Golfer’s Elbow อาการปวดข้อศอกด้านใน คืออะไร รักษาหายขาดได้หรือเปล่า?
Golfer’s Elbow หรือ อาการปวดข้อศอกด้านใน อาจเป็นอาการที่หลาย ๆ คนสงสัยว่า มีลักษณะอาการอย่างไร เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วมักเป็นอาการปวดข้อศอกด้านนอก หรือการปวดบริเวณปุ่มกระดูกซะมากกว่า ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ภาวะอาการนี้จะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก อย่างไรก็ดี อาการปวดข้อศอกด้านในเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในทุก ๆ คน เพราะมักจะเกิดกับนักกีฬาที่ใช้กำลังแขนเป็นหลัก เช่น นักกอล์ฟ นักเทนนิส แบตมินตัน ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า อาการนี้เกิดขึ้นจากอะไร อันตรายไหม และรักษาหายได้หรือเปล่า
Golfer’s Elbow คืออะไร มีอาการแบบไหน รักษาให้หายขาดได้หรือเปล่า?
จากที่กล่าวไปว่า อาการปวดศอกด้านในนั้นมักพบได้บ่อยในคนที่ต้องใช้ข้อมือหรือกำมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น นักกอล์ฟ นักเทนนิส นักธนู หรือคนที่ใช้เครื่องมือในการประกอบอาชีพ โรคเอ็นข้อศอกด้านในอักเสบนี้สามารถบรรเทาอาการและรักษาได้ตามสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละคน ดังนั้น ในบทความนี้เราจะมาศึกษารายละเอียดอย่างแน่ชัด ว่าอาการบาดเจ็บเช่นนี้เกิดจากอะไรกันแน่ มีลักษณะอาการหรืออันตรายต่อสุขภาพอย่างไร หากเป็นแล้ว หายได้หรือไม่
โรคข้อศอกด้านในอักเสบ คือ…
คือ การอักเสบบริเวณด้านในข้อศอก (medial epicondylitis) ของกลุ่มกล้ามเนื้อ flexor group โดยมักเกิดการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเพียงเล็กน้อย และเมื่อผู้ป่วยยังคงทำกิจวัตรตามปกติทำให้เกิดการฉีกขาดมากขึ้น แล้วเกิดการอักเสบในที่สุด มักพบในกลุ่มผู้ที่เล่นกอล์ฟเนื่องจากการตีกอล์ฟแต่ละครั้งนั้น กล้ามเนื้อ flexor pronator จะถูกใช้งานอย่างหนักโดยฉับพลัน ซึ่งเป็นมัดกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยได้ใช้งานบ่อยในชีวิตประจำวัน ความแข็งแรงจึงน้อยกว่ามัดอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
สาเหตุเกิดจาก…
อาการข้อศอกด้านในอักเสบ เกิดจากกล้ามเนื้อและเอ็นที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของข้อมือและนิ้วได้รับความเสียหาย โดยสาเหตุมาจากการเกร็งและงอข้อมือ กล้ามเนื้อไหล่และข้อมืออ่อนแรง การใช้งานข้อมือและนิ้วอย่างหนักหรือใช้งานซ้ำ ๆ เช่น ยกของในท่าที่ไม่เหมาะสม ถือกระเป๋าหรือสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ใช้เลื่อยไฟฟ้าหรือเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง เล่นกีฬาชนิดที่ใช้ไม้ตีลูกด้วยอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับมือผู้เล่น
ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคข้อศอกด้านในอักเสบ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้ที่ทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ติดต่อกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อวัน มีภาวะอ้วน และผู้ที่สูบบุหรี่อีกด้วย
ลักษณะอาการ
อาการของ ภาวะปวดข้อศอกด้านใน อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือค่อย ๆ เกิดขึ้น โดยผู้ป่วยมักมีอาการต่อไปนี้
- ปวดตามแนวท้องแขนตั้งแต่ข้อศอกไปจนถึงข้อมือฝั่งนิ้วก้อย และรู้สึกเจ็บเมื่องอข้อมือ
- มือและข้อมืออ่อนแรง
- มีอาการเหน็บชาหรือเหมือนถูกของแหลมทิ่มบริเวณนิ้วใดนิ้วหนึ่ง โดยเฉพาะนิ้วนางและนิ้วก้อย หรือกระจายไปหลายนิ้ว
- มีอาการข้อศอกติด ส่งผลให้เจ็บข้อมือ
หากบรรเทาอาการด้วยการประคบเย็นหรือการรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการอักเสบ แสบร้อนบริเวณข้อศอก มีไข้ งอข้อศอกไม่ได้ ศอกผิดรูป มีอาการคล้ายกระดูกหักเกิดขึ้น ผู้ป่วยควรพบไปแพทย์
แนวทางการรักษา
สำหรับแนวทางการรักษา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ทางหลัก ๆ ด้วยกัน ประกอบด้วย
-
การรักษาทางการแพทย์
การรักษาจากทางการแพทย์สามารถแบ่งออกได้หลายวิธี ซึ่งจะถูกใช้ตามการวินิจฉัยอาการจากแพทย์ ประกอบด้วย
การฉีดยาคอร์ติโซน (Cortisone)
และยาชาเพื่อลดอาการปวดบวมในบริเวณที่เอ็นติดกับกระดูก
การรับประทานยาแก้ปวด
เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยากลุ่มเอ็นเสด (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs) อย่างไอบิวพรอเฟน (Ibuprofen) และยานาโปรเซน (Naproxen)
การผ่าตัด
ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายในเวลา 6–12 เดือน
การรักษาทางกายภาพบำบัด
สำหรับการรักษาทางกายภาพ จะเน้นการรักษาไปที่ส่วนของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ เช่น
การใช้ความร้อนตื้นและความร้อนลึก
ความร้อนถูกนำมาใช้รักษาโรคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีการพัฒนาเครื่องมือให้ความร้อนเพื่อนำมาใช้ในการรักษาหลากหลายรูปแบบ ถ้าแบ่งตามความลึกของความร้อนที่ส่งผ่านเข้าเนื้อเยื่อสามารถแบ่งได้เป็น
ความร้อนตื้น (superficial heat) และความร้อนลึก (deep heat) ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการไหลเวียนโลหิตบริเวณที่ปวด และบรรเทาอาการได้เป็นอย่างดี
การใช้ความเย็นในระยะอักเสบ
หมายถึง การรักษาโดยการใช้ความเย็นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรือทั่วร่างกาย โดยผลในการบำบัดรักษานั้นยังได้รับความสนใจในการศึกษาถึงประสิทธิผลต่อการบาดเจ็บในรูปแบบต่าง ๆ ในทางกายภาพบำบัด ผลทางสรีรวิทยาในการรักษาด้วยความเย็นที่ชัดเจน ได้แก่ ผลต่อการลดการอักเสบที่มีสาเหตุมาจากการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ ช่วยในการลดปวดบวมและผลในการห้ามเลือด เป็นต้น
การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง
การรักษาด้วย Short wave เป็นการรักษาด้วยความร้อนลึก Short wave เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง ให้ความร้อนได้โดยการเปลี่ยนพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน และสร้างความร้อนในเนื้อเยื่อด้วยการทำให้ประจุไฟฟ้าในเนื้อเยื่อเกิดการสั่นสะเทือน โดยการกระตุ้นของ Short wave จะไม่ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อและไม่เกิดการกระตุ้นของเส้นประสาท
การรักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง
หรือที่เรารู้จักกันส่วนใหญ่ว่า การอัลตราซาวน์ (Ultrasound) นั่นเอง การรักษากล้ามเนื้อวิธีนี้คือ คลื่นเหนือเสียงที่มีความถี่สูงกว่า 20,000 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งสูงกว่าความถี่ที่มนุษย์สามารถได้ยิน โดยคลื่นเหนือเสียงนี้ ในทางกายภาพบำบัด ใช้หลักการทำให้เกิดการสั่นสะเทือน หรือให้ความร้อน เพื่อช่วยลดอาการปวด และเพิ่มอัตราการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
การออกกำลังกาย
เช่น การยืดกล้ามเนื้อ โดยเป็นการพัฒนาระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ทำให้การออกกำลังกายได้ผลดียิ่งขึ้น ช่วยในผ่อนคลายและลดอาการตึง อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มมุมในการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกล้ามเนื้อ ช่วยพัฒนาความยืดหยุ่นหรือความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี
ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงศอก
เช่น Tennis and Golf elbow wrap เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อศอก ในผู้ที่ต้องออกแรงมาก ผู้ที่มีอาการข้อเสื่อมและช่วยป้องกัน อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬา สวมใส่สบายด้วยเนื้อผ้าที่ถักทอด้วยวัสดุคุณภาพดี กระชับ ทนทาน ให้ความรู้สึกนุ่มสบายขณะสวมใส่
ข้อสรุป โรคปวดข้อศอกด้านใน รักษาให้หายขาดได้ไหม?
ไม่ว่าจะเป็นในกรณีที่เกิดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป ก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองทั้งสิ้น โดยเฉพาะสำหรับนักกีฬาควรตรวจสอบหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ รูปแบบการเล่น และลดเวลาการเล่นลงจากเมื่อก่อน หากอาการหายดีแล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับของการทำกิจกรรมขึ้นทีละน้อย และในคนทั่วไป ควรพยายามรักษาการออกท่าทาง เช่น การเดิน ยืน หรือกิจกรรมในระหว่างวัน โดยอาจจะเป็น การเอื้อมหยิบของสูง ๆ การยกของ เป็นต้น ให้อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการของ Golfer’s elbow อาจกลับมาเกิดซ้ำและกลายเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้น ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- ยืดน่อง ลดตึง – 3 ท่ายืด ลดอาการบวมตึงที่น่อง
- น่องตึง บวม เกิดจากอะไรได้บ้าง หากหายแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำหรือไม่?