กายภาพบําบัด หลังผ่าตัดข้อเข่า 6 ท่ากายบริหารง่าย ๆ ช่วงฟื้นฟู
“กายภาพบําบัด หลังผ่าตัดข้อเข่า” ถือว่าเป็นเทคนิคสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยนั้นสามารถฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาทำงานอย่างปกติได้รวดเร็วมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งแม้ว่าอาการบาดเจ็บหรือภาวะผิดปกติบางอย่างของข้อเข่านั้นจะถูกแก้ไขจากการผ่าตัดแล้ว แต่ก็ใช่ว่าทุก ๆ คนจะสามารถใช้งานหัวเข่าได้ทันทีหลังการผ่าตัด มิหนำซ้ำหากดูแลไม่ถูกต้องอาจส่งผลเสียมากกว่าเดิม ดังนั้น การเลือกดูแลตนเองด้วยเทคนิคทางกายภาพบำบัดหรือการทำกายบริหารแบบง่าย ๆ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยให้ดีขึ้นนั่นเอง
กายภาพบําบัด หลังผ่าตัดข้อเข่า ฟื้นฟูอาการหลังผ่าตัด ให้ไวขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องใช้วิธีไหน?
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า แม้ว่าความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจะถูกแก้ไขแล้ว แต่แน่นอนว่าหลังการผ่าตัดทุกคนย่อมอยากที่กลับมาใช้ชีวิตและใช้งานข้อเข่าได้อย่างปกติ นอกจากการดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำแล้ว การฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดก็มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานข้อเข่าอย่างปกติได้เร็วขึ้น
ซึ่งท่าบริหารหลังการผ่าตัดจำเป็นต้องเป็นท่าที่เหมาะสม เนื่องจากยังมีอาการการเจ็บจากการผ่าตัดอยู่เพื่อความปลอดภัยในการเคลื่อนไหว ซึ่งแพทย์และนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้เข้ามาดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดอย่างใกล้ชิด ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าท่ากายบริหารและการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดเข่ามีแบบไหนที่สามารถช่วยให้อาการหลังผ่าตัดของเข่าฟื้นฟูได้ไวขึ้น
ไขข้อสงสัย! การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด สำคัญอย่างไรต่อผู้ป่วยกระดูกและข้อในส่วนต่าง ๆ
เมื่อคนไข้เจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกและข้อไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลัง กระดูกแขน ขา ข้อเข่า หรือส่วนใดก็ตาม สิ่งที่คนไข้จะต้องเผชิญก็คือความเจ็บปวด ไม่สุขสบายก่อนผ่าตัด และหลังจากผ่าตัดไปแล้ว การใช้งานกระดูกและข้อบริเวณนั้น ๆ ก็จะมีประสิทธิภาพต่ำลง ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม การทำงานของข้อเข่าและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อก็จะด้อยประสิทธิภาพลง รวมถึงยังมีเรื่องความเจ็บปวดหลังผ่าตัดรบกวนด้วย ซึ่งบทบาทของการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดกระดูกและข้อนั้น มีจุดประสงค์หลัก ๆ นั่นก็คือการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดหลังผ่าตัด และช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวจนหายกลับมาเป็นปกติให้เร็วที่สุด โดยที่ไม่ต้องใช้ยาเป็นจำนวนมากจนอาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียง
นอกจากนั้น การทำกายภาพบำบัดก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยทำให้เป้าหมายการรักษาสูงสุดของคนไข้มีโอกาสเป็นจริงได้มากขึ้นด้วย เช่น คนไข้อยากกลับมาเดินได้ จนถึงขั้นไปปีนเขาไปเดินป่าได้เหมือนก่อนเจ็บป่วย การทำกายภาพบำบัดก็จะเป็นกระบวนการสำคัญที่จะนำพาคนไข้ไปบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่เสี่ยงบาดเจ็บซ้ำเดิม ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดร่างกายที่มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติอาจกินเวลาที่นานและอาจทำให้ฟื้นตัวช้า กว่าปกติ และในขณะเดียวกันประสิทธิภาพของการฟื้นตัวนั้นก็อาจไม่ได้สมบูรณ์ตามเป้าหมาย 100%
กายภาพบำบัดหลังผ่าตัด ฟื้นฟูจากการผ่าตัดเข่า วิธี ดูแล หลังผ่าตัด เข่า ด้วยการทำกายภาพฯ มีวิธีไหนบ้าง?
ต้องบอกก่อนว่า ในทุก ๆ ระดับของการบาดเจ็บควรจะต้องให้ยา ลดปวด จำพวก Analgesics เช่น paracetamal ยากลุ่ม NSAIDS เพื่อลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ (tissue inflammation)
การกายภาพบำบัดอันได้แก่…
- การประคบด้วยความร้อน
- การเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหว
- การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่า
- การบริหารกล้ามเนื้อเมื่ออยู่ในเฝือก
อย่างไรก็ตามหลังจากการผ่าตัด โดยปกติแล้ว แพทย์จะอยากให้คนไข้ลุกขึ้นนั่ง ขยับตัว หรือทำกายภาพให้ได้เร็วที่สุดเมื่อสัญญาณชีพเป็นปกติ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นการทำกายภาพบางอย่างก็อาจจะไม่ต้องใช้นักกายภาพบำบัดก็ได้ แต่ผู้ป่วยสามารถทำได้เองทันที เช่น การขยับมือ ขยับขา หรือข้อต่อที่ไม่ได้มีการผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งในระยะแรกการพยายามขยับข้อ การพยายามลุก นั่ง หรือขยับตัวนี้ จะช่วยลดโอกาสการเกิดการถดถอยจากการนอนนาน หรือการติดเตียงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดในบริเวณแผลผ่าตัดได้เช่นกัน
6 ท่ากายภาพบำบัดฟื้นฟูเข่าหลังการผ่าตัด แบบง่าย ๆ ที่ผู้ป่วยก็ทำได้เอง!!
สำหรับท่ากายบริหาร
1.Straight Leg Raise
- นอนหงาย เหยียดขาตรง
- เกร็งกล้ามเนื้อขาข้างที่บริหาร กระดกข้อเท้า ยกขาขึ้นสูง (เข่าเหยียดตรงตลอดช่วงการเคลื่อนไหว)
- วางขาลงกลับสู่ท่าเริ่มต้น
**ทำช้าๆ ท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2-4 รอบ**
2.Heel Slides
- นอนหงายขาเหยียดตรง
- งอเข่าเข้าหาลำตัว โดยลากปลายเท้ามาชิดกัน (ส้นเท้าติดพื้นตลอดการเคลื่อนไหว)
- เหยียดขากลับสู่ท่าเริ่มต้น
**ทำช้าๆ ท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2-4 รอบ**
3.Ankle Pump
- นอนหงาย
- นำหมอนมารองขาให้สูง
- กระดกข้อเท้าขึ้นและลง
**ทำช้าๆ ท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2-4 รอบ**
4.Sitting Knee Extension
- นั่งข้างเตียงหรือนั่งห้อยขาบนเก้าอี้ หนีบลูกบอลเอาไว้ระหว่างเข่า
- เตะขาไปทางด้านหน้า เกร็งกล้ามเนื้อขาเอาไว้
- เข่าเหยียดตรงให้ได้มากที่สุดด้วยกำลังขาของตนเอง
- ค้างไว้ 10-20 วินาที หรือเท่าที่ทนไหว
- งอเข่ากลับสู่ท่าเริ่มต้น
**ทำช้าๆ ท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2-4 รอบ**
5.Knee Press
- นอนหงาย
- ม้วนผ้าขนหนูรองเอาไว้ใต้ข้อเท้า
- เกร็งกล้ามเนื้อต้นขากดเข่าลงติดเตียง
**ทำช้าๆ ท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2-4 รอบ**
6.Bridging
- นอนหงาย ชันเข่าทั้งสองข้างขึ้นหนีบลูกบอลเอาไว้ระหว่างเข่า
- ยกสะโพกขึ้น
- ค้างเอาไว้ 10-20 วินาที หรือเท่าที่ทนไหว
**ทำช้าๆ ท่าละ 10-20 ครั้ง วันละ 2-4 รอบ**
ทั้งนี้ การกลับมาใช้ชีวิตหลังการผ่าตัดนั้นในช่วงแรกๆ เราจะต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ การทำกายภาพบำบัดหรือกายบริหารในท่าที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นการช่วยฟื้นฟู เสริมสร้างความแข็งแรง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรทำกายบริหารให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือทำให้เหมาะสมกับระดับอาการของตนเองอยู่เสมอ เพื่อการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “ปวดหลังเรื้อรัง” พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “โรคกระดูกสันหลัง” 4 โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
- เครื่องมือกายภาพ 5 แบบมีอะไรบ้างแต่ละแบบรักษาอย่างไร