ปวดกระบอกตา ท้ายทอย เกิดจากอะไร เสี่ยงเป็นไมเกรนหรือไม่?
ปวดกระบอกตา ท้ายทอย เกิดจากอะไรกันแน่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอาการปวดหัวจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันไม่น้อย เพราะไม่ใช่แค่อาการปวดหัวเท่านั้น บางคนปวดเบ้าตา ปวดขมับ ปวดท้ายทอยส่งผลให้ทำงานต่อไม่ได้เลยทีเดียว จริงๆ แล้วอาการปวดหัวเหล่านี้อาจเกิดมาจากเรื่องเล็กน้อยใกล้ตัวที่เราทำจนเคยชิน
ปวดกระบอกตา ท้ายทอย เกิดจากอะไร เป็นอาการไมเกรนหรือเปล่า?
อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยและส่งผลให้ใครหลายๆ คนเกิดความรำคาญ และรบกวนในการใช้ชีวิตและการทำงาน แต่หลายคนยังไม่ทราบว่าอาการปวดศีรษะนี้ เป็นอาการปวดศีรษะธรรมดาที่เกิดจากความเครียด หรือเกิดจากอาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งก็จะมีวิธีการรักษา และการบรรเทาอาการที่ต่างกันออกไปบ้าง และนี่คือข้อสังเกตเบื้องต้นที่จะช่วยให้เราแยกว่าอาการปวดศีรษะของเรานั้นเกิดจากอะไรกันแน่
ปวดหัวปวดตา เกิดจาก
ปวดหัว เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุก็มีอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่บางสาเหตุก็เพียงทำให้เกิดความรำคาญ และบางครั้งก็หาสาเหตุไม่พบ
สาเหตุ ที่ทำให้ปวดหัวมีอยู่มากมาย แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- ความเครียดของกล้ามเนื้อ
- ไมเกรน
- โรคของสมอง ตา หู โพรงจมูก และฟัน
ความเครียดของกล้ามเนื้อ
ปวดหัวสาเหตุนี้ มักพบบ่อยๆ คนไข้จะปวดหัวจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อแถวต้นคอ และท้ายทอย อาการปวดมักจะไม่มีตำแหน่งที่แน่นอน มักจะปวดร้าวไปที่บริเวณขมับและหน้าผาก หรือกระบอกตา อาการปวดแบบนี้อาจเกิดจากความเครียดในการทำงาน นอนผิดท่า นอนตกหมอน เป็นต้น การปวดหัวจากความเครียดของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับตา คือการปวดกระบอกตา หลังจากทำงานที่ละเอียด หรือต้องใช้สายตา เช่น งานฝีมือ หรืออ่านหนังสือตัวเล็กๆ นานๆ พวกนี้จะมีอาการปวดกระบอกตา และอาจร้าวไปถึงท้ายทอยได้ สาเหตุ เกิดจากล้ามเนื้อตาล้า หรือกล้ามเนื้อตา ที่ทำงานเกี่ยวกับการเพ่งไม่แข็งแรงคือเพ่งไม่เก่งนั่นเอง
ไมเกรน
มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว ตามด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์หงุดหงิด อาจจะเห็นภาพมัวไปชั่วขณะ หรือเห็นแสงไฟแลบหรือฟ้าแลบกับอาการปวดหัวก็ได้ พวกนี้อาจจะมีประวัติทางครอบครัวร่วมด้วย จากโรคต่างๆ เช่น โรคของสมอง ตา หู โพรงจมูก และฟัน เช่น ความดันโลหิตสูง จากสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือมีเลือดออกในเยื่อบุสมองในรายที่เคยได้รับอุบัติเหตุ จากไซนัส จากหูน้ำหนวก จากฟันผุ ในที่นี้จะพูดเฉพาะอาการปวดหัวที่เกี่ยวข้องกับตาเท่านั้น
กล้ามเนื้อตาล้า
กล้ามเนื้อตาล้า คือ อาการปวดหัว ปวดตา ที่เกิดขึ้นเวลาทำงานที่ต้องใช้สายตาใกล้ๆ ในงานที่ละเอียดคนเหล่านี้จะทำงานใช้สายตาใกล้ๆ นานๆ ไม่ได้ เพราะกล้ามเนื้อตาที่ใช้มองใกล้ หรือรวมตัวเพ่งในที่ใกล้นั้นไม่แข็งแรงพอ พูดง่ายๆ คือเพ่งไม่เก่งนั่นเอง คนไข้จะมีอาการปวดตา ปวดหัว อาจจะปวดที่กระบอกตาและร้าวไปถึงท้ายทอยได้ บางครั้งก็ตาลายเวลาอ่านหนังสือ หรือทำงานที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้ๆ อาการนี้มักพบในเด็กหรือวัยรุ่นที่ต้องอดนอนอ่านหนังสือนานเป็นเวลานาน หรือเล่นวีดีโอเกมส์นานๆ อีกกลุ่มที่พบได้คือ กลุ่มที่อายุเริ่มเข้า 40 ปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้แว่นดูใกล้ คือแว่นตายาว หรือแว่นผู้สูงวัยเข้าช่วย
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดกระบอกตา
อาการปวดกระบอกตาอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตาและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่รุนแรงและส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดกระบอกตาร่วมกับมีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง สูญเสียการมองเห็น สูญเสียการรับความรู้สึกหรือการเคลื่อนไหวของส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย เป็นต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเจ็บป่วยและรักษาได้อย่างทันท่วงที
การป้องกันอาการปวดกระบอกตา
เนื่องจากอาการปวดกระบอกตานั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพเบื้องต้นโดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวกับการมองเห็น หรือมีอาการที่ทำให้รู้สึกกังวลใจ ควรไปปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ
วิธีการบรรเทาหากพบว่าเป็นไมเกรน
เมื่อคนไข้พบว่าตนเองนั้นมีภาวะไมเกรน ก็ให้สังเกตว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะและพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้น หากมีอาการปวดศีรษะไม่มากให้รีบทานยาแก้ปวดแต่เนิ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดีกว่าปล่อยให้ปวดมากๆ แล้วค่อยทานยา ถ้าอาการปวดเป็นบ่อยเกินกว่า 8 วันต่อเดือน หรือมีอาการปวดแต่ละครั้งรุนแรงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ท้ายที่สุด อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน บางครั้งอาการปวดเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน แต่เมื่อไหร่ที่เกิดความผิดปกติก็ไม่ควรละเลย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่นๆ ตามมา
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- “ปวดหลังเรื้อรัง” 6 พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “ฝังเข็ม” วิธีรักษาทางกายภาพบำบัดของโรคออฟฟิศซินโดรม