Thoracic outlet syndrome แขนชา มือชา อาการเล็ก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
Thoracic outlet syndrome หรืออาการชาตั้งแต่ช่วงแขนไปจนถึงมือ ถือเป็นภาวะอาการที่ค่อนข้างอันตราย เนื่องจากอาการปวดแบบเรื้อรังนั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทั้งทำให้เสียสุขภาพและส่งผลในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ทั้งบุคคลทั่วไปและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรมาทำความรู้จักกับเจ้าภาวะอาการนี้ เพื่อที่จะได้รู้เท่าทัน และสามารถป้องกันตนเองได้ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถป้องกันได้จริง ๆ ทุกคนก็จะได้ทราบว่า ควรรักษาโรคนี้อย่างไร เพื่อให้อาการปวดบรรเทาลงและสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ
Thoracic outlet syndrome คืออะไร อันตรายไหม ใครเสี่ยงเป็นโรคนี้บ้าง?
ถือว่าเป็นอาการที่ค่อนข้างแปลกทีเดียวกับภาวะนี้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจไม่สามารถบอกตำแหน่งที่ปวดได้อย่างชัดเจน เพราะมีอาการปวดหลายตำแหน่งพร้อมกัน ที่สำคัญเลยคือมีอาการชามือ และ กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง เป็นต้น โดยอาจเป็นได้ว่า เกิดจากโรค office syndrome กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง กระดูกคอเสื่อม หรือกระดูกคอทับเส้นประสาท และอีกมากมาย แต่มีอยู่อีกโรคหนึ่งที่มักจะไม่ค่อยรู้จักกัน นั่นคือ กลุ่มอาการเส้นเลือดและเส้นประสาทถูกกดรัดที่ทรวงอก ดังนั้นในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับโรค thoracic outlet syndrome (TOS) ว่าคืออะไรกันแน่ และสามารถรักษาอย่างไรได้บ้าง?
กลุ่มอาการ TOS คืออะไร?
TOS หรือกลุ่มอาการทีโอเอส เกิดจากการกดทับของเส้นเลือดและเส้นประสาทบริเวณระหว่างต้นคอกับรักแร้ไปจนถึงด้านหน้าของไหล่และหน้าอก โดยกลุ่มอาการแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
- อาการเกิดกับหลอดเลือด เป็นการบีบรัดจนทำให้เกิดแรงกดที่หลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดดำบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า โดยอาจเกิดเพียงหลอดเลือดเดียวหรือหลายหลอดเลือด
- อาการเกิดกับเส้นประสาท เกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาทระหว่างต้นคอกับรักแร้ไปจนถึงด้านหน้าของไหล่และหน้าอกที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและความรู้สึกของไหล่ แขน และมือ
- อาการเกิดจากสาเหตุคลุมเครือ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณระหว่างต้นคอกับรักแร้โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งแพทย์อาจต้องใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าเพื่อช่วยหาสาเหตุ
ทั้งนี้ TOS สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้ในผู้หญิงอายุ 20-40 ปีเป็นส่วนใหญ่ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน
สาเหตุของกลุ่มอาการ TOS
โดยทั่วไปสาเหตุของกลุ่มอาการทีโอเอสนั้นคือการบีบรัดของเส้นประสาทหรือหลอดเลือด ซึ่งสาเหตุของการถูกบีบรัดจะแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ความผิดปกติทางร่างกายแต่กำเนิด เช่น การมีซี่โครงในกระดูกงอกออกมาแต่กำเนิด
- การได้รับบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่อาจทำให้เกิดการกระทบเทือนจิตใจจนทำให้เส้นประสาทเกิดการบีบรัด
- การทำกิจกรรมเดิม ๆ
- ซ้ำ ๆ เช่น การนั่งใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ รวมถึงนักกีฬาที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ เช่น นักว่ายน้ำ นักเบสบอล
- การตั้งครรภ์ กลุ่มอาการทีโอเอสอาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ครั้งแรก เนื่องจากข้อต่อคลายระหว่างตั้งครรภ์
ปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มอาการนี้ คือ…
- เพศ เพศหญิงมีปัจจัยเสี่ยงต่อกลุ่มอาการทีโอเอสมากกว่าเพศชาย
- อายุ โดยส่วนใหญ่เพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี มักได้รับความเสี่ยงสูง
ลักษณะอาการ
ผู้ป่วยอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่ามีการกดทับบริเวณเส้นประสาทหรือหลอดเลือด ซึ่งหากเกิดการกดทับที่หลอดเลือดก็อาจทำให้มีอาการ ดังต่อไปนี้
- ปวดและบวมที่แขน ซึ่งอาจเกิดจากการกดทับจนทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกแล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตันบริเวณดังกล่าว
- แขนอ่อนแรง หรือตรวจชีพจรไม่พบในแขนข้างที่มีอาการ
- มือและนิ้วเปลี่ยนเป็นสีซีดหรือม่วงคล้ำคล้ายฟกช้ำ
- แขน มือ และนิ้วมือเย็นผิดปกติ
- เกิดอาการเหน็บชาบริเวณนิ้วมือข้างที่มีอาการ
- มีก้อนเนื้อที่มีการเคลื่อนตัวเป็นจังหวะบริเวณใกล้กับกระดูกไหปลาร้า
ส่วนการกดทับที่เส้นประสาทบริเวณคอจะทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ดังนี้
- กล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งลีบลง
- กำมือได้ไม่แน่น เนื่องจากไม่มีแรง
- เกิดอาการชาที่แขนหรือนิ้วมือ
- ปวดบริเวณคอ ไหล่ หรือมือ
ทั้งนี้ หากอาการที่เกิดเริ่มรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอย่างเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดต่อไป
แนวทางการรักษา
โดยปกติแล้ว อาการของ TOS มักไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้วิธีใดในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งในเบื้องต้นหากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมากเกินแพทย์จะให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้นจะเพิ่มแรงกดบริเวณกล้ามเนื้อไหล่ และอาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากโรคนี้ เช่น
- ปรับเปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงานให้เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมประจำวันบางอย่างซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ
- ทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ ซึ่งจะทำให้ลดแรงกดบริเวณกระดูกไหปลาร้าและทำให้อาการดีขึ้น
- ในรายที่มีอาการปวดหรือบวม แพทย์จะให้ใช้ยาควบคู่กันไปเพื่อบรรเทาอาการ โดยยาที่มักใช้คือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบิวพรอเฟน ยานาพรอกเซน
- หากผู้ป่วยมีอาการจากการเกิดลิ่มเลือด แพทย์อาจต้องฉีดสารละลายลิ่มเลือดเข้าไปที่หลอดเลือดดำเพื่อละลายลิ่มเลือดดังกล่าว ซึ่งหลังจากฉีดยาแล้วก็อาจต้องใช้ยาชนิดรับประทานเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดซ้ำด้วย
นอกจากนี้ การฝังเข็มก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัยก่อนรักษาด้วยวิธีนี้เสมอ
อย่างไรก็ตาม หากการรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร หรือไม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด เพื่อนำบางส่วนของกระดูกที่กดทับอยู่ออกไป ซึ่งจะทำให้อาการกดทับหรือบีบรัดหายไป
การรักษาด้วยกายภาพบำบัด
การรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับโรคนี้ จะใช้เวลาประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งแบ่งช่วงการรักษาได้ 3 ช่วงดังนี้
สัปดาห์ที่ 1 – 3
ใช้เทคนิควิธีการรักษาโดยการทำหัตถการเบา ๆ ที่โครงสร้างบริเวณด้านหน้าทรวงอก เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของทรวงอก และกะบังลม การออกกำลังกายที่แนะนำในช่วงนี้ คือ การฝึกหายใจโดยการใช้กะบังลม (relaxation exercise) การออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอมัดลึก (ฝึกเก็บคาง) การปรับท่าทางการทรงท่าให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดการทรงท่าในลักษณะ ไหล่ห่อ หลังค่อม คอยื่น และสอนท่านอนที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับโรค
สัปดาห์ที่ 4 – 6
ช่วงสัปดาห์นี้ยังคงใช้เทคนิคการรักษาทางกายภาพบำบัดคล้ายกับช่วงสัปดาห์แรก แต่จะเพิ่มการยืดกล้ามเนื้อกลุ่มกล้ามเนื้อคอ (กล้ามเนื้อ anterior scalene และกล้ามเนื้อ middle scalene) กล้ามเนื้อหน้าอก (กล้ามเนื้อ pectoralis minor) และเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังส่วนบน และกล้ามเนื้อกระชับข้อไหล่ โดยออกกำลังกายด้วยการเพิ่มแรงต้านเข้าไปได้ในช่วงนี้
สัปดาห์ที่ 7 – 8
ช่วงสัปดาห์นี้จะใช้การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อกลุ่มหน้าอก และกล้ามเนื้อสะบักสมดุลกัน หวังผลให้เกิดการทรงท่าที่ดีขึ้น และมีการฝึกให้ผู้ป่วยเริ่มกลับไปทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้เข้าสู่สภาวะปกติให้ได้มากที่สุด
แนวทางการป้องกัน
สำหรับกลุ่มอาการ TOS นั้นไม่มีวิธีป้องกัน แต่หากเป็นแล้วก็สามารถรักษาให้อาการบรรเทาลงและลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ โดยผู้ป่วยควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันเส้นประสาทเสียหายอย่างถาวร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำด้วยวิธีดังต่อไปนี้
-
- ฝึกนั่งและเดินในท่าทางที่ถูกต้อง
- ควบคุมน้ำหนักให้ไม่เกินมาตรฐาน
- หยุดพักและยืดเส้นยืดสายระหว่างทำงานหรือเรียน
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้อาการแย่ลง เช่น การยกของหนัก การสะพายกระเป๋าหนัก ๆ หรือการเคลื่อนไหวในท่าทางเดิมซ้ำ ๆ
- หากผู้ป่วยมีอาการที่เป็นสัญญาณของการกลับมาเป็น TOS ซ้ำ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
อย่างไรก็ดี ทุกคนจะเห็นว่า อาการของโรคนี้คล้ายกับอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังทั่วไป โรค office syndrome หรือเป็นกลุ่มโรคที่มีการกดทับของรากประสาทบริเวณกระดูกสันหลังระดับคอ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าปล่อยไว้นาน หรือได้รับการรักษาที่ช้าเกินไป ก็ล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อมีอาการเข้าข่ายกับอาการข้างต้นที่กล่าวมาท่านควรรีบไปพบแพทย์ หรือพบนักกายภาพบำบัด เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- ยืดน่อง ลดตึง – 3 ท่ายืด ลดอาการบวมตึงที่น่อง
- น่องตึง บวม เกิดจากอะไรได้บ้าง หากหายแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำหรือไม่?