Tennis Elbow เจ็บบริเวณข้อศอก ใกล้ๆ ปุ่มกระดูก คืออะไร รักษาอย่างไรดี?
Tennis Elbow หรือ อาการปวดบริเวณข้อศอก ที่หลายๆ คนกำลังพบเจออยู่ ซึ่งอาการนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักพบในนักกีฬาที่ต้องใช้กำลังแขนเป็นหลักในการเล่น เช่น นักแบตมินตัน นักเทนนิส นักกอล์ฟ เป็นต้น โดยจะมีอาการเจ็บบริเวณช่วงข้อศอกและลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ดี นอกจากอาการนี้จะส่งผลในการเล่นกีฬาแล้ว ก็ยังสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว นักกีฬาจึงควรทำความรู้จักภาวะเจ็บป่วยนี้ให้มากๆ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตและการเล่นกีฬาของตนเอง
Tennis Elbow คืออะไร อันตรายหรือไม่ รักษาอย่างไรดี?
หนึ่งในอาการที่กวนใจใครหลายคนนั้นก็คือ อาการปวดบริเวณข้อศอก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากจุดเกาะเอ็นและเอ็นบริเวณข้อศอกอักเสบ โดยอาการเกิดจากการใช้งานมือ ข้อมือและข้อศอกมากเกินไป หรือต้องใช้งานในลักษณะเดิมซ้ำไปซ้ำมาทำให้เกิดการอักเสบขึ้น และถึงแม้ว่าอาการเจ็บจะเป็นบริเวณข้อศอก แต่สาเหตุจริงๆ นั้น มาจากการใช้งานมือและข้อมือร่วมด้วย เพราะว่าเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณมือและข้อมือจะมาเกาะที่บริเวณข้อศอกนั้นเอง ส่งผลให้อาการเจ็บไปเกิดขึ้นที่บริเวณข้อศอกนั่นเอง
โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ
โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอกที่รู้จักกันดี มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ได้แก่ โรคข้อศอกเทนนิส หรือ Tennis Elbow และโรคข้อศอกนักกอล์ฟ หรือ Golfer’s Elbow เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้ข้อมือและข้อศอกมาก หรือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา แต่มีการใช้มือเกร็งในท่าซ้ำ ๆ และมีการกระดกข้อมือและเหยียดศอกอยู่เสมอ เช่น การปัดกวาด เช็ดถู การทาสี การตีกลอง การทำผม การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตลอดจนการเล่นกีฬาต่าง ๆ โดยเฉพาะกอล์ฟและเทนนิส
สาเหตุเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ
สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรคเอ็นอักเสบ คือ ภยันตรายต่อเอ็นกล้ามเนื้อ โดยแรงตึงหรือการสะบัด หรือการใช้งานซ้ำๆ มากเกินไป (Overuse Injury) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะบริเวณข้อศอกที่มีการบาดเจ็บระดับเซลล์ หรือถ้ารุนแรงมากก็อาจมีการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อขึ้นได้ แต่ทั้งนี้อาจพบว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็ได้
ลักษณะอาการ
ต้องกล่าวก่อนว่าอาการเจ็บหรือปวดบริเวณตุ่มกระดูกนั้น เป็นเพียงภาวะอาการกว้างๆ เท่านั้น ซึ่งสามารถแบ่งออกมาให้สังเกตได้ง่ายๆ คือ
- อาการปวด เป็นๆ หายๆ ของปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก
- อาจมีอาการปวดร้าวบริเวณหลังแขน ลงไปถึงข้อมือ
- อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลายกของ โดยเฉพาะเวลาคว่ำฝ่ามือทำงาน เช่น กวาดบ้าน ลากของ ผัดกับข้าว
- บางรายอาจมีอาการปวดมาก ไม่สามารถเหยียดแขนได้สุด
ทั้งนี้ อาการปวดดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้ยากลำบาก หรือปวดมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวข้อมือและแขนส่วนล่าง เช่น หยิบจับสิ่งของ จับมือทักทาย ยกของ งอแขน หรือถือถ้วยกาแฟ เป็นต้น ซึ่งอาการของโรคอาจเป็นอย่างต่อเนื่องได้นาน 6 เดือนไปจนถึง 2 ปี
จุดประสงค์ของการรักษา
การรักษาภาวะความเจ็บปวดด้านข้างข้อศอก เป็นการพยายามรักษาหน้าที่และการทำงานข้อศอก ช่วยให้หายปวด หรืออาการปวดดีขึ้น รวมถึงการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้งานข้อศอกได้ดีขึ้นหรือเหมือนเดิมนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการรักษา ผู้ป่วยบางรายต้องการเพียงรักษาให้หายปวดพอที่จะกลับไปทำงานได้ ขณะที่ผู้ป่วยบางคนอยากให้หายปวดและต้องการให้แขนมีความแข็งแรงเหมือนเดิม ซึ่งการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลาย เช่น สภาพของข้อศอกก่อนบาดเจ็บ อายุ ความเรื้อรังของโรค ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการสื่อสารกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันก่อนทำการรักษา
แนวทางการรักษา
การรักษาภาวะ Tennis elbow สามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
การรักษาทางการแพทย์
ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกมาได้ 2 วิธีเบื้องต้น ประกอบด้วย
การรักษาด้วยการผ่าตัดและการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด
โดยมากแพทย์จะเริ่มรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน เช่น การรับประทานยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ประคบ ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ เพื่อฝึกความยืดหยุ่นของข้อ หรือออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายเฉพาะกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ
การใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่
ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาการปวดได้เร็ว แต่ในระยะยาวไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจน ดังนั้นจึงควรต้องพิจารณาใช้เป็นรายๆ ไปเพราะมีผลข้างเคียงของการฉีด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเอ็นเปื่อยจากสเตียรอยด์ ข้อสำคัญของการรักษาอาการปวดข้อศอกให้ได้ผลดี คือการรักษาแบบผสมผสาน ไม่เน้นชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด
การรักษาทางกายภาพบำบัด
สามารถแบ่งย่อยออกมาได้ 2 วิธีเบื้องต้นเช่นกัน ประกอบด้วย
การทำกายภาพบำบัดโดยตรง
เป็นการออกกำลังกายแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อกระตุ้นการทำงานและเสริมสร้างกล้ามเนื้อแขนส่วนล่างให้กลับมาแข็งแรง นักกายภาพบำบัดจะนวดบริเวณที่มีอาการปวดด้วยน้ำแข็ง หรือเสริมการรักษาด้วยวิธีอื่นเป็นระยะ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหายไวมากขึ้น โดยจะมีการตรวจอัลตราซาวด์ด้วย
การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Therapy)
เป็นการใช้คลื่นเสียงพลังงานสูงผ่านเข้าไปที่ข้อศอกหรือบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบาดเจ็บใหม่ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มีปัญหาเกิดกระบวนการซ่อมแซมหรือสร้างเนื้อเยื่อใหม่
อย่างไรตาม หากอาการปวดหรือบวมไม่หายไปหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้นด้วยวิธีต่างๆ แล้ว เช่น รับประทานยาแก้ปวด หรือลองหยุดพักการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้น เป็นต้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะอาการปวดลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- ยืดน่อง ลดตึง – 3 ท่ายืด ลดอาการบวมตึงที่น่อง
- น่องตึง บวม เกิดจากอะไรได้บ้าง หากหายแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำหรือไม่?