shin splint เจ็บหน้าแข้ง หลังวิ่ง ทำอย่างไรดี?
shin splint Syndrome เป็นอาการที่สามารถพบได้ในกลุ่มนักวิ่ง เนื่องจากอาการบาดเจ็บชนิดนี้มักเกิดหลังการฝึกซ้อม โดยอีกเหตุผลที่ว่าทำไมอาการเจ็บหน้าแข้งหรือกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับนักวิ่งก็เพราะ เป็นอาการเจ็บที่จะเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือลงน้ำหนักที่ขา แต่อาการจะหายไปเมื่อพักการใช้งานนั่นเอง แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่านักกีฬาจะไม่กลับมาเจ็บซ้ำอีก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่นักกีฬากรีฑาหรือผู้ที่ชื่นชอบในการออกกำลังกายด้วยการวิ่งต้องรู้จักเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บชนิดนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกับตนเอง
shin splint Syndrome คืออะไร เกิดจากอะไร สามารถเกิดอาการนี้กับนักวิ่งทุกคนหรือไม่?
อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งจะเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือลงน้ำหนักที่ขา แต่อาการจะหายไปเมื่อพักการใช้งาน ส่วนมากจะพบอาการนี้ในผู้ที่มีเท้าแบน ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมในระดับค่อนข้างหนัก เช่น วิ่ง เล่นฟุตบอล เล่นบาสเกตบอล หรือเต้น โดยกลุ่มอาการบาดเจ็บนี้สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งมีวิธีใดบ้างนั้น เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันจากบทความนี้
กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ คือ…
กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ เป็น การบาดเจ็บอีกชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา ซึ่งมีการอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อด้านในของหน้าแข้ง เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนรอบกระดูกหน้าแข้ง จะมีอาการปวดบริเวณหน้าแข้งด้านใน มักพบอาการหน้าแข้งอักเสบในบรรดานักวิ่ง โดยเฉพาะนักวิ่งมาราธอน
สาเหตุของอาการเจ็บหน้าแข้ง
อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งเกิดจากกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มกระดูกในส่วนแข้งถูกใช้งานมากเกินไปจากการทำกิจกรรมซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง จึงมักเกิดกับผู้ที่เปลี่ยนท่าการออกกำลังอย่างกะทันหันหรือออกกำลังกายอย่างหนักต่อเนื่อง เช่น การวิ่งระยะไกลหรือการวิ่งขึ้นเขา นอกจากนี้ การออกแรงมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อบวมและเพิ่มความดันต่อกระดูกจนอาจเป็นสาเหตุของความเจ็บปวดและการอักเสบได้
ลักษณะอาการ
อาการเจ็บหน้าแข้งจากการวิ่ง อาการเจ็บจะเกิดที่สันหน้าแข้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหน้าแข้งด้านใน ส่วนใหญ่จะพบบริเวณตอนล่างของกระดูกหน้าแข้ง ซึ่งบริเวณนี้เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อ Soleus และ Tibialis Posterior ซึ่งควบคุมการบิดข้อเท้าเข้าใน (Inversion) และจิกปลายเท้าลง (Plantar Flexion) หรือหากแบ่งออกเป็นอาการที่สังเกตง่ายๆ ก็สามารถทราบได้จากอาการเหล่านี้
- เจ็บแปลบหรือปวดตื้อบริเวณหน้าแข้ง
- อาการปวดอาจเกิดขึ้นกับขาหนึ่งใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- มักมีปวดหรือกดเจ็บบริเวณด้านในของแข้ง
- มีอาการบวมในระดับไม่รุนแรงบริเวณหน้าแข้ง
- ปวดมากขึ้นเมื่อออกแรงหรือทำกิจกรรมที่ขา
- อาจมีอาการเท้าชาและอ่อนแรงร่วม
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่ออาการหน้าแข้งอักเสบ
แม้จะเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นในนักวิ่ง แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดกับทุกคน เนื่องจากอาการหน้าแข้งอักเสบจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักวิ่งเหล่านั้นมีพฤติกรรมเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- เป็นผู้ที่เพิ่งเริ่มวิ่งใหม่ๆ
- ผู้ที่เร่งการซ้อมมากเกินไป
- การวิ่งบนพื้นแข็งหรือใส่รองเท้าที่พื้นรองรับเท้าแข็ง
- คนที่ชอบวิ่งเขย่งปลายเท้า หรือยกส้นเท้าให้ลอยตลอดเวลา
- คนที่มีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ เช่น เท้าแบน (Flat Foot) เท้าคว่ำบิดออกนอก (Excessive or Over of Pronation)
แนวทางการรักษา
สำหรับแนวทางการรักษาภาวะอาการนี้ สามารถแบ่งออกได้ 2 ทางด้วยกัน คือ
1.แบบผ่าตัด
สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการก่อนในเบื้องต้น จากนั้นแพทย์จะพิจารณาทำการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้นอื่นๆ แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าจะช่วยในการรักษาอาการ Shin Splints ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.แบบไม่ผ่านการผ่าตัด
- ยืดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นให้คลายออกไปตามแนวกล้ามเนื้อขาช่วงล่าง เพื่อช่วยให้อาการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งดีขึ้น
- ยกขาสูงด้วยการวางขาไว้บนเก้าอี้ในความสูงระดับสะโพกขณะนั่ง หรือวางหมอนไว้ใต้ขาขณะนอนหลับ วิธีการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดอาการบวมได้
- หยุดทำกิจกรรมที่ต้องใช้งานบริเวณขาส่วนล่าง เนื่องจากอาการ Shin Splints มีสาเหตุมาจากการใช้งานขาที่มากเกินไป โดยอาจลดความหนักในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้อวัยวะส่วนดังกล่าวให้น้อยลง แต่ไม่ควรหยุดทำกิจกรรมทั้งหมด
- ประคบน้ำแข็งครั้งละ 15-20 นาที สามารถทำได้หลายครั้งใน 1 วัน แต่ไม่ควรให้ผิวหนังสัมผัสโดนกับน้ำแข็งโดยตรง
- รับประทานยาต้านอาการอักเสบในกลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการปวดและบวม เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน หรือยานาพรอกเซน เป็นต้น
- เลือกใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อช่วยลดแรงกดในบริเวณหน้าแข้ง เช่น การใช้ผ้ารัดข้อเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้อาการบวม เป็นต้น
วิธีป้องกันดูแลรักษาเมื่อกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ
- เมื่อมีอาการปวดควรหยุดพัก ประคบเย็น พันกระชับด้วยผ้ายืด และการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวด
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อขาด้านล่างอย่างสม่ำเสมอ
- ฝึกวิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรเพิ่มระยะอย่างรวดเร็ว
- สวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมและพอดีเท้า
- คนที่มีปัญหาเท้าแบน การใส่ส้นรองเท้าเสริมด้านในรองเท้าสามารถช่วยลดแรงบริเวณหน้าแข้งได้ หรือสามารถปรึกษาผู้ชำนาญการทางด้านกระดูกเพื่อตัดรองเท้าพิเศษที่เหมาะกับเท้า
- อาการปวดบริเวณหน้าแข้งควรหายไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนกลับมาวิ่งอีกครั้ง
อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ทำการรักษา?
ผู้ป่วยที่มีอาการแข้งอักเสบ อาจเกิดภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงเนื่องจากการวิ่งและการฝึกซ้อมอย่างหนัก บางรายอาจเกิดกระดูกหักล้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อกระดูกได้ หรือหากผู้ป่วยมีอาการเดิมซ้ำๆ อาจกลายเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังได้
นอกจากนี้หากวิ่งแล้วมีอาการชาที่ขาหรือเท้า เมื่อขยับนิ้วเท้าแล้วปวดขาอย่างรุนแรง อาจเป็นอาการของเส้นประสาทขาถูกกดทับ เนื่องจากความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบพบแพทย์ทันที หากปล่อยไว้จนกล้ามเนื้อและเส้นประสาทขาดเลือด อาจต้องสูญเสียอวัยวะ และไม่สามารถวิ่งได้อีกต่อไป
ท้ายที่สุด หากหลังจากการรักษา คนไข้ไม่เกิดอาการเจ็บแล้ว ก็สามารถใส่โปรแกรมการวิ่งเข้าไปได้ แต่ต้องค่อยๆ เพิ่มระยะทางและความเร็วทีละน้อย แนะนำให้ลองวิ่งบนพื้นนุ่มๆ เช่น สนามหญ้า พื้นยาง หรือ Treadmill ก่อน หากไม่มีอาการเจ็บ จึงค่อยกลับไปวิ่งบนพื้นที่เราคุ้นเคย
การตัดสินใจว่าจะสามารถกลับไปวิ่งระยะไกลได้เมื่อใดนั้นต้องดูจากอาการ หากอาการเจ็บยังคงเรื้อรัง พักแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเจ็บมากขึ้นถึงขั้นลงน้ำหนักไม่ได้ อาจเป็นเพราะอาการของกระดูกร้าวแบบสะสม (Stress Fracture) ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจรักษาขั้นต่อไป
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- ยืดน่อง ลดตึง – 3 ท่ายืด ลดอาการบวมตึงที่น่อง
- น่องตึง บวม เกิดจากอะไรได้บ้าง หากหายแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำหรือไม่?