น่องแข็งเป็นก้อน เกิดจากอะไร หากปล่อยไปเรื่อยๆ จะอันตรายหรือเปล่า?
น่องแข็งเป็นก้อน ถือเป็นปัญหาที่สามารถพบได้บ่อยเลยทีเดียวในปัจจุบัน เนื่องจากกิจวัตรประจำวันของคนในยุคนี้ค่อนข้างเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือกล้ามเนื้อแข็งเป็นก้อนเฉพาะที่ได้ง่ายมากๆ หลายคนอาจคิดว่าการเกิดอาการเช่นนี้ต้องอาศัยสาเหตุที่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะมีสาเหตุมาจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทั้งสิ้น
น่องแข็งเป็นก้อน เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาให้หายหรือเปล่า?
หลายๆ คนคงเคยมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเวลานั่งทำงานหรือต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นซ้ำๆ และเมื่อลองคลำไปยังจุดที่ปวด บางครั้งก็พบก้อนหรือไตแข็งๆ นูนออกมาด้วย ยิ่งลองกดที่ก้อนดังกล่าวแรงขึ้น ก็จะรู้สึกปวดมากขึ้น หรือปวดร้าวไปยังบริเวณข้างเคียง ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกันว่า เจ้ากล้ามเนื้อที่เกิดการแข็งตัวเช่นนี้คืออะไร และสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่?
เป็นก้อนที่น่อง คืออะไร และ มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?
กล้ามเนื้อที่แข็งนูนออกมาเป็นก้อนหรือเป็นไตนั้นเรียกว่า จุดกดเจ็บ หรือ Trigger point ซึ่งเกิดจากการที่เราใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นอย่างหนัก หรือเคลื่อนไหวในอิริยาบถเดิมซ้ำๆ โดยไม่พัก ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งตัวต่อเนื่องโดยไม่คลายออก ปมกล้ามเนื้อที่หดตัวจะนูนขึ้นมาเป็นก้อนเล็กๆ แต่หากเรายังคงใช้งานกล้ามเนื้อไปเรื่อยๆ เส้นใยกล้ามเนื้อจะยิ่งหดเกร็งมากขึ้นจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงได้ ทำให้กล้ามเนื้อขาดพลังงาน มีของเสียคั่งค้าง และเกิดการอักเสบเรื้อรังขึ้นจนก้อนนูนนั้นมีขนาดใหญ่และเราสามารถคลำพบได้
อาการที่บ่งบอกว่ากล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็ง และเกิดจุดกดเจ็บ ได้แก่
- มีอาการเมื่อยล้าอ่อนแรง ในส่วนกล้ามเนื้อที่เกิดการหดเกร็งและอักเสบ ทำให้ขยับลำบาก
- รู้สึกปวดกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อนั่งทำงาน หรือต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้น
- กล้ามเนื้อส่วนจุดกดเจ็บนั้นไวต่อความรู้สึก เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น และปวดร้าวไปยังบริเวณข้างเคียง
กล้ามเนื้อน่องแข็งเป็นก้อน อันตรายหรือไม่?
ก้อนแข็งๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการที่เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อส่วนนั้นไม่ได้ ทำให้ของเสียที่เกิดขึ้นภายในเซลล์กล้ามเนื้อไม่ได้ระบายออก เพราะกล้ามเนื้อหดเกร็งจนของเสียระบายออกไม่ได้กล้ามเนื้อส่วนนั้นจึงเกิดการอักเสบ พออักเสบก็จะเกิดอาการปวดลึกๆ ใต้กล้ามเนื้อ จนในที่สุดก็ปวดเรื้อรังซึ่งรักษายาก
แนวทางการรักษาและบำบัดอาการกล้ามเนื้อแข็งหรือเป็นก้อนที่น่อง
การคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งบริเวณจุดกดเจ็บสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
การประคบร้อนและประคบเย็น
การประคบร้อนด้วยน้ำอุ่นจะช่วยให้เส้นใยกล้ามเนื้อคลายตัว และทำให้เลือดไหลเวียนดี ส่วนการประคบเย็นจะช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดได้
ใช้การนวดกดจุด
เราอาจใช้นิ้วมือหรืออุปกรณ์อื่นๆ นวดคลึงซ้ำๆ ตรงจุดกดเจ็บ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ ซึ่งการนวดอย่างถูกวิธีเป็นประจำ จะช่วยให้จุดกดเจ็บมีขนาดเล็กลง
การฝังเข็ม
เป็นการแพทย์ทางเลือกที่พบว่าสามารถรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งได้ผลดี โดยการฝังเข็มจะช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ และลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้
การทำกายภาพบำบัด
การบำบัดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ใช้ความร้อน อัลตราซาวนด์ ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม จะช่วยบรรเทาและป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็งได้
วิธีการป้องกันน่องหดเกร็งจนเกิดก้อนแข็งกล้ามเนื้อ
ผู้ที่กำลังมีอาการนี้ควรหลีกเลี่ยงการทำงานในท่าเดิมนานๆ หากจำเป็นควรพักเป็นระยะเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง ทั้งนี้ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถการนั่ง นอน ยืน ให้เหมาะสม เช่น ปรับมานั่งหลังตรงแทนการนั่งห่อไหล่ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และควรยืดกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนออกกำลังกายทุกครั้งด้วย
อย่างไรก็ดี แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน การดูแลตัวเองเบื้องต้น ไม่ควรไปกดบริเวณก้อนบ่อยๆ ยังไม่เอายาอะไรไปทาเอง เพราะยังไม่ทราบการวินิจฉัย หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกที่บริเวณดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ หากก้อนโตเร็ว ลุกลาม กดเจ็บ มีเลือดหรือหนองไหลจากก้อน ถือว่าเป็นอาการเสี่ยงที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน เพราะอาจเป็นก้อนเนื้ออย่างอื่นที่ไม่ใช่จุดกดเจ็บหรือเป็นอาการหดเกร็งตามที่เข้าใจก็เป็นได้
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- “ปวดหลังเรื้อรัง” 6 พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “ฝังเข็ม” วิธีรักษาทางกายภาพบำบัดของโรคออฟฟิศซินโดรม