ออฟฟิศซินโดรม ปวดหัว ทำยังไง จะกลายเป็นอาการเรื้อรังหรือไม่?
ออฟฟิศซินโดรม ปวดหัว เกิดจากอะไรกันแน่ เป็นอาการเดียวกับอาการปวดแบบไมเกรนหรือเปล่า อาจเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยและยังคงหาคำตอบไม่ได้ว่าเหตุใดอาการปวดหัวจึงเกิดขึ้นได้จากการเป็นภาวะออฟฟิศซินโดรม ซึ่งหลาย ๆ คนอาจเคยรู้มาว่าโรคออฟฟิศซินโดรมมักมีอาการแค่ปวดหลังเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นเพียงอาการเริ่มต้น ผู้ป่วยของโรคนี้มีภาวะอาการที่แสดงออกมาได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลังต้นคอ หัวไหล่ รวมไปถึงอาการปวดหัวที่ถ้าหากไม่รักษา ก็อาจกลายเป็นภาวะเรื้อรังได้
ออฟฟิศซินโดรม ปวดหัว เกิดจากอะไร รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
โรคออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ดูจะเป็นโรคที่คนยุคใหม่เป็นกันมากพอสมควร ด้วยพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เราไม่ค่อยเน้นการยืน เดิน เคลื่อนไหว หรือออกแรงเหมือนแต่ก่อน กลายเป็นการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือก้มดูมือถือนาน ๆ แทน
อาการออฟฟิศซินโดรม เริ่มแรกคือ รู้สึกปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ สะบัก และบริเวณหลัง การนวดอาจจะช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะกลับมาเป็นอีก และเป็นเรื้อรังมากขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่มาตรวจหาสาเหตุและทำการรักษา อาจลุกลามจนเป็น “โรคไมเกรน“ หรืออาจเกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่รุนแรงขึ้นตามมาได้
ปวดหัวไมเกรน หรือ ปวดหัวออฟฟิศซินโดรมกันแน่?
กลายเป็นปัญหาที่หลายคนสับสนว่าระหว่าง ปวดหัวไมเกรน กับ ปวดหัวออฟฟิศซินโดรม มันแตกต่างกันยังไง เพราะเมื่อปวดหัวครึ่งซีกเมื่อใด ก็เหมารวมเป็นไมเกรนทุกที ลองมาดูอาการเด่น ๆ ของทั้ง 2 โรคนี้กัน เพื่อจะได้วิเคราะห์อาการเบื้องต้นกันก่อน
สาเหตุและอาการปวดหัวออฟฟิศซินโดรม
ปวดหัวออฟฟิศซินโดรม เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณบ่าตึง เลือดจึงไม่สามารถไหลไปเลี้ยงส่วนศีรษะได้ เมื่อศีรษะขาดเลือดและออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงก็จะทำให้ปวดศีรษะ แต่ถ้าหมั่นยืดกล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคออย่างสม่ำเสมอ อาการปวดก็จะทุเลาลงได้ โดยอาการจะปวดศีรษะร้าวลงสะบัก อาจจะปวดข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้
สาเหตุและอาการปวดหัวไมเกรน
อาการปวดหัวไมเกรน ซึ่งจะปวดศีรษะข้างเดียว สาเหตุเกิดจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล แม้จะทำการยืดกล้ามเนื้อก็ไม่สามารถทำให้อาการปวดทุเลาลงได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะปวดหัวแบบไหนก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ ได้ จึงต้องคอยหมั่นสังเกตอาการของเราดูว่าปวดหัวแบบไหน หรือหากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อเช็กร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
แนวทางการรักษาอาการปวดหัวจากออฟฟิศซินโดรม
สำหรับอาการปวดหัวนั้น จากที่ได้กล่าวมาว่ามักเกิดจากสาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ดังนั้น แนวทางการรักษาจึงต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับต้นตอของปัญหา ซึ่งมีหลายวิธีการรักษา เช่น..
1. รักษาด้วยการใช้ยา
สำหรับคนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมที่เริ่มรุนแรงขึ้นแล้ว อาจต้องได้รับยาในการรักษา เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ยาคลายเครียด โดยยาเหล่านี้ควรผ่านการพิจารณาและสั่งโดยแพทย์ผู้วินิจฉัยเท่านั้น
2. รักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เป็นการรักษาด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น Ultrasound เครื่องดึงคอ หรือการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบตะวันตก และการสอนท่าบริหาร เพื่อการป้องกันและรักษา ในเคสที่เป็นมานานเรื้อรังยังมีการสอนหายใจ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย
3. รักษาด้วย Shock Wave
คลื่นกระแทก (Shock Wave) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดระยะเรื้อรังที่ผ่านการรักษาต่าง ๆ มาแล้วไม่ดีขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) อาการปวดข้อศอก เอ็นข้อศอกอักเสบ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดสะโพกร้าวลงขา ปวดฝ่าเท้าเรื้อรัง โรครองช้ำ ปวดเอ็นร้อยหวาย ปวดเข่า บาดเจ็บจากกีฬา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการปวดหัวดังกล่าวเป็นเพียงอาการส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมจึงถูกแบ่งออกได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการปวด การรักษาด้วยวิธีทางเลือกอื่น ๆ เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมควรมาปรึกษาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ ว่าเกิดจากสาเหตุใด มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หรือไม่ เพื่อให้แพทย์รักษาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับอาการของแต่ละบุคคลด้วย
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน