เอ็นไขว้หน้าขาด กลับมาวิ่งได้หรือไม่ ต้องรักษาอย่างไร?
เอ็นไขว้หน้าขาด กลับมาวิ่ง หรือ เล่นกีฬาได้ไหม คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนกำลังสงสัยและกังวลอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเส้นเอ็นบริเวณเข่านั้นมีความสำคัญอย่างมากของร่างกายเรา รวมถึงเป็นฟันเฟืองสำคัญของการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องมี “เส้นเอ็น” เป็นอวัยวะที่ทำงานเป็นหลัก อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุหรืออาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด แต่เราก็สามารถป้องกันและรักษาได้หากเกิด Worst Case Snencerio ขึ้นมา ซึ่งต้องทำอย่างไรบ้างนั้น มาดูกัน
เอ็นไขว้หน้าขาด รักษาอย่างไร อยากกลับมาวิ่ง ทำได้หรือเปล่า?
ในการเล่นกีฬาแทบทุกประเภท มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อข้อเข่าของผู้เล่นได้ ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุหรือการเล่นที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งการบาดเจ็บชนิดหนึ่งซึ่งพบได้มากก็คือ “เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด” ซึ่งส่งผลต่อการออกกำลังกายการเล่นกีฬาตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เพราะฉะนั้น หากคุณกำลังมีอาการ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาก่อนที่การบาดเจ็บจะเรื้อรังจนทำให้ข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้อีกด้วย ดังนั้น เราควรเฝ้าระวังอย่างไรบ้าง ในบทความนี้มีคำตอบ
เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด คือ…
เส้นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่าวางตัวอยู่ทางด้านหน้า มีหน้าที่สำคัญในการรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการบิดหมุนตัวซึ่งต้องใช้เอ็นไขว้หน้าในการควบคุม เอ็นไขว้หน้าจะช่วยล็อกไม่ให้ข้อเข่าทรุด หรือไม่ให้มีอาการไม่มั่นคงในข้อเข่า
สาเหตุที่ทำให้เกิด “เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด”
ส่วนใหญ่การบาดเจ็บอย่าง เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาดนั้น พบได้บ่อยในนักกีฬาที่ต้องมีการวิ่งซิกแซกหลบหลีกฝ่ายตรงข้ามตลอดทั้งการแข่งขัน เช่น นักกีฬาฟุตบอล ซึ่งการวิ่งลงน้ำหนักและหมุนข้อเข่าขณะที่เข่ายังเหยียดตรงอยู่ ส่งผลให้เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าถูกกระชากและฉีกขาดได้ รวมไปถึงการปะทะระหว่างแข่งขัน ทำให้เกิดการบิดของเข่าอย่างรวดเร็วและรุนแรง การกระโดดหรือรีบยกเท้าที่ทำให้เอ็นไขว้หน้าถูกกระชากจนฉีกขาดได้ นอกจากนี้การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าจากอุบัติเหตุอื่นๆเช่นอุบัติเหตุการจราจรก็อาจเป็นสาเหตุของเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาดได้เช่นกัน
“เอ็นไขว้หน้าขาด” จำเป็นต้องรักษาด้วยการ “ผ่าตัด” หรือไม่?
เพราะเอ็นไขว้หน้าเข่าจะมีแรงดึงในตัวเอ็น เมื่อเกิดฉีกขาดจะทำให้ปลายของเอ็นมีการหดตัวห่างจากกันไปเรื่อยๆ แม้ว่าผู้ป่วยที่เอ็นไขว้หน้าขาดจะรักษาด้วยการกายภาพได้ แต่หากมีความต้องการที่จะกลับไปทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาที่มีการใช้งานข้อเข่า เช่น การวิ่งหรือฟุตบอล การผ่าตัดซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าก็ถือว่ามีความจำเป็น ทั้งนี้คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสภาพร่างกายและความต้องการของผู้ป่วยในการเล่นกีฬาก็เป็นปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการตัดสินใจเลือกการรักษาที่เหมาะสมด้วย
ผู้ป่วยเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดต้องผ่าตัดทุกรายหรือเปล่า?
โดยสรุปคือ ผู้ป่วยที่มีเส้นเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเพียงอย่างเดียว สามารถรักษาแบบไม่ผ่าตัดได้ โดยที่ให้ผลการรักษาที่ดีในระยะยาว ไม่พบว่ามีความแตกต่างในเรื่องคุณภาพชีวิตและการเกิดข้อเข่าเสื่อม
หากไม่รักษาด้วยการ “ผ่าตัด” มีขั้นตอนอย่างไร?
สามารถแบ่งตามช่วงเวลาหลังการบาดเจ็บได้ ดังนี้
ระยะฉับพลัน (Acute phase)
คือการรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดหลังเกิดการบาดเจ็บในช่วง 2 สัปดาห์แรก ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมหัวเข่า จากเลือดที่ออกภายในข้อเข่า รวมถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆเข่า ดังนั้นการรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดในช่วงนี้จะเน้นที่การลดการอักเสบ ได้แก่ การพัก รับประทานยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ประคบเย็น งดการลงน้ำหนัก ซึ่งโดยปกติแล้ว อาการปวดบวมจะค่อยๆ ลดลงภายใน 2 สัปดาห์
ระยะฟื้นฟูสภาพ ( Rehabilitation phase)
ระยะนี้จริงๆ ก็คาบเกี่ยวกับตอนแรก คือพออาการปวดบวมภายหลังเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดเริ่มทุเลาลง ผู้ป่วยสามารถเริ่มการบริหารเข่าเบาๆ ได้เลยทันที โดยที่พยายามฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของเข่า (Motion exercise) รวมทั้งฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อต้นขา (Quadriceps strength)
การบริหารประเภท Wall slide หรือปั่นจักรยาน (Stationay bike) ก็สามารถทำได้เมื่ออาการปวดบวมเริ่มทุเลา
การเคลื่อนไหวของลูกสะบ้าก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ป่วยควรได้รับการฝึกให้ทำ Patellar gliding ด้วยตัวเองเป็นประจำ จะช่วยให้การเคลื่อนไหวของลูกสะบ้าดีขึ้น
ระยะกระตุ้นระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular training phase)
อีกหน้าที่หนึ่งของเส้นเอ็นไขว้หน้าที่สำคัญมากๆ คือ Proprioception หรือ Joint position sense หรือแปลง่ายๆ คือ ช่วยให้เข่ารับความรู้สึกการเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งจะสำคัญมากในเรื่องการทรงตัว และความมั่นคงของข้อเข่า
“ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด” ที่จะเริ่มฝึกตัวเองในระยะนี้ต้องไม่มีอาการอักเสบ เข่าบวม สามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าที่สมบูรณ์ และมีกำลังกล้ามเนื้อรอบเข่าใกล้เคียงปกติ จึงจะให้เริ่มขึ้นตอนการฝึกการทรงตัวเป็นลำดับถัดไป
ระยะก่อนกลับเข้าสู่การเล่นกีฬา (Return to sport)
ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าฉีกขาดจะได้รับอนุญาตให้กลับไปเล่นกีฬา ก็ต่อเมื่อผ่านการฝึกการทรงตัวโดยที่ไม่มีอาการของข้อเข่าทรุดตลอดระยะเวลาการฝึก รวมทั้งไม่มีอาการอักเสบ งอเหยียดเข่าได้สุด มีกำลังกล้ามเนื้อต้นขาไม่น้อยกว่า 90% เมื่อเทียบกับข้างปกติ จึงจะได้รับอนุญาตให้กลับไปเล่นกีฬาได้ แต่ถ้าเป็นกีฬาที่ต้องมีการบิดหมุน แนะนำให้ผู้ป่วยใส่ Functional brace ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงของข้อเข่าระหว่างการออกกำลังกาย
สรุปแล้ว เอ็นไขว้หน้าฉีกขาด รักษาแบบผ่าตัด หรือ ไม่ผ่าตัดดีกว่ากัน รักษาแล้วกลับมาเล่นกีฬาได้ตามเดิมหรือไม่?
หากจะกล่าวกันตามจริงแล้ว วิธีรักษาของภาวะบาดเจ็บชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ทั้งสิ้น ว่าใครควรผ่าตัดหรือใครที่สามารถรักษาด้วยแนวทางปกติได้ เนื่องจากคนไข้มีแนวทางการใช้ชีวิต อายุ อาชีพที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงหมายถึงว่าผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น นักกีฬา ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการขั้นรุนแรงเท่านั้นที่จะมีโอกาสเข้ารับการผ่าตัด ส่วนคนไข้ที่มีอาการไม่รุนแรงมาก
รักษาแล้วกลับมาเล่นกีฬาได้ตามเดิมหรือไม่?
นักกีฬาและผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลว่าเมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะนักกีฬาที่อาจต้องหยุดเล่นกีฬาในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของการรักษา ประกอบกับความเข้าใจในกลไกเข่าที่มากขึ้น ทำให้สามารถแก้ไขให้กลับไปใช้งานใกล้เคียงเดิมได้ แต่การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้นสำหรับนักกีฬาควรต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การวอร์มอัพร่างกายที่ดีและนานเพียงพอ สภาพพื้นสนาม รองเท้า ทัศนคติของเพื่อนร่วมเล่น ตลอดจนปัจจัยภายในเข่า นั่นคือ การบาดเจ็บในอดีต กล้ามเนื้อที่ไม่ยืดหยุ่นแข็งแรงเพียงพอ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกับการป้องกันการบาดเจ็บของเข่าและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- ยืดน่อง ลดตึง – 3 ท่ายืด ลดอาการบวมตึงที่น่อง
- น่องตึง บวม เกิดจากอะไรได้บ้าง หากหายแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำหรือไม่?