ปวดคอ บ่า ไหล่ เรื้อรัง ทำไงดี หากไม่หายจะอันตรายหรือไม่?
ปวดคอ บ่า ไหล่ เรื้อรัง ภาวะอาการที่ดูเหมือนจะไม่มีความรุนแรง แต่แท้จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น จากที่ทราบกันดีว่าอาการปวดคอ บ่า ไหล่ เป็นภาวะอาการที่ผู้คนมักเป็นกันมาอย่างช้านาน ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ออฟฟิศซินโดรม ซึ่งถือเป็นโรคที่ฮิตที่สุดในกลุ่มคนทำงานเลยก็ว่าได้ เนื่องจากในยุคนี้ การนั่งทำงานออนไลน์ หรือทำงานผ่านจอคอมพิวเตอร์ เป็นวิถีใหม่ที่คนสมัยใหม่ต้องเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ โรคออฟฟิศเช่นนี้จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกลายเป็นอาการเรื้อรังในที่สุด
ปวดคอ บ่า ไหล่ เรื้อรัง แก้ไขอย่างไร หายขาดได้หรือไม่?
อาการปวดกล้ามเนื้อทั้ง 3 บริเวณนี้ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานจากกิจวัตรประจำวัน และการทำงานทำให้มีการเคลื่อนไหวในส่วนของคอมาก อาจทำให้มีอาการปวดคอ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งทำงานในสำนักงาน หรือออฟฟิศนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มือพิมพ์แป้นพิมพ์ต่อเนื่องหลายชั่วโมง การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ ซึ่งถ้าดูแลรักษาและปฏิบัติตนไม่ถูกวิธี จะทำให้อาการปวดคอรุนแรงมากขึ้น
ลักษณะอาการที่ถือว่ารุนแรง และต้องรีบมาพบแพทย์
ลักษณะอาการปวดคอ บ่า ไหล่ เรื้อรัง ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์บ่อยมาก อาจปวดแบบเป็นๆ หายๆ หรือปวดเรื้อรัง ถ้าอาการปวดมาจากกล้ามเนื้อ จะไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรมาก แต่ถ้าปวดรุนแรงมากเพราะหมอนรองกระดูกสันหลังบริเวณกระดูกต้นคอเสื่อมแล้วเคลื่อนไปทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง อาการปวดชนิดนี้ ถือว่าเป็นอันตราย
4 สาเหตุหลักของการปวดคอ บ่า ไหล่ เรื้อรัง
- กระดูกต้นคอเสื่อม เป็นผลจากอายุที่เพิ่มขึ้น และการใช้งานหนักในบางอาชีพ
- การบาดเจ็บที่บริเวณคอ เช่น กระดูกคอหัก, หมอนรองกระดูกเคลื่อน, เอ็น และกล้ามเนื้อรอบข้อต่ออักเสบ
- จากการการอักเสบในผู้ป่วยโรคข้อ เช่น รูมาตอยด์
- อิริยาบถที่ผิดสุขลักษณะ เช่น นอนผิดท่า, ท่าทางการทำงานที่ต้องก้มเงยบ่อยๆ หรือใช้กล้ามเนื้อคอมาก, ขับรถนาน เป็นต้น
ลักษณะอาการที่พบ
- มีอาการปวดตื้อที่ศีรษะ หรือท้ายทอย
- ปวดคอ อาจเป็นร่วมกับการปวดร้าวลงบ่า หัวไหล่ แขน สะบัก
- มีอาการชาที่แขน หรือที่นิ้วมือ และอาจพบอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนร่วมด้วย
- คอเคลื่อนไหวได้น้อยกว่าปกติ และมีอาการเจ็บร่วมด้วย
- บางครั้งอาจพบจุดกดเจ็บที่กล้ามเนื้อต้นคอ และบ่า
เมื่อมีอาการปวดคอต้องทำอย่างไร
- การรักษาด้วยยาเพื่อลดการอักเสบ และบรรเทาอาการปวด
- การรักษาทางกายภาพบำบัด ร่วมกับการรักษาด้วยยา
- การประคบด้วยความร้อน หรือเย็นบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอที่ปวด
- การรักษาโดยใช้เครื่องมือที่ทำให้เกิดความร้อนลึก เช่น Ultrasound, Shortwave Diathermy
- การดึงคอ เพื่อลดการกดทับของเส้นประสาทคอ และลดอาการเกร็งของต้นคอ
- การบริหารคออย่างถูกวิธี และเหมาะกับสภาพของอาการที่เป็น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ
การรักษาอาการปวดต้นคอได้อย่างไร
1. ใช้ยาบรรเทาอาการปวด
โดยแพทย์จะให้ยาจากการประเมินจากความรุนแรงของอาการเป็นหลัก หากมีอาการปวดต้นคอไม่รุนแรงมาก อาจบรรเทาได้ด้วยการทานยาพาราเซตามอล แต่หากอาการปวดนั้นมีสาเหตุจากการอักเสบรุนแรง แพทย์อาจให้ยาลดการอักเสบร่วมด้วย อย่างไรก็ตามการรับประทานยาควรทานตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
2. ทำกายภาพบำบัดและการนวด
ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงจนขยับคอลำบาก อาจต้องกระตุ้นกล้ามเนื้อโดยการประคบร้อน ประคบเย็น และการดึงคอ รวมถึงการบีบนวดที่ถูกวิธีก็ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อคอได้ นอกจากนี้ควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดเรื้อรังด้วย
3. ใส่เฝือกคอ
เมื่อวินิจฉัยแล้วอาการปวดคอ จำเป็นต้องได้รับการดูแล ไม่ควรขยับคอมาก แพทย์จะแนะนำให้ใส่เฝือกเพื่อเป็นการช่วยพยุงคอ การใส่เฝือกคอชั่วคราวจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน
4. การผ่าตัด
เป็นวิธีที่มีความเสี่ยง และจะใช้รักษาในผู้ที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง เนื่องจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผลแล้ว
3 ตำแหน่ง ‘นวดกดจุด’ คลายกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่
1.ใต้ฐานกะโหลก
เป็นตำแหน่งที่ใครหลายคนอาจจะสงสัยว่าปวดคอ บ่า ทำไมต้องมากดนวดตรงฐานกะโหลกด้วย ต้องบอกก่อนว่าใต้ฐานกะโหลกของเราเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อที่ชื่อว่า Trapezius ซึ่งเกาะยาวมาถึงกระดูกสะบักและแนวกระดูกสันหลังส่วนอก ซึ่งกล้ามเนื้อตัวนี้หากเกิดอาการปวดคอ บ่า แล้วจะมีตำแหน่งที่ปวดร้าวไปบริเวณอื่นได้ เช่น ปวดร้าวขึ้นศีรษะ หรือปวดร้าวบริเวณบ่าได้ และนอกจากนี้ยังมีกลุ่มกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวหลังกล้ามเนื้อ Trapezius กลุ่มกล้ามเนื้อนี้มีชื่อว่า Suboccipital หากกลุ่มกล้ามเนื้อเหล่านี้มีความตึงตัวก็จะทำให้มีอาการปวดร้าวไปที่กระบอกตาได้ จึงเป็นตำแหน่งที่แนะนำในการนวดกดจุดเพื่อคลายความตึงตัวขอกล้ามเนื้อ และเป็นการลดอาการปวดศีรษะและปวดกระบอกตาได้ในคราเดียวกันไปเลย2.กล้ามเนื้อคอด้านหลัง
ตำแหน่งกล้ามเนื้อหลังคอเป็นตำแหน่งที่มีจุดกดเจ็บเป็นอันดับแรก ๆ ของกล้ามเนื้อเลยก็ว่าได้ นอกจากกล้ามเนื้อ Trapezius ที่กล่าวไปแล้วยังมีกล้ามเนื้ออีกตัวที่ชื่อ Leavator Scapulae ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่มีปัญหาความตึงตัวและส่งผลให้เกิดอาการปวดคอได้เช่นกัน ซึ่งการนวดกดจุดในตำแหน่งนี้จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อคอคลายตัวได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อและส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นได้นั่นเอง3.กล้ามเนื้อบ่า
มาถึงตำแหน่งสุดท้าย ตำแหน่งที่ถ้าได้นวดกดจุดลงไปแล้วจะสบายหลังจากนวดมาก เพราะเป็นตำแหน่งที่จะเจอกันก้อนกล้ามเนื้อที่แข็งตัวขึ้นเป็นลำ หรือใครที่เคยลองคลำ ๆ บ่าตัวเองแล้วรู้สึกมันเป็นก้อน ต้องบอกเลยว่ากล้ามเนื้อบ่าตรงนี้คือจุดที่ต้องคลายกล้ามเนื้อก่อนใครเพื่อน เพราะตำแหน่งนี้เราจะมีการเกร็งของกล้ามเนื้อขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวจากการนั่งทำงานท่าไม่ถูกต้อง หลังค่อม ไหล่ห่อ คอยื่น กล้ามเนื้อบ่าก็จะทำงานหนักและมีความตึงตัวและอาการเกร็งเกิดขึ้นได้ เราจึงควรนวดกดจุดในบริเวณนี้เพื่อคลายกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่นให้มากขึ้น ก็จะช่วยลดอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ลงไปได้อย่างแน่นอนอย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการปวด คอ บ่า หรือไหล่ เป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าอาการปวดคอดังกล่าวมีสาเหตุมาจากสาเหตุใด เพราะส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าอาการที่เป็นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางรายอาจถึงขั้นเป็นหมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลัง บางครั้งมาพบแพทย์เมื่อสาย ตอนที่โรคทวีความรุนแรงขึ้น เช่นมีอาการ เสียการทรงตัว หรืออาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ควบคุมความสมดุลของร่างกายไม่ดี หกล้มง่าย หรือใช้มือทำงานที่มีความละเอียดไม่ได้ เพราะควบคุมความละเอียดของกล้ามเนื้อไม่ได้ เป็นต้น จึงไม่อยากให้ประวิงเวลาในการมาพบแพทย์ เพราะคิดว่าอาการปวดคอที่เป็นๆ หายๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่อันตรายอะไร แล้วรอจนเป็นมากแล้วถึงมาพบแพทย์ อาจทำให้เสียโอกาสในการรักษาได้
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- “ปวดหลังเรื้อรัง” 6 พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “ฝังเข็ม” วิธีรักษาทางกายภาพบำบัดของโรคออฟฟิศซินโดรม