ปวดคอบ่าไหล่ กินยาอะไร กินพาราแล้วจะหายหรือเปล่า?
ปวดคอบ่าไหล่ กินยาอะไร? คำถามที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วในปัจจุบัน เพราะเรียกได้ว่ากลายเป็นโรคยอดฮิตไปแล้วก็ว่าได้ ซึ่ง คอ บ่า ไหล่ เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เราใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กกันเป็นเวลานาน และไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมหลาย ๆ คนจึงอยากหายามารับประทาน
ปวดคอบ่าไหล่ กินยาอะไร ดี อยากบรรเทาอาการปวดแบบเบื้องต้น ควรเลือกกินยาชนิดไหน?
พฤติกรรมชวนปวดคอ บ่า ไหล่ ที่พบเห็นได้ทั่วไป อย่างเช่น การนอนคว่ำเป็นประจำ นอนหมอนสูงเกินไป การสะบัดคอ สะบัดผม การใช้งานคอกับไหล่เป็นเวลานานเกินไป เช่น การใช้คอกับบ่าหนีบโทรศัพท์ หรือเล่นเครื่องดนตรีที่ต้องใช้บ่าหรือคอ การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ด้วยท่าทางไม่เหมาะสม หรืองานที่ต้องเกร็งไหล่ทั้งสองข้าง อยู่ในอิริยาบถของคองุ้ม ไหล่งุ้ม ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้ ถ้าสะสมระยะเวลานานๆ โดยไม่แก้ไขนั้น จะทำให้เกิดอาการปวด และอาจเกิดโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามมา
สาเหตุของอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลักๆ ดังนี้ คือ
- การใช้กล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่มากเกินไป โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนท่าทางเลย การอยู่ในท่าเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานานๆ ตลอดทั้งวัน
- การใช้ท่าทางที่ผิด ซึ่งโดยปกติแล้ว ร่างกายไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ในการหิ้ว หรือยกอะไรที่หนักเกินไป เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือมือเดียว ใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวด คอ บ่า ไหล่
ปัจจัยสำคัญคือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ลักษณะการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น เก้าอี้อยู่เตี้ยเกินไป โต๊ะอยู่สูงเกินไป ทำให้ผู้ใช้ต้องกางไหล่ เมื่อกางไหล่มากเกินไป กล้ามเนื้อใช้ก็จะเกิดการอักเสบ ส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณบ่า การก้มที่มากเกินไป อย่างอาชีพนักประชาสัมพันธ์ที่ต้องก้มมองจอมอนิเตอร์ที่พื้น หรือบางกรณีที่ต้องมองจอมอนิเตอร์ที่แขวนอยู่บนผนัง ก็เป็นการใช้กล้ามเนื้อคอที่มากเกินไป การใช้กล้ามเนื้อที่มากเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหด เกร็งตัว และกลายเป็นก้อนเกร็งของมัดกล้ามเนื้อ อาการปวดคอ บ่า ไหล่ในคนกลุ่มนี้ก็จะรักษาไม่หายขาด คนไข้จะมีอาการจะเป็น ๆ หายๆ และสุดท้ายคนไข้ก็จะมาด้วยอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งจะมีผลต่อภาวะจิตใจด้วย ทำให้หงุดหงิด นอนไม่หลับ มีปัญหาความเครียดและความกังวลตามมา นอกจากนี้ ในคนที่มีอาการปวดและร้าว หรือมีอาการชาลงแขน คนไข้กลุ่มนี้จำเป็นจะต้องรีบมาพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายอื่นๆ ตามมา เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง ดังนั้น ถ้าใครที่มีอาการกระดกข้อมือไม่ได้ จากที่เคยเซ็นชื่อได้กลับเซ็นไม่ได้ มืออ่อนแรง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
อาการปวดคอ บ่า ไหล่ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มอาการทั่วไป
สาเหตุเกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น (คิดเป็นร้อยละ 80) เกิดจากกล้ามเนื้อมีความเมื่อยล้าจากการใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ
กลุ่มอาการกดทับของเส้นประสาท
พบไม่บ่อยมากแต่ลักษณะอาการรุนแรง มีอาการปวดรุนแรง ตึง ร้าวลงแขน หรือมีอาการชาร่วมด้วย
อาการกดทับของไขสันหลัง
รุนแรงที่สุดแต่พบน้อยมาก (ร้อยละ 1-2%)
สาเหตุของอาการปวด แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามลักษณะอาการ
- การปวดแบบเฉียบพลัน หรืออาการกล้ามเนื้อยอก เคล็ด อาการที่พบได้บ่อยๆ เช่น นอนตกหมอน ลักษณะของอาการคือกล้ามเนื้อมีการตึง เกร็ง หันคอได้ลำบาก เป็นต้น
- ปวดแบบกึ่งเฉียบพลัน หรือกลุ่มเรื้อรัง เป็นกลุ่มคนไข้ที่มีประวัติของอาการปวดคอ ปวดกล้ามเนื้อมาก่อน ลักษณะของอาการเกิดขึ้นแบบเป็นๆ หายๆ เกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนักเป็นเวลานานๆ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ไม่เพียงพอ ทำให้กลับมาเป็นได้อีก พบมากในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ
วิธีรักษาอาการปวดคอ บ่า ไหล่ โดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาและฟื้นฟูคนไข้ที่มีความผิดปกติด้านโรคระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ ทั้งยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตให้กลับมามีชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สำหรับอาการปวดคอ บ่า ไหล่ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะประเมินว่ากล้ามเนื้อที่มีอาการปวดนั้นเป็นกล้ามเนื้อมัดไหน และจะวางแผนการรักษาแบบใด อย่างเช่น
การรักษาทางกายภาพบำบัด
จะใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดหลายอย่าง เช่น อัลตร้าซาวนด์ ซึ่งเป็นความร้อนลึก, เลเซอร์ที่มีความแรงสูง ช่วยให้รักษาระดับลึกและมีประสิทธิภาพดีขึ้น และการใช้ Shock Wave (คลื่นกระแทก) ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่จะเลือกเครื่องมือทำกายภาพบำบัดให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
การฝังเข็ม
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะมีเครื่องมือในการรักษาหลากหลาย เช่นการฝังเข็มแบบตะวันตก ซึ่งเป็นการฝังเข็มเฉพาะที่เพื่อลดอาการปวด
จ่ายยาเพื่อรักษา
หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะจ่ายยาหลายกลุ่มทั้งยาที่ลดอาการปวด หรือในบางคนที่มีอาการปวดเรื้อรังก็อาจต้องใช้ยากลุ่มอื่นเพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นการจ่ายยาตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี
ปวดคอ บ่า ไหล่ กินยาอะไรดีให้บรรเทาอาการปวด?
ได้แก่ ยาลดปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และหลัง รวมถึงลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นมากน้อยเพียงใด โดยยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อที่สามารถรับประทานได้ หลัก ๆ จะมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้…
1.ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
ยาพาราเซตามอลออกฤทธิ์บรรเทาอาการปวดได้ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง เป็นยาสามัญประจำบ้านที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มักเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจของผู้ป่วยส่วนใหญ่เวลาปวดหัว มีไข้ และครั่นเนื้อครั่นตัว
2.ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxant)
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ออกฤทธิ์ช่วยลดการตึงตัว หดเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุก หรือตามภาษาชาวบ้านเรียกรวมๆ ว่าอาการเส้นตึง เนื่องจากเวลาให้หมอนวดแผนโบราณจับเส้นกดจุดจะสัมผัสได้ว่ากล้ามเนื้อแข็งตึงและหดเกร็ง นั่นเอง
3.ยาแก้อักเสบ (NSAID, Non-steroidal anti inflammatory)
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อในระดับปานกลางถึงรุนแรง ออกฤทธิ์ลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย หลังเกิดอุบัติเหตุมีแผลฟกช้ำ ปวดบวม หรืออาการเส้นเอ็นอักเสบ ข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม และยังสามารถใช้ลดไข้ แก้ปวดศีรษะ และอาการปวดประจำเดือนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะปวด คอ บ่า ไหล่ นั้นสามารถพบได้มากในคนวัยทำงานที่ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก ใช้งานผิดท่า หรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ จึงมีอาการปวดและรู้สึกช้ำไปหมดทั้งตัว จนต้องใช้ยาแก้ปวดต่าง ๆ ช่วยบรรเทาอาการปวด ซึ่งยา 3 ชนิดที่กล่าวมาสามารถช่วยลดปวดในระดับที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลางที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ไม่สามารถลดปวดที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้ ดังนั้น หากมีอาการที่ปวดรุนแรงหรือเรื้อรังเกินที่จะรับประทานยาแล้ว ผู้ประสบปัญหาควรเข้าพบแพทย์หรือนักกายภาพเฉพาะทางเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป ——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- “ปวดหลังเรื้อรัง” 6 พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “ฝังเข็ม” วิธีรักษาทางกายภาพบำบัดของโรคออฟฟิศซินโดรม