กล้ามเนื้อสะโพก กดทับเส้นประสาท สาเหตุการปวดหลังเมื่อไม่ได้ขยับนานๆ
กล้ามเนื้อสะโพก กดทับเส้นประสาท – หลายท่านอาจมีประสบการณ์อาการปวดหลัง สะโพก และลามมาถึงขา หลังจากการนั่งทำงานต่อเนื่องระยะเวลานานๆ การนั่งเครื่องบินหลายชั่วโมง หรือเดินทางโดยที่นั่งแบบไม่ได้ขยับ พฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลไม่ดีเท่าไหร่นักต่อร่างกาย โดยเฉพาะส่วนกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกที่อาจเกิดการกดทับเส้นและกลายเป็นอาการรุนแรงได้นั่นเอง
กล้ามเนื้อสะโพก กดทับเส้นประสาท คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ?
หลายท่านอาจมีประสบการณ์อาการปวดหลัง สะโพก และลามมาถึงขา หลังจากการนั่งทำงานต่อเนื่องระยะเวลานานๆ การนั่งเครื่องบินหลายชั่วโมง หรือเดินทางโดยที่นั่งแบบไม่ได้ขยับ ต่อเนื่องกันนานหลายชั่วโมง อาการนี้อาจเกิดจากการกดทับของกระดูกสันหลังส่วนล่าง ข้อต่อก้นกบหรือกล้ามเนื้อสะโพกชั้นลึก (Piriformis) ที่มีการบาดเจ็บ อักเสบ บวม หรือการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อดังกล่าว แล้วกดทับเส้นประสาทที่ชื่อ “Sciatic” เกิดการอักเสบและปวดตามแนวเส้นประสาทตามมาได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ภาวะกล้ามเนื้อสะโพก (Piriformis) กดทับเส้นประสาท เท่านั้น
ทำไมจึงต้องเป็นกล้ามเนื้อ Piriformis
กล้ามเนื้อ Piriformis นี้เกาะเริ่มต้นที่กระดูกก้นกบที่ 2-3 และผ่านไปยังข้อสะโพก เป็นกล้ามเนื้อรูปร่างสามเหลี่ยมชิ้นเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ในการหมุนข้อสะโพกและกางขาออก กล้ามเนื้อเองมีเส้นประสาท Sciatic ลอดผ่าน การนั่งท่าที่ไม่ดีร่วมกับระยะเวลานานมากๆ แล้วเกิดการกดทับที่กล้ามเนื้อนี้นานเกินไป สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บเกร็งเป็นก้อนและอักเสบของกล้ามเนื้อนี้ตามมา หรือในผู้ที่ออกกำลังกายกล้ามเนื้อก้นอย่างหนัก ทำให้กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่มากกว่าปกติ อาจส่งผลให้เกิดการกดเบียดต่อเส้นประสาทที่พาดผ่านได้ ทำให้เกิดอาการปวดส่วนปลายประสาท ที่ขาและน่องตามมา ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงการวางตัวของกล้ามเนื้อ Piriformis (สีแดง)
และเส้นประสาท Sciatic (สีเหลือง)
ที่มา: T.A. Miller, The Diagnosis and Management of Piriformis Syndrome: Myths and Facts, 2012.
นอกจากนี้ อาจเกิดภายหลังการผ่าตัด การมีความผิดปกติที่ข้อต่อก้นกบ เช่น ข้อหลวมหลังคลอดบุตร หรือยึดติดแน่นเกินไป กล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่มาก (Muscle hypertrophy มักพบในนักกีฬาที่อยู่ในช่วง increase weightlifting or preseason conditioning) เป็นต้น
สังเกตอาการอย่างไร
สำหรับท่านที่มีปัญหาปวดสะโพกร้าวลงขา ลองสังเกตอาการดังนี้ -อาการปวดที่บริเวณสะโพก ก้น และร้าวลงไปหลังต้นขา และส่วนต้นของน่อง อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อนั่งประมาณ 15-20 นาทีหรืออาจน้อยกว่านั้น -เดินลำบาก หรือออกกำลังกายท่า squat แล้วมีอาการมากขึ้น -มีจุดกดเจ็บที่บริเวณกล้ามเนื้อก้นลึกๆ จุดเกาะที่ก้นกบ (Sacrum bone) เมื่อกดที่กล้ามเนื้ออาจส่งผลให้ปวดลงไปที่ขาและน่องได้ -ไม่สามารถทำท่ายืดกล้ามเนื้อ หรือออกแรงเกร็งกล้ามเนื้อที่มีการบิดหมุนข้อสะโพกออกได้ (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างการทดสอบกล้ามเนื้อก้น (Piriformis) ด้วยการเริ่มต้น
ในท่านอนตะแคง งอเข่าทั้ง 2 ข้าง แล้วเปิดขาด้านบนขึ้น จะส่งผลกระตุ้นอาการปวดที่ก้นร้าวลงขาได้
ที่มา: Robst D, Stout A, Hunt D. Piriformis Syndrome 2019.
การดูแลอาการตนเองเบื้องต้น
หากมีอาการปวดมากในระยะแรก แนะนำให้ผู้ป่วยทานยาต้านอักเสบ (NSAIDs) หรือยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants) เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ ร่วมกับการประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดอักเสบ ก่อนมาพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
การรักษาทางกายภาพบำบัด
การรักษาทางกายภาพบำบัด สำหรับภาวะกล้ามเนื้อ piriformis กดทับเส้นประสาท ประกอบด้วย การนวดคลายด้วยมือ (Manual Therapy) การใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ความร้อนลึก (Therapeutic ultrasound) และเลเซอร์ (Low-power laser) เพื่อช่วยในการลดการอักเสบและเร่งกระบวนการซ่อมแซมของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้ ทำให้รักษาอาการให้หายรวดเร็วขึ้น
รูปที่ 3 แสดงตัวอย่าง การนวดคลายด้วยมือ (Manual Therapy) สำหรับผู้ที่มีภาวะ Piriformis Syndrome
ที่มา: https://www.physio.co.uk/what-we-treat/musculoskeletal/conditions/buttock/piriformis-syndrome.php
การยืดกล้ามเนื้อ Piriformis และกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อสะโพก รวมถึงหลังส่วนล่างด้วย เพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ลดการกดบีบที่เส้นประสาท Sciatic ได้ การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อข้อสะโพกมัดใหญ่ ซึ่งมีส่วนช่วยในการทรงท่าหรือรับน้ำหนักร่างกายในขณะทำกิจกรรมต่างๆ หากกล้ามเนื้อรอบๆ เชิงกรานมีความแข็งแรงแล้ว สามารถช่วยลดการกดเบียดที่ข้อต่อ หรือกล้ามเนื้อชั้นลึกได้ อย่างไรก็ตาม ท่าทางการออกกำลังกายและระยะเวลาของการออกกำลังกายควรได้รับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัดอย่างเหมาะสม Reference
- Miller TA, White KP, Ross DC. The diagnosis and management of Piriformis Syndrome: myths and facts. Can J Neurol Sci. Sep;39(5):577-83.
- Hicks BL, Lam JC, Varacallo M. Piriformis Syndrome. 2017.
- Robst D, Stout A, Hunt D. Piriformis Syndrome: A Narrative Review of the Anatomy, Diagnosis, and Treatment. PM R. Aug;11Suppl 1:S54-S63.
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดหลัง นั่งนาน อาการยอดฮิตของคนทำงานที่ต้องแก้
- “ปวดหลังเรื้อรัง” 6 พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- 5 ท่ายืดสลักเพชร ปวดแค่ไหนก็หายได้