เส้นตึงเกิดจากอะไร เกิดบริเวณไหน นวดหายได้หรือเปล่า?
เส้นตึงเกิดจากอะไร เป็นอาการที่หลายๆ คนกำลังประสบอยู่ แต่ยังคงสงสัยและหาคำตอบที่ตายตัวไม่ได้สักทีว่าสาเหตุของอาการเส้นตึงเกิดมาจากอะไรกันแน่ เพราะไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การออกกำลังกาย อิริยาบถในชีวิตประจำวัน ก็ดูเหมือนว่าจะกลายเป้นสาเหตุของภาวะอาการนี้ไปเสียหมด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ ที่เราต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการนี้ให้ได้ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและถูกจุดที่สุดนั่นเอง
เส้นตึงเกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะหาย
เรียกได้ว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบในคนวัยทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อภาวะอาการนี้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ การนั่งจ้องหน้าจอคอมตลอดเวลา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสาเหตุหลักๆ ของอาการเกร็งตัวของเส้นเอ็นเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ดี นอกจากพฤติกรรมดังกล่าวก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เส้นเอ็นเกิดการตึงตัว สาเหตุที่ว่านั้นจะมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบกัน
เส้นตึง เส้นยึด คือ…
เส้น หมายถึง เส้นเอ็น ที่ยึดระหว่างข้อกับกล้ามเนื้อ ซึ่งมีอยู่ทุกส่วนของร่างกาย แต่เส้นที่ยึดกันส่วนใหญ่ มักเป็นเส้นเอ็นระหว่างสะโพกที่เกาะจากสะโพกไปข้อเข่า เส้นเอ็นข้างข้อเข่า เส้นเอ็นต้นคอ เส้นหลัง และส่วนมาก 80% เส้นที่สามารถตึงตัวได้บ่อย คือ เส้นเอ็นบ่า หรือที่มักเรียกกันว่า สะบักจม
ยึด คือ เส้นยึด ที่ทำให้อาการที่เส้นเอ็นเกิดการตึงตัว เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดรั้ง ขาดความยืดหยุ่น หากทิ้งให้กล้ามเนื้อหดตัวนานๆ ไม่คลาย จะเป็นก้อนแข็งตึง กดแล้วเจ็บ พบมากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ และกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้ออกกำลังกาย สาเหตุเกิดจากการใช้ร่างกายซ้ำๆ อยู่ในท่าเดิมนานๆ รวมไปถึงการใช้อิริยาบถที่ผิดท่าผิดทาง
เส้นตึง เส้นยึด มีอาการอย่างไร อันตรายหรือไม่?
จากที่กล่าวไปว่า อาการยึดของเส้นเอ็นนั้น มักส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการหดรั้ง ขาดความยืดหยุ่น หากทิ้งให้กล้ามเนื้อหดตัวนานๆ ไม่คลาย จะเป็นก้อนแข็งตึง กดแล้วเจ็บ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผู้ป่วยภาวะนี้จะไม่เจ็บที่เส้นเอ็นเท่ากับเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณที่เส้นเอ็นมีปัญหา ทั้งนี้ เมื่อเส้นเอ็นจุดใดจุดหนึ่งมีอาการตึงอาจส่งผลต่อๆ กันไปจนลามไปเจ็บที่อวัยวะส่วนอื่นได้ด้วย
แนวทางรักษาและป้องกันอาการเส้นยึด เส้นตึง ที่ถูกต้อง
แนวทางการรักษาอาการเส้นตึง หรือ เส้นยึด สามารถแบ่งออกได้ 4 ทางใหญ่ๆ คือ
การรักษาด้วยการรับประทานยา
เป็นการรับประทานยาตามคำแนะนำแพทย์ โดยแพทย์อาจจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อ ยาต้านการอักเสบ ยาลดเครียด ยาบำรุงกล้ามเนื้อ หรือยาต้านอาการอักเสบจากเส้นประสาท เป็นต้น ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยอาการจากแพทย์ของคนไข้แต่ละคนด้วยว่าเหมาะกับการรับประทานยาชนิดใด
การรักษาทางกายภาพบำบัด
การรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดกล้ามเนื้อต่อเนื่อง หลังจากที่จุดยึดถูกคลายแล้วเพื่อไม่ให้ใยกล้ามเนื้อกลับมายึดตัวอีก ได้แก่ ทำกายบริหารเพื่อยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อแต่ละมัดที่เป็น อาจจะใช้ความร้อนความเย็นหรือการนวดประกอบเพื่อช่วยลดอาการปวด เป็นต้น
การรักษาด้วยการฉีดยา
เป็นการฉีดยาผ่อนคลายกลามเนื้อ เพื่อกระตุ้นให้เส้นเอ็นที่ขดหรือตึงอยู่คลายตัวมากขึ้น ซึ่งนอกจากนี้ วิธีรักษาเช่นนี้สามารถช่วยให้เส้นเอ็นคลายตัวและกลับมามีความยึดหยุ่น การรักษาโดยการฉีดยาเป็นเหมือนการขึ้นทางด่วน เพราะฉีดแล้วอาการจะดีขึ้นทันทีแต่ก็ต้องมีการปรับพฤติกรรมตนเองร่วมด้วย
การรักษาทางกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ
โดยการรักษาที่ว่า คือ คือ การรักษาด้วยการคลายจุดที่กล้ามเนื้อหดยึด สามารถทำได้ 3 วิธีหลักๆ ด้วยกัน ประกอบด้วย การฝังเข็มโดยคลายจุดยึด การบริหารยืดกล้ามเนื้อ และการนวดกล้ามเนื้อ ซึ่งผู้มีอาการบาดเจ็บแต่ละคนก็จะมีวิธีที่ใช้รักษาแตกต่างกันไป
แนวทางการป้องกันอาการเส้นยึด ประกอบด้วย…
สำหรับแนวทางการป้องกันอาการเส้นตึงต่างๆ ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น
1. ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ
และเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยการหายใจเข้าออกยาว ๆ
2. ปรับโต๊ะและเก้าอี้ทำงานให้เหมาะสม (ในกรณีเป็นพนักงานประจำ)
หากต้องทำงานอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ให้เปลี่ยนอิริยาบถทุกชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อพักและผ่อนคลาย
3. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ก่อให้เกิดการหดยึดกล้ามเนื้อ
โดยผู้บาดเจ็บต้องพยายามหลีกเลี่ยงท่าทางที่ก่อให้เกิดการหดยึดหรือบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เช่น การนอนหมอนสูง การนอนอ่านหนังสือ นอนดูทีวี เป็นต้น
ท่าบริหารร่างกายแสนง่ายช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
สำหรับท่าบริหารกล้ามเนื้อเพื่อคลายเส้น ผู้มีอาการบาดเจ็บสามารถทำตามได้ง่ายๆ จาก 3 ท่านี้ คือ
-
ท่ายืดกล้ามเนื้อ
ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อขาด้านหลัง และกล้ามเนื้อน่อง เริ่มด้วยการนั่งตัวตรง ยืดขาทั้งสองข้างไปด้านหน้า แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าโดยเหยียดแขนทั้งสองข้างไปเตะที่ปลายเท้า ทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นับ 1-20 แล้วผ่อนคลาย
-
ท่าออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อไหล่ด้านข้าง
เริ่มบริหารร่างกายโดยยืนตรงแขนแนบลำตัว ยกแขนซ้ายขึ้นพาดไปตามขวางของลำตัว แล้วยืดแขนออกไปให้มากที่สุดยกมือขวาดันบริเวณต้นแขนซ้าย จนรู้สึกตึงบริเวณหัวไหล่ซ้าย ค้างท่าไว้ 10-20 วินาที แล้วคลายท่า แล้วสลับไปทำอีกข้าง
-
ท่าออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อคอด้านข้าง
ช่วยยืดกล้ามเนื้อคอบริเวณกกหู เริ่มโดยการนั่งหรือยืนหันหน้าตรง เอียงคอไปด้านซ้ายจนสุด แล้วใช้มือขวายกขึ้นจับบริเวณกกหู ออกแรงกดเล็กน้อยเพื่อให้เอียงคอได้มากขึ้นจนรู้สึกตึงที่กล้ามเนื้อคอใกล้ๆ กับกกหู ค้างท่าไว้ 10-20 วินาที แล้วคลายท่า เริ่มต้นใหม่สลับไปทำอีกข้าง
เส้นยึด เส้นตึง
อาการเส้นตึง นวดให้หายได้หรือเปล่า?
การนวดเป็นการบรรเทา หรือการรักษาชั่วคราว เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว แต่ถ้านวดแล้วไม่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ชีวิตก็กลับไปตึงเหมือนเดิม ถ้าคุณยังนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ วันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน เมื่อมีอาการปวด พอถึงวันหยุดก็วิ่งไปหาหมอนวดกันสักครั้ง เช้าวันจันทร์ก็กลับไปนั่งกันใหม่ ชีวิตวนไปอยู่แบบนี้ บอกได้ทันทีว่าอาการเส้นยึด เส้นตึง ก็จะวนเวียนอยู่กับคุณแบบนี้ไม่มีทางหาย
รู้หรือไม่ อาการเส้นตึงกลับมาเป็นซ้ำได้อีก?
แม้จะรักษาให้ดีขึ้นได้ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยมีปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ที่ทำให้อาการไม่หายขาดสักที
ปัจจัยทางใจ
เป็นปัจจัยที่สำคัญของโรคนี้ ได้แก่ ภาวะวิตกกังวลง่าย มีความกดดันอยู่ในสภาวะเครียดซึมเศร้า หรือเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพมุ่งมั่น มีความรับผิดชอบสูง
ปัจจัยทางกาย
ได้แก่ โครงสร้างของร่างกายที่ไม่สมดุล การใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่เหมาะสมไม่พอดีกับร่างกาย การอยู่ผิดท่านานๆ
ท้ายที่สุด อาการเส้นยึด หรือ เส้นตึง เป็นสิ่งที่ไม่ควรปล่อยไว้เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้อย่าง 100% แล้ว หากผู้มีอาการบาดเจ็บมีอาการนี้อยู่เรื่อยๆ ก็เสี่ยงอาการเรื้อรังด้วย โดยอาการเส้นตึงนี้ถือว่าเป็นเพียงอาการเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคตอาจมีภาวะโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมาได้อีก เช่น โรคทางเส้นประสาท โรคทางกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้น ควรทำการรักษาและฟื้นฟู ไปพร้อมๆ กับการปรับพฤติกรรมจะดีที่สุด
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- ยืดน่อง ลดตึง – 3 ท่ายืด ลดอาการบวมตึงที่น่อง
- น่องตึง บวม เกิดจากอะไรได้บ้าง หากหายแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำหรือไม่?