำหก ไม่สามารถใช้มือจับช้อนตักกับข้าวได้ หรือมือสั่นจนทำให้ผู้ป่วยเสียบุคลิก และอายไม่กล้าเข้าสังคม ควรพบแพทย์เพื่อใช้ยารักษาลดอาการมือสั่น
แนวทางการรักษาอาการ ‘มือและเท้าสั่น’
การรักษาขึ้นกับสาเหตุ สำหรับในกรณีมือสั่นที่ไม่มีสาเหตุ ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะอาการมักจะหายไปได้เอง ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งมีแนวทางรักษาต่างๆ ดังนี้
รักษาโดยการใช้ยา
ยาที่เป็นตัวเริ่มต้นในการรักษาคือ ยา Propanolol แพทย์จะเริ่มให้ยาปริมาณน้อยๆ หากไม่มีผลข้างเคียงจากยา จึงค่อยๆ ปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น โดยยาชนิดนี้ต้องระวังในการใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอดบางโรคถ้าผู้ป่วยมีผลข้างเคียงจากยา อาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น เช่น topiramate หรือ gabapentin
รักษาโดยใช้อัลตร้าซาวนด์
แพทย์จะใช้เครื่อง MRI เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของสมองส่วนที่เรียกว่า thalamus ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการสั่นและใช้คลื่นเสียงเข้าไปที่บริเวณส่วนนี้เพื่อหยุดอาการมือสั่นข้อดีของวิธีนี้คือเป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดสมอง
รักษาโดยการผ่าตัด (Deep Brain Stimulation)
เป็นการผ่าตัดสมองเพื่อฝังขั้วไฟฟ้าที่บริเวณสมองส่วนที่เรียกว่า thalamus โดยจะมีการใช้เครื่องมือเพื่อความแม่นยำในการฝังขั้วไฟฟ้า เช่น กรอบโลหะเพื่อให้ศีรษะผู้ป่วยอยู่นิ่ง ภาพ MRI สมอง และการทดสอบจากการตรวจร่างกายผู้ป่วยในขณะผ่าตัด ทั้งนี้จะมีการควบคุมไฟฟ้าจากอุปกรณ์ซึ่งถูกติดตั้งที่ชั้นใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอกของผู้ป่วย อาการมือสั่นพบได้ในหลายโรคไม่ว่าจะเป็นโรคพาร์กินสัน โรค Essential tremor จากยาบางชนิด ดังนั้น หากสังเกตพบว่ามีอาการมือสั่นผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินและให้การรักษาต่อไป
วิธีการรักษาอาการ มือ-เท้าสั่น ทางกายภาพบำบัด
โดยนักกายภาพบำบัดจะให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสามารถในการควบคุมร่างกายและการประสานงานกันของร่างกาย ตามขั้นตอนดังนี้ 1. ประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมและประเมินระยะของโรค (stage of the disease) 2. ลดอาการปวดและการตึงตัวของกล้ามเนื้อ โดยใช้ความร้อนตื้น เช่น Thermo pad,กระเป๋าน้ำร้อo 3. ยืดกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหดรั้ง 4. พัฒนาการทำงานของปอดและหัวใจ เช่น การสอนหายใจ , โปรแกรมการออกกำลังกาย 5. ออกกำลังกายกล้ามเนื้อเหยียดเข่า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานโดยใช้ ถุงทราย 6. สอนวิธีการเคลื่อนย้ายตัวป้องกันการล้ม โดยใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น Tripod cane, Walker
การป้องกันมือและเท้าสั่น ต้องทำอะไรบ้าง?
การป้องกันมือสั่น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีอาการมือสั่นใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยปฏิบัติได้ดังนี้
ใช้อุปกรณ์หรือของใช้ที่มีน้ำหนักมากขึ้น
เช่น แก้วน้ำ เครื่องเงิน (ช้อนหรือส้อม) จานอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ของใช้หรือจับถืออุปกรณ์ดังกล่าวได้สะดวกยิ่งขึ้น
ใช้เครื่องใช้ภายในบ้านหรือเครื่องมือที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ
มีที่จับหรือควบคุมได้ง่าย เพราะผู้ที่มีอาการมือสั่น หากต้องใช้เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ปากกา ดินสอ เครื่องมือทำสวน และอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องครัว จะหยิบใช้ได้ไม่สะดวก ท้ายที่สุด ผู้ป่วยมือเท้าสั่น จะมีอาการและอาการแสดงที่หลากหลายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น ดังนั้น นักกายภาพบำบัดจะทำการประเมินปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย และวางแผนการรักษาทางกายภาพบำบัดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีจุดมุ่งหมายของการรักษาเพื่อการพัฒนาการทำกิจกรรมต่างๆ และการให้ความรู้ต่อผู้ป่วยและญาติเพื่อการรักษาที่ถูกต้องและได้ผลมากขึ้นนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- “ปวดหลังเรื้อรัง” 6 พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “ฝังเข็ม” วิธีรักษาทางกายภาพบำบัดของโรคออฟฟิศซินโดรม