นอนตกหมอน ประคบร้อนหรือเย็น รักษาง่าย ๆ ด้วยตนเอง
นอนตกหมอน ประคบร้อนหรือเย็น หลาย ๆ คนอาจยังไม่เคยทราบกับคำตอบของคำถามนี้ ว่าเราควรใช้การประคบแบบใดกันแน่ ยิ่งไปกว่านั้น หลาย ๆ คนอาจคิดว่าอาการนี้ไม่อันตรายอะไร ปล่อยไว้เฉย ๆ เดี๋ยวก็หายเอง หรือ บางคนก็ไม่รู้ว่าวิธีแก้อาการเบื้องต้นต้องทำอย่างไร ประคบเย็นหรือร้อนดี หากประคบผิดจะเป็นอันตรายหรือเป็นการไปซ้ำให้อาการหนักขึ้นหรือเปล่า ในบทความนี้ Newton Em จึงมีคำตอบมาฝากทุกคนเพื่อคลายข้อสงสัยและช่วยให้ผู้อ่านทราบวิธีการรักษาเบื้องต้นที่ถูกต้องมากขึ้น
นอนตกหมอน ประคบร้อนหรือเย็น นอนตกหมอน ปวดคอมาก ทําไงดี?
คอเคล็ดจากการนอนตกหมอน อาการทรมานจนหลายคนต้องร้องโอดโอยเพราะปวดร้าวและใช้งานต้นคอลำบาก สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ศีรษะและลำคออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะท่านอนตะแคงที่ทำให้คอเอียง ประกอบกับการเลือกใช้หมอนที่ไม่เหมาะสม ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการปวดประมาณ 2 – 3 วัน จากนั้นอาการปวดจะค่อย ๆ ลดลงและหายไป
แต่ถ้าอาการยังไม่ทุเลาหรือปวดมากขึ้นควรรีบมาพบแพทย์ เพราะอาจมีอาการกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงหรือเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ รวมถึงหากมีอาการนอนตกหมอนบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ได้ ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยปละละเลยหากปวดนาน ๆ
ตกหมอน ขยับคอไม่ได้ เกิดจาก…
อาการคอเคล็ด หรือ อาการกล้ามเนื้อคอเคล็ด เป็นอาการป่วยที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อยเลย ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องตัว และมีอาการเจ็บปวดบริเวณคอเมื่อมีการเคลื่อนไหวอีกด้วย อาการคอเคล็ดที่เกิดขึ้นหลังตื่นนอน อาจเกิดจากท่านอนที่รองรับช่วงคอไม่ถูกต้อง ทำให้กล้ามเนื้อคออักเสบ หรือที่เราเรียกว่า นอนตกหมอน นั่นเอง
ลักษณะอาการคอเคล็ดจากการนอนตกหมอน
มีอาการปวดต้นคออย่างรุนแรง คอแข็ง ไม่สามารถหันซ้าย-ขวาได้ รวมไปถึงการก้มหรือเงย โดยส่วนมาก อาการปวดคอมักจะเป็น 2-3 วัน แต่มักทำให้การใช้ชีวิตประจำวันนั้นลำบาก
วิธีแก้คอเคล็ดนอนตกหมอน ต้องทำยังไง ประคบแบบไหนกันแน่?
สำหรับวิธีแก้เคล็ดหรือบรรเทาอาการเบื้องต้น สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ตามขั้นตอนดังนี้
ประคบเย็น
เมื่อเริ่มมีอาการปวดควรประคบเย็นบริเวณคอเพื่อช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อคอ การประคบเย็นอาจจะใช้แผ่นประคบเย็นสำเร็จรูป (Cold pack) หรือถุงใส่น้ำและน้ำแข็งอัตราส่วน 1:1 ประคบบริเวณคอประมาณ 15 – 20 นาที ทำซ้ำทุก ๆ 2 ชม.
ประคบร้อน/อุ่น
สำหรับการประคบร้อน-อุ่นนั้นก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งต่างจากการประคบเย็นที่ผู้ป่วยมีอาการเคล็ด ขัดยอก เท่านั้น วิธีการคือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น บิดพอหมาด ๆ แล้วนำมาประคบบริเวณที่ปวดประมาณ 15 – 20 นาที
ยืดกล้ามเนื้อเบา ๆ
โดยทำการก้มศีรษะ หันหน้า และใช้มือด้านตรงข้ามกับข้างที่มีอาการ โดยวางมือบนศีรษะ กดศีรษะลงให้รู้สึกตึงก้านคอเล็กน้อย ทำค้างไว้นับ 1-10 จะรู้สึกผ่อนคลายที่กล้ามเนื้อคอบริเวณที่มีอาการ สามารถทำซ้ำได้ไม่เกิน 10 ครั้ง วันละ 3 รอบ
นวด
ขั้นตอนแรกคือให้ผู้ป่วยนั่งฟุบกับโต๊ะหรือเตียง ให้ใช้มือข้างเดียวกับด้านที่ปวดคอ วางลงบริเวณศีรษะทางด้านหลัง กางนิ้วโป้งออก ใช้นิ้วโป้งกดคลึงบริเวณที่เจ็บที่สุดของลำกล้ามเนื้อ ดังรูป กดแรงพอประมาณให้รู้สึกตึงหรืออาจจะปวดเล็กน้อย กดค้าง 30 วินาทีแล้วผ่อนแรง กดซ้ำรวมระยะเวลา 3-5 นาที หรือจนรู้สึกว่าลำกล้ามเนื้อนิ่มลงหรืออาการปวดลดลง ทำวันละ 1-2 ครั้ง อย่าคลึงแรงจนทำให้ปวดมากเพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวเพิ่มขึ้น
นอนตกหมอน ควรนอนท่าไหน
สำหรับการป้องกันอาการนอนตกหมอน ควรเริ่มจากการเลือกใช้หมอนที่ถูกสุขลักษณะการนอน สูงพอดีกับไหล่ ไม่นิ่มหรือแข็งเกินไป ปรับท่านอนให้ศีรษะและก้านคอควรอยู่ในแนวตรงทั้งท่านอนหงายหรือตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงทับข้างที่มีอาการเป็นประจำ ไม่นอนคว่ำอ่านหนังสือหรือนอนดูโทรทัศน์เป็นเวลานาน รวมทั้งบริหารต้นคอเพื่อยืดและเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ
นอนตกหมอน กี่วันหาย
ปกติอาการปวดคอมักจะหายภายใน 1-2 วัน ถ้าอาการรุนแรงขึ้น หรือยังไม่หายสนิทให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรักษาให้ถูกต้อง
กดจุด ตกหมอน มีขั้นตอนอย่างไร
วิธีหาจุด แรกเริ่มคือให้กำมือ จะอยู่บริเวณด้านในของมือ ตามแนวสีผิวที่ตัดกันของฝ่ามือและหลังมือ จุดอยู่ด้านล่างบริเวณข้อระหว่างฝ่ามือและนิ้วมือ กดไปแล้วจะรู้สึกปวด ๆ ร้าว ๆ ทางแพทย์แผนจีนจะเรียกว่า “จุดโฮ้วซี” ซึ่งวิธีการกดจุด ถ้าตกหมอนเจ็บด้านซ้ายให้กดจุดโฮ้วซีด้านขวา ถ้าตกหมอนเจ็บด้านขวาให้กดจุดโฮ้วซีด้านซ้าย (ตรงนี้สำคัญ) กดให้รู้สึกตึงหรือปวดนิด ๆ แล้วให้หมุนคอไปมาซ้ายขวา ประมาณ 30 นาที กล้ามเนื้อที่หดเกร็งที่คอจะรู้สึกทุเลาลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้ารู้สึกดีขึ้นแล้วให้นวดบริเวณเจ็บที่กล้ามเนื้อคอ อีก 15 นาที เท่านี้ อาการเจ็บจากการตกหมอนก็จะดีขึ้นและหายในที่สุด รวมถึงอาการเกร็งของกล้ามเนื้อก็จะหายไป เห็นผลดีและชัดเจน
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้อ่านจะทราบถึงวิธีการบรรเทาเบื้องต้นไปคร่าว ๆ แล้ว แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควร กด บีบ หรือ ยืด กล้ามเนื้อจนรู้สึกเจ็บเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวมากขึ้น และไม่ควรให้ผู้อื่นดัดคอหรือจับเส้นเด็ดขาด เพราะจะทำให้อักเสบ และเรื้อรังได้ ถ้ายังไม่หายค่อย ๆ ฝึกออกกำลังกล้ามเนื้อ หรือปรึกษานักกายภาพบำบัดจะปลอดภัยกว่า
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- กายภาพบําบัด กล้ามเนื้ออักเสบ รักษาได้ผลไหม ต้องทำต่อเนื่องหรือเปล่า?
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- นวดประคบร้อน-เย็นไม่เหมือนกัน หากใช้ผิดอาจส่งผลเสีย