นวดต้นคอ อันตราย มั้ย ควรนวดอย่างไรไม่ให้เกิดผลข้างเคียง?
นวดต้นคอ อันตราย มั้ย ? หากพูดถึง คอ นั้น ถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายของเรามากๆ เพราะนอกจากจะต้องคอยรับน้ำหนักของศีรษะรวมคอ ที่ถือว่าเป็น 10% ของน้ำหนักตัวแล้วก็ยังต้องคอยทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวในทุกๆ อิริยาบถของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ก้ม เงย เอี้ยว และหมุนตัว จึงไม่แปลกนักที่หลาย ๆ คนจะมีปัญหาการปวดคอหรือบริเวณใกล้เคียง เพราะต้องถูกใช้งานอยู่ตลอดนั่นเอง ซึ่งเมื่อเกิดอาการปวด แน่นอนว่าแนวทางการบรรเทาที่ทุก ๆ คนจะเลือกก็คือ การนวด แต่การนวดนั้นแม้จะบรรเทาอาการปวดได้จริง แต่ก็มีความเสี่ยงตามมาได้เช่นกัน
นวดต้นคอ อันตราย มั้ย
“ปวดต้นคอ” เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนและหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับการทำงานในสำนักงาน หรือเรียกว่าอาการ ออฟฟิศซินโดรม และอาชีพที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งต้องแบกหรือยกของหนักๆ ซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้ง จึงอาจเกิดการกดทบกล้ามเนื้อบริเวณหลังต้นคอและอาจลุกลามไปถึงแขนด้วยนั่นเอง ซึ่งอาการเช่นนี้อาจหายเองได้ภายใน 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจเกิดอาการเรื้อรัง
สาเหตุของการปวดคอ
เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่ไม่สมดุลหรือไม่เหมาะสม จนมีอาการปวดบริเวณคอ สะบัก หรือปวดหลัง เป็นๆ หายๆ สาเหตุมักเริ่มต้นมาจากกล้ามเนื้ออักเสบ ส่วนใหญ่อาการปวดมักดีขึ้นภายใน 1 เดือน เมื่อหยุดการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด รับประทานยา นวด ฝังเข็ม หรือทำกายภาพบำบัด อย่างไรก็ตามหากไม่มีการปรับท่าทางระหว่างการทำงาน หรือเกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นจะมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังตามมาจนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง
ลักษณะอาการ
อาการปวดคอนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายอาการ เช่น
1. กลุ่มอาการปวดคออย่างเดียว
จะรู้สึกปวดตั้งแต่ต้นคอมาจากถึงบ่าและสบัก และเป็นอาการที่รักษาง่ายที่สุดในหลายๆ อาการ ซึ่งโดยทั่วไปสามารถหายได้เองหรือดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
2.กลุ่มอาการที่ปวดเพราะความเสื่อมของกระดูกและการกดทับเส้นประสาท
การเสื่อมตัวของหมอนรองกระดูกคอทำให้เกิดการทรุดตัว ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างกระดูกแคบลงและเกิด กระดูกงอก หรือ หินปูนเกาะ ในที่สุด
3.อาการปวดชาร้าวลงแขน
จะมีอาการปวดร้าวและชาจนถึงสบัก แขน ไปจนถึงปลายมือ โดยถ้าหากเป็นมากจะทำให้อ่อนแรง ยกไหลไม่ขึ้น และทำกิจกรรมประจำวันลำบากมากขึ้น
อาการ “ปวดต้นคอ” แบบนี้ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
แม้จะมีภาวะอาการปวดเพียงเล็กน้อย แต่ต้องบอกก่อนว่าเป็นเพียงอาการเริ่มต้นเท่านั้น เพราะอาการปวดต้นคอยังสามารถนำมาซึ่งโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้ เช่น…
- โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม อาจมีกระดูกงอกแล้วเบียดทับเส้นประสาท
- โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทที่จะไปเลี้ยงแขน
- เกิดจากการเสื่อมของกระดูกบริเวณต้นคอ เนื่องจากมีอายุมากยิ่งขึ้น
- เกิดจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับบริเวณคอโดยตรง เช่น รถชน ถูกต่อย ฯลฯ
ไขข้อสงสัย นวดที่ต้นคอ อันตรายมั้ย ทำไมจึงควรระวังเป็นพิเศษ?
เมื่อมีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บ่า หรือไหล่ หลาย ๆ คนมักจะเลือกรักษา โดยการนวดเป็นลำดับแรก ซึ่งถึงแม้ว่าเทคนิคการนวดต่าง ๆ ทั้งการบีบนวด เค้น บิด เอียง หรือดัดต้นคอนั้น จะสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ แต่หากทำผิดวิธี ก็อาจเสี่ยงกับการทำให้เกิดโรคอัมพาตได้เช่นกัน
ซึ่ง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ดังกล่าว เกิดจากการที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เกิดการอุดตัน ตีบ หรือแตก ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหต เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง แต่สำหรับการนวด หรือดัดกระดูกบริเวณคอนั้น มีโอกาสทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองบาดเจ็บ หรือฉีกขาดได้
เส้นเลือดที่มาเลี้ยงสมองของเรา จะแบ่งเป็น คู่หน้า และคู่หลัง ซึ่งคู่หน้าจะวิ่งผ่านด้านหน้าของกระดูกต้นคอ ส่วนคู่หลังจะวิ่งติดกับกระดูกต้นคอขึ้นไปทางด้านหลัง ดังนั้น เส้นเลือดคู่หลังนี้จึงมีการขยับไปด้วยเวลาหมุนคอ การนวดจัดกระดูกต้นคอที่ผิดท่า หรือการบิดเอียง สะบัดคอที่รุนแรง หรือแม้แต่การกดนวด บีบเค้น ก็ทำให้หลอดเลือดไปกระแทกกับกระดูก ทำให้หลอดเลือดสมองบาดเจ็บ หรือฉีกขาดได้ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ลดลง เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา
สาเหตุอื่น ๆ ที่คล้ายกับการบิด นวดต้นคอ ที่ทำให้หลอดเลือดได้รับบาดเจ็บได้เช่นกัน เช่นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีการแทกของกระดูกต้นคอ การเอียงคอในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ หรือการเหวี่ยงศีรษะอยากรุนแรง การเล่นเครื่องเล่นบางชนิด เช่น roller coaster นั่นเอง
แนวทางการรักษาอาการปวดต้นคอที่ปลอดภัย
สำหรับแนวทางในการรักษาภาวะอาการปวดต้นคอนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น…
ปรับพฤติกรรม ลดการก้มเงย
ปรับเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถ เพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
ทานยาแก้ปวด
โดยแพทย์จะให้ยาจากการประเมินจากความรุนแรงของอาการเป็นหลัก หากมีอาการปวดต้นคอไม่รุนแรงมาก อาจบรรเทาได้ด้วยการทานยาพาราเซตามอล แต่หากอาการปวดนั้นมีสาเหตุจากการอักเสบรุนแรง แพทย์อาจให้ยาลดการอักเสบร่วมด้วย อย่างไรก็ตามการรับประทานยาควรทานตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
กายภาพบำบัด
ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงจนขยับคอลำบาก อาจต้องกระตุ้นกล้ามเนื้อโดยการประคบร้อน ประคบเย็น และการดึงคอ รวมถึงการบีบนวดที่ถูกวิธีก็ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อคอได้ นอกจากนี้ควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดเรื้อรังด้วย
ผ่าตัดกระดูกคอ แทนด้วยหมอนรองกระดูกเทียม ด้วยกล้องไมโครสโคป แผลเล็ก
เป็นวิธีที่มีความเสี่ยง และจะใช้รักษาในผู้ที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง เนื่องจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผลแล้ว
ท่าบริหารง่าย ๆ สำหรับบรรเทาอาการปวดคอ นวดอย่างไรให้ปลอดภัย มาดูกัน!!
เมื่อเกิดอาการปวดที่ต้นคอ ผู้ประสบปัญหาสามารถทำกายบริหารง่าย ๆ ได้ ดังนี้…
ท่ายืดกล้ามเนื้อคอ
ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อคอด้านข้าง และกล้ามเนื้อไหล่ เริ่มจากนั่งสบาย ๆ บนพื้นหรือเก้าอี้ แล้วยกแขนขวาโอบไปจับที่หูข้างซ้าย แล้วค่อย ๆ เอียงคอไปทางขวาจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคอตึง แล้วค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที จากนั้นเปลี่ยนสลับข้างอีก 5-10 ครั้ง
ท่าจับศอก
ท่านี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบคอ ไหล่ แขน เริ่มจากยกมือข้างหนึ่งไปแตะบริเวณหัวไหล่ แล้วยกมืออีกข้างไปแตะที่ข้อศอก ยืดหลังตรงจากนั้นพยายามดึงจนรู้สึกตึง ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำสลับข้างซ้ายขวา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการปวด คอ บ่า หรือไหล่ เป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าอาการปวดคอดังกล่าวมีสาเหตุมาจากสาเหตุใด เพราะส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าอาการที่เป็นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งกว่าจะรู้ว่าอาการรุนแรงก็อาจสายไป ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตตนเองและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า การนวดบริเวณคอ เป็นการนวดในบริเวณที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่อยู่ โดยหลอดเลือดแดงใหญ่นี้จะทำหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงที่สมอง หากว่ามีการกดไปที่บริเวณนี้นานเกินไปก็อาจส่งผลให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ ซึ่งยังส่งผลให้เกิดอาการเป็นลมหรือหมดสติตามมาได้ด้วย ดังนั้น ผู้ประสบปัญหาปวดหลังคอบ่อย ๆ ควรเข้ารับการนวดกดจุดกับแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ หรือเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้อาการเช่นนี้กลับมาเป็นอีก
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- ยืดน่อง ลดตึง – 3 ท่ายืด ลดอาการบวมตึงที่น่อง
- น่องตึง บวม เกิดจากอะไรได้บ้าง หากหายแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำหรือไม่?