หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ภาวะอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เป็นโรคที่หลาย ๆ คนอาจคิดว่ามักเกิดกับผู้สูงวัยเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่นั้น เพราะภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนวัยหนุ่มสาวเช่นกัน โดยเฉพาะในวัยทำงานที่มักจะมีอิริยาบถที่ผิดปกติ หรือการนั่งนาน ๆ ยืนนาน ๆ ในท่าเดิมจนเกินไป ก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้มีวิธีรักษา หากเรารู้จักและรู้สาเหตุการเกิดของมันอย่างแท้จริง ก็ยิ่งทำให้การรักษาง่ายและตรงจุดมากขึ้น ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง วันนี้ Newton Em Clinic รวบรวมข้อมูลมาฝาก
หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท คืออะไร เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรได้บ้าง?
80% ของบุคคลทั่วไป เชื่อว่าต้องเคยมีอาการปวดหลัง จะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามอายุแต่ก็จะต้องเคยปวดหลังกันมาบ้าง ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการปวดหลังทั่วไป คือ อาจจะมีสาเหตุจากกล้ามเนื้ออักเสบ และเป็นไปได้ทั้งการปวดหลังที่มีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท ซึ่งในกรณีหลังนี้มักเป็นสาเหตุหลักที่นำผู้ป่วยมาพบหมอ
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อันตรายไหม อย่างไร?
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สาเหตุหลักมาจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก จากการใช้งานที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังโดยตรงเป็นระยะเวลานาน ซ้ำๆ กัน เช่น การก้มหลังยกของหนัก การทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ หลังเป็นประจำ อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลังโดยตรงจากการชอบก้มหลังพร้อมบิดตัว หรือแม้แต่ความเสื่อมตามอายุ จนทำให้เกิดจากการฉีกขาดของเส้นใยของหมอนรองกระดูกสันหลัง และจะค่อยๆ ดันตัวและปลิ้นออกมาจนไปกดเบียดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหลัง
ซึ่งในอดีตจะพบโรคนี้ในวัยสูงอายุบ่อย แต่ในปัจจุบันกลับพบมากขึ้นในวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่ยอมลุกขยับไปไหน นั่งอยู่ท่าเดียวตลอดทั้งวัน และพฤติกรรมการนั่งทำงานแบบนี้ จะทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัวจนไปเบียดทับเส้นประสาท
เมื่อกระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัว หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาจนไปเบียดทับเส้นประสาท ก็จะเกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง มีความรู้สึกชาบ่อยๆ บริเวณขา น่อง และเท้า คล้ายเหน็บชา หรือตะคริวถี่ๆ บางครั้งเป็นจนไม่สามารถเดินต่อได้ หนักเข้าอาจรุนแรง อันตรายถึงขั้นกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้าและนิ้วเท้าไม่ขึ้น บางคนก็ควบคุมการขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะได้ลำบากขึ้น
สาเหตุของหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
อย่างที่อธิบายไปแล้วว่าหมอนรองกระดูกทำหน้าที่ในประคองและกระจายแรงในการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังโดยตรง เพราะฉะนั้นปัจจัยเสี่ยงหลักๆ จะเน้นไปในเรื่องการรับน้ำหนักและความเคลื่อนไหวที่รุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้หมอนรองกระดูกแตกปลิ้นออกมา ดังนี้
น้ำหนักตัวมาก
เพราะยิ่งน้ำหนักตัวมาก กระดูกสันหลังก็ต้องรับน้ำหนักมากตามไปด้วย
การใช้งานที่ไม่เหมาะสม
เช่น ก้มหลัง ยกของหนัก เพราะท่าทางเหล่านี้เป็นการเพิ่มแรงดันที่หมอนรองกระดูกค่อนข้างเยอะ ซึ่งอาจจะเกินความทนทานที่หมอนรองกระดูกรับได้ จนกระทั่งเกิดการแตกปลิ้นออกมา
การนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ
พบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน และมักจะมีโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทในบริเวณช่วงเอวมากที่สุด เพราะเวลาที่นั่งนานๆ กระดูกสันหลังส่วนนั้นจะรับน้ำหนักแบบเต็ม ๆ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการเป็นอย่างไร
ถ้าปวดหลังจากสาเหตุหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทแล้วล่ะก็จะเป็นอะไรที่ทรมานมากทีเดียวเพราะจะไม่ได้มีอาการปวดแค่หลังเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามากก็คือ
- อาการปวดจะร้าวลงไปถึงขา อาจจะ 1 ข้างหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้
- จะรู้สึกกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงจนทำให้ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติ
- มีอาการชาของขา 1 หรือ 2 ข้างก็ได้
- มีอาการเดินลำบาก หรือเดินได้ไม่ไกล
และแน่นอนคงรบกวนการใช้ชีวิตประจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นเป็นอย่างมากที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษา
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท รักษาอย่างไรได้บ้าง?
สำหรับภาวะนี้สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน ประกอบด้วย…
1. รักษาด้วยการใช้ยา
การรักษาด้วยการใช้ยาจะเป็นการจ่ายยาตามโรคของผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด, ยาลดการอักเสบ, ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาลดความปวดของระบบประสาท เป็นต้น โดยนอกจากยารับประทานแล้วก็ยังมีทางเลือกหนึ่งคือการฉีดยาระงับปวดลดอาการอักเสบที่เส้นประสาท วิธีนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำ MRI เพื่อหาตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาทอยู่ จากนั้นจะฉีดยาเข้าไปในบริเวณใกล้กับเส้นประสาทที่โดนหมอนรองกระดูกกดทับ โดยใช้เครื่อง X-Ray เป็นตัวบอกตำแหน่ง เพื่อลดอาการปวดและอักเสบของเส้นประสาท
2.รักษาด้วยการผ่าตัด
วิธีนี้จะเกิดขึ้นในกรณีของผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาในสองรูปแบบข้างต้นมาแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ซึ่งรูปแบบการผ่าตัดสำหรับโรคหมอนรองกระดูกที่มีกดทับเส้นประสาทนั้นก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับภาวะอาการของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการวินิจฉัย
3.รักษาโดยไม่ใช้ยา
ซึ่งก็จะถูกแบ่งออกเป็นวิธีย่อย ๆ ได้อีก 2 วิธีด้วยกัน คือ…
- กายภาพบำบัด
การกายภาพบำบัด เช่น การนวด อัลตราซาวด์ การใช้เลเซอร์ รวมไปถึงการทำช็อกเวฟเพื่อคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการปวด นอกจากนี้ยังมีท่ากายบริหารยืดเหยียดและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย
แพทย์จะวิเคราะห์จากการซักประวัติว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง และควรแก้ไขอย่างไร
4 ท่าบรรเทาอาการปวดจากภาวะ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
สำหรับท่ากายภาพบำบัดที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้นั้น ทำได้ไม่ยาก ผู้มีภาวะนี้สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้…
ท่าที่ 1
นอนคว่ำ หันหน้าไปด้านหนึ่ง ทำเป็นระยะเวลาประมาณ 5 นาที และหากมีอาการปวดให้หยุดทำทันที แต่หากไม่มีอาการสามารถทำท่าต่อไปได้
ท่าที่ 2
ตั้งศอก ดันตัวขึ้นลง 5 – 10 ครั้ง ควรทำอย่างช้าๆ และห้ามเกร็งหลัง และหากมีอาการปวดให้หยุดทำทันที แต่หากไม่มีอาการสามารถทำท่าต่อไปได้
ท่าที่ 3
ใช้แขน เหยียดข้อศอก และดันตัวขึ้นลง 5 – 10 ครั้ง ควรทำอย่างช้าๆ ไม่ควรเกร็งหลัง และหากมีอาการปวดให้หยุดทำทันที แต่หากไม่มีอาการสามารถทำท่าต่อไปได้
ท่าที่ 4
ยืน และนำมือทั้ง 2 ข้าง ค่อยๆ ดันบริเวณหลังส่วนล่าง 5 – 10 ครั้ง และควรทำอย่างช้าๆ และหากมีอาการปวดให้หยุดทำทันที แต่หากไม่มีอาการสามารถทำท่าต่อไปได้
ท้ายที่สุด กล่าวโดยสรุปคือ โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทนั้น อาจพูดได้ว่าปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้งานแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหนทางป้องกันที่ดีที่สุดคือการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ เพราะเพียงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระกระดูกสันหลังของเราได้แล้ว
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “ปวดหลังเรื้อรัง” พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “โรคกระดูกสันหลัง” 4 โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
- เครื่องมือกายภาพ 5 แบบมีอะไรบ้างแต่ละแบบรักษาอย่างไร