ปวดหลังแปล๊บๆช่วงบน อาการที่อาจเป็นสัญญาณกล้ามเนื้ออักเสบ
ปวดหลังแปล๊บๆช่วงบน ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาการบาดเจ็บที่หลาย ๆ คนกำลังพบเจอ ซึ่งต้องบอกก่อนว่าอาการเจ็บเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการเล่นกีฬาและการดำเนินชีวิตประจำวัน และปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำให้กล้ามเนื้อของเราเจ็บมาก ๆ จนบางครั้งจะใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณที่นำไปสู่การเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ หากปล่อยไว้นานไปก็อาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะมาแนะนำและไขคำตอบทุกข้อสงสัยว่าอาการกล้ามเนื้ออักเสบคืออะไร พร้อมแนวทางการรักษากล้ามเนื้ออักเสบที่ควรรู้ให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งจะมีอะไรบ้าง ตามมาดูไปพร้อม ๆ กัน
ปวดหลังแปล๊บๆช่วงบน สัญญาณเตือนที่ไม่ควรละเลยเพราะอาจเป็นภาวะกล้ามเนื้อหลังอักเสบ
อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ด้วยพฤติกรรม ปัจจัยความเสี่ยงมากมายที่เกี่ยวข้อง แต่หากอาการปวดหลังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเรื้อรัง ทานยาแล้วก็ไม่หาย อาการปวดหลังนั้นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่เรามองเห็นก็เป็นได้
ปวดหลังส่วนบน เจ็บแปลบ ๆ เกิดจากอะไร
อาการปวดหลังส่วนบน อาจมีสาเหตุมาจากการก้มเล่นมือถือนาน ๆ หรือการแบกกระเป๋าหนัก ซึ่ง หากกระเป๋ามีน้ำหนักมากเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนักขึ้น เพราะเราต้องเกร็งกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ไหล่ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ศีรษะตั้งตรง หันไปมาตามต้องการได้ และทำให้เกิดอาการไหล่เอียง ตัวเอียงโดยไม่รู้ตัว
อาการไหล่เอียง เป็นอาการที่ทุกคน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ชอบสะพายกระเป๋ามักเป็นโดยไม่รู้ตัว หากยังคงมีพฤติกรรมสะพายกระเป๋าหนักๆ ต่อไป จะส่งผลเสียระยะยาวต่อร่างกายซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และยังทำให้เสียบุคลิกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดหากทุก ๆ คนยังปล่อยปะละเลยไปเรื่อย ๆ ก็คือ การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหลังอักเสบ นั่นเอง ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและรักษา เรามาดูกันต่อว่า กล้ามเนื้อหลังอักเสบ คืออะไรและรักษาให้หายด้วยวิธีใดได้บ้างไปพร้อม ๆ กัน
กล้ามเนื้อหลังอักเสบเกิดจากอะไร
โดยปกติแล้วการอักเสบแบบเรื้อรังนั้นมักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง เช่น เกิดจากการนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ การเล่นกีฬาโดยใช้กล้ามเนื้อเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะเกิดการเกร็งตัวสะสมจนเกิดเป็นก้อนอักเสบ ที่เรียกว่า จุดกดเจ็บ ซึ่งเจ้าก้อนเนื้อนี้เองเป็นตัวการทำให้เกิดโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น พนักงานออฟฟิศ นักกีฬา ผู้ที่ทำอาชีพแบกหาม เป็นต้น
ลักษณะอาการของกล้ามเนื้อหลังอักเสบ
ปัญหาการปวดหลัง กล้ามเนื้อหลังอักเสบ หรือบาดเจ็บที่หลังสามารถพบได้หลายอาการด้วยกัน ได้แก่
- อาการปวดมักเป็นขณะที่หลังส่วนบนอยู่ในท่าก้ม เนื่องจากท่าก้มจะทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อถูกยืดออก เช่น นั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์ในลักษณะไหล่ห่อและคอยื่น, นั่งทำงานบนโต๊ะที่เตี้ยเกินไป, ยืนล้างจาน, หรือสะพายกระเป๋าหนัก เป็นต้น
- มีอาการปวดขณะหายใจเข้าลึก ไอ จาม และรู้สึกหายใจสั้นตื้น เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนบนเชื่อมต่อกับกระดูกซี่โครง โดยภายในกระดูกซี่โครงมีอวัยวะช่องอกที่สำคัญ ได้แก่ ปอดและหัวใจ ดังนั้นเมื่อมีอาการเจ็บหลังส่วนบนจะทำให้การขยายตัวของทรวงอกลดลง ปอดขยายตัวได้ลดลง และส่งผลต่อการหายใจ
- มีอาการปวดขณะนอนหงาย เนื่องจากเป็นท่านอนที่ทับกล้ามเนื้อและข้อต่อบริเวณหลังส่วนบนโดยตรง หากมีการอักเสบจะทำให้มีอาการปวดได้
ซึ่งนี่เป็นเพียงอาการส่วนหนึ่งที่แสดงออกมาเป็นสัญญาณอาการกล้ามเนื้อหลังอักเสบเท่านั้น ซึ่งหากใครผู้ประสบปัญหาท่านใดที่มีอาการคล้ายคลึงกับอาการดังกล่าวหรือมีอาการที่มากกว่านี้ ควรเข้ารับการวินิจฉัยบและคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
กล้ามเนื้ออักเสบรักษาแบบไหน แบ่งออกได้เป็นกี่วิธี
สำหรับอาการนี้สามารถแบ่งวิธีรักษาได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
รักษาด้วยการใช้ยา
โรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofascial pain syndrome) ยาที่สามารถซื้อทานเองได้ตามร้านขายยา ได้แก่ ยาแก้ปวด พาราเซตามอล ยาต้านอักเสบ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคฟีแน็ก เป็นต้น
การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด
กายภาพบําบัดกล้ามเนื้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofascial pain syndrome) สามารถรักษาด้วยเครื่องมือ กายภาพบำบัด ดังนี้
- เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เป็นกระแสไฟฟ้าบำบัดเพื่อช่วยในการลดปวดโดยใช้กระแสไฟฟ้า ES ซึ่งช่วงกระแสไฟนี้ จะมีช่วงความถี่ต่ำที่สบายผิว และไม่ละคายเคือง เราจะเลือกใช้ให้เห็นผลถึงการคลายกล้ามเนื้อชั้นตื้นและกล้ามเนื้อชั้นลึก โดยผู้รักษาจะมีความรู้สึกสั่นสบายระหว่างการกระตุ้น และรู้สึกถึงการคลายในระดับกล้ามเนื้อชั้นลึกตรงจุดที่มีอาการปวดได้อย่างชัดเจนโดยไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ
- เครื่องอัลตร้าซาวด์ เป็นเครื่องรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่ให้ผลความร้อนในลักษณะความร้อนลึกโดยปล่อยความร้อนลึดออกมาใต้ผิวหนังที่ 2-5 cm. ใช้ลดอาการปวด ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อในชั้นลึก ลดอาการบวม และช่วยเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมทั้งคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
- การประคบเย็นลดการอักเสบของกล้ามเนื้อชั้นตื้น โดยการประคบนั้นช่วยให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกน้อยลง ช่วยบรรเทาอาการปวด และลดบวมได้ดีอีกด้วย ซึ่งก็จะมีการใช้แตกต่างกันไป
หลังอักเสบ กี่วันหาย
โรคปวดหลังส่วนใหญ่อาจรักษาให้หายได้โดยไม่ต้องใช้วิธีที่ซับซ้อนนัก เพียงพักผ่อนประมาณ 2-3 วัน รับประทานยาแก้อักเสบร่วมกับการประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมและลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อก็จะดีขึ้นได้ภายใน 2 สัปดาห์ สำหรับอาการปวดหลังเรื้อรังแพทย์จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาที่ครอบคลุมหลายด้านมากขึ้น โดยอาจรวมเอาการทำกายภาพบำบัดและการจัดการความปวดเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการรักษาด้วย
กล้ามเนื้ออักเสบใช้เวลารักษานานแค่ไหน
สำหรับระยะเวลาในการรักษาโดยทั่วไป อาการกล้ามเนื้อ หรือ เอ็นอักเสบ จะใช้เวลาราว 2-4 สัปดาห์ ก็จะหายดี หากได้พักอย่างเต็มที่ แต่ในกรณีที่ใช้งานกล้ามเนื้อหลังหรือกล้ามเนื้อนั้น ๆ อยู่ซ้ำ ๆ เช่น เล่นกีฬา นั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ และยกของหนัก ฯลฯ ก็อาจจะทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้พัก และทำให้หายช้าลงได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ภาวะกล้ามเนื้ออักเสบ สามารถบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้ด้วยการทำกายภาพบำบัดควบคู่ไปกับวิธีอื่น ๆ ซึ่งการกายภาพบำบัด สามารถช่วยลดการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ตลอดจนฟื้นฟูกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บและอักเสบให้ดีขึ้นได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและใช้งานกล้ามเนื้อได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น ผู้ที่กำลังมีภาวะอาการควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาที่เหมาะกับระดับอาการของตนเองและถูกจุดเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่คาดหวังด้วย
——————————-
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “ปวดหลังเรื้อรัง” พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “โรคกระดูกสันหลัง” 4 โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
- เครื่องมือกายภาพ 5 แบบมีอะไรบ้างแต่ละแบบรักษาอย่างไร