ท้องอืดแล้วปวดหลัง อาการนี้เกิดขึ้นได้ยังไง ปวดหลังด้วยสาเหตุนี้แก้ยังไงดี?
ท้องอืดแล้วปวดหลัง หลาย ๆ คนอาจยังไม่ทราบว่าอาการปวดท้อง แน่นท้อง จากอาการท้องอืดนั้น ก็ยังส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราอาจจะไม่ทราบเกี่ยวกับสาเหตุของอาการปวดหลังประเภทนี้ เพราะส่วนใหญ่หลาย ๆ คนจะเน้นไปที่สาเหตุของการปวดกล้ามเนื้อหลังจากพฤติกรรมที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อหลังโดยตรงเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการปวดหลังจากออฟฟิศซินโดรม การยกของหนัก ๆ หรือการนั่งผิดท่านาน ๆ เป็นต้น ซึ่งอาการท้องอืดส่งผลให้เกิดการปวดหลังอย่างไร แล้วมีวิธีแก้ยังไงบ้าง Newton Em Clinic มีคำตอบมาฝาก
ท้องอืดแล้วปวดหลัง อาการนี้เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง?
ท้องอืด เป็นอาการที่พบได้บ่อย อาจทำให้รู้สึกแน่น จุกเสียด ปวดท้อง อิ่มเร็ว ท้องแข็ง รวมถึงมีอาการเรอ ผายลมและท้องร้องโครกครากหลังรับประทานอาหาร บางรายอาจมีท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วย อาการนี้ส่วนใหญ่มักเป็นผลจากมีแก๊สหรือลมอยู่ในทางเดินอาหารเป็นจำนวนมาก สาเหตุอาจเกิดจากอาหารดูดซึมได้ไม่หมดหรือทางเดินอาหารบีบตัวผิดปกติ ในบางกรณีผู้ป่วยอาจไม่มีแก๊สหรือลมอยู่ในทางเดินอาหารมากเกินปกติแต่เกิดจากระบบประสาทที่ไวเกิน ทำให้รู้สึกแน่นท้องได้ง่ายมากกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม นอกจากแก๊สเหล่านั้นนอกจากจะทำให้ปวดท้องแล้วในบางรายยังส่งผลให้มีอาการปวดหลังตามมาด้วย ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำการศึกษาว่าหากเกิดอาการปวดหลังจากสาเหตุนี้เราจะทำอย่างไรได้บ้าง?
“ท้องอืด” เกิดจากอะไร ทำไมจึงทำให้ปวดหลัง?
อาการท้องอืดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มักมีเหตุกระตุ้นจากอาหารที่รับประทาน ความเครียด การใช้ชีวิตและอาจเป็นอาการหนึ่งของโรคต่าง ๆ ดังนี้
- โรคลำไส้แปรปรวน
- ภาวะจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากผิดปกติ
- ย่อยสารอาหารคาร์โบไฮเดรตบางชนิดไม่ได้
- โรคกระเพาะอาหาร
- ท้องผูกเรื้อรัง
- ฯลฯ
ซึ่งนอกจากโรคต่าง ๆ ดังกล่าวก็ยังมีอีกอีกหลายสาเหตุ และจากที่ได้บอกไปว่าอาการท้องอืดมักทำให้ผู้ประสบปัญหามีอาการที่พบได้บ่อยได้หลากหลาย เช่น อาจทำให้รู้สึกแน่น จุกเสียด ปวดท้อง อิ่มเร็ว ท้องแข็ง รวมถึงมีอาการเรอ ผายลมและท้องร้องโครกครากหลังรับประทานอาหาร บางรายอาจมีท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วย อาการนี้ส่วนใหญ่มักเป็นผลจากมีแก๊สหรือลมอยู่ในทางเดินอาหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้า “แก๊ส” ในกระเพาะนี่เองที่เป็นปัญหาซึ่งส่งผลให้เกิดอาการ “ปวดหลัง” ในเวลาต่อมา
“แก๊ส” ในกระเพาะเกิดจากอะไร ทำไมจึงส่งผลต่อ “ปวดหลัง”?
แก๊สในทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ มาจากสองแหล่งด้วยกัน ได้แก่
1.อากาศที่ถูกกลืนเข้าไป
เป็นสาเหตุทั่วไปของแก๊สในกระเพาะอาหาร ทุกคนกลืนอากาศปริมาณเล็กน้อยขณะรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างรวดเร็ว การเคี้ยวหมากฝรั่ง การสูบบุหรี่ หรือการใส่ฟันปลอมที่หลวมอาจทำให้บางคนได้รับอากาศเข้าไปมากขึ้น การเรอเป็นวิธีการที่อากาศส่วนมากที่ถูกกลืนเข้าไปซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกระบายออกจากกระเพาะอาหาร โดยแก๊สที่เหลืออยู่จะเคลื่อนต่อไปยังลำไส้เล็กที่ซึ่งบางส่วนจะถูกดูดซึมไป เหลือเพียงปริมาณเล็กน้อยที่เดินทางเข้าสู่ลำไส้ใหญ่เพื่อปลดปล่อยออกทางทวารหนัก
2.การสลายอาหารที่ไม่ถูกย่อย
ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมคาร์โบไฮเดรต (น้ำตาล แป้ง และใยอาหารที่พบในอาหารหลายชนิด) บางชนิดในลำไส้เล็ก เนื่องจากขาดแคลนหรือไม่มีเอนไซม์เฉพาะสำหรับช่วยย่อย อาหารที่ไม่ถูกย่อยเหล่านี้จะผ่านจากลำไส้เล็กเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ที่ซึ่งแบคทีเรียที่ไม่เป็นอันตรายจะย่อยสลายอาหาร ผลิตเป็นแก๊สไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และในประชากรประมาณ 1 ใน 3 ที่จะผลิตแก๊สมีเทน
ซึ่งจากการเกิดแก๊สดังกล่าว ผู้อ่านทุกคนคงเห็นแล้วว่าแก๊สในกระเพาะนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในปริมาณมาก และความที่แก๊สอยู่ในกระเพาะปริมาณมากเกินไปนี่เองจึงอาจทำให้เกิดการดันไปจนถึงด้านกล้ามเนื้อหลัง และทำให้เกิดอาการปวดหลังในเวลาต่อมา ซึ่งหากเกิดเพราะสาเหตุนี้ การแก้ไขที่ปัญหาต้นตอคืออาการท้องอืดก็จะทำให้อาการปวดหลังดีขึ้นได้เช่นกัน
แนวทางรักษาและป้องกันอาการ “ท้องอืด”
การป้องกันและรักษาอาการท้องอืดขึ้นอยู่กับสาเหตุ ทั้งนี้หากไม่ได้มีสาเหตุจากโรคที่รุนแรง ส่วนใหญ่มักเกิดจากมีแก๊สหรือลมอยู่ในทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถป้องกันอาการท้องอืดได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- รับประทานอาหารสุก สะอาด ไม่มีไขมันสูงเกินไป
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
- ออกกำลังกาย เพื่อช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารและขับถ่าย
- จัดการกับความเครียด เช่น ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น โยคะ ฝึกหายใจ ทำสมาธิ
- ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะอาหาร
ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่เริ่มต้นเองได้ง่าย ๆ และควรมีวินัยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว
3 ท่ากายภาพบำบัดกระตุ้นลำไส้ ลดอาการท้องอืดและปวดหลัง
โดยปกติแล้วท่ากายภาพสำหรับกระตุ้นลำไส้นั้นมีหลายท่าด้วยกัน แต่ Newton Em Clinic ขอนำเสนอท่าออกกำลังกายเพื่อบริหารลำไส้ เป็นท่าบริหารง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ทุกเช้าหลังตื่นนอน รวมทั้งหมด 3 ท่าด้วยกัน ดังนี้…
1.Roll Up
นอนราบกับพื้น แขนเหยียดตรงเหนือศีรษะ ให้ระดับแขนกว้างเท่ากับช่วงไหล่ ขาเหยียดตรงหายใจเข้าช้าๆ ยกแขนทั้ง 2 ข้างขึ้น ออกแรงยกหัวไหล่ 2 ข้างขึ้น และออกแรงหน้าท้องเพื่อลุกนั่ง ก้มตัว แขนทั้ง 2 ข้างเหยียดตรง ก้มแตะปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง ทำ 10 ครั้ง
2.Double Leg Circle
นอนราบกับพื้นแขนทั้ง2 ข้างเหยียดตรงวางข้างลำตัว ยกขา 2 ข้างขึ้นเหยียดตรงตั้งฉากกับพื้น และแขม่วท้องกดหลังติดพื้น เอียงขาทั้ง 2 ข้างไปด้านข้าง สลับ ขวา – ซ้าย ค้างไว้ข้างละ 5 วินาที ทำสลับข้างละ 20 ครั้ง
3.Double Leg Stretch
นอนราบกับพื้นแขนทั้ง 2 ข้างเหยียดตรงวางข้างลำตัว ยกขาทั้ง 2 ข้างขึ้นจากพื้นประมาณ 60 องศา และเกร็งหน้าท้องกดหลังติดพื้นสลับขาขวา-ซ้าย ขึ้นลง ข้างละ 20 ครั้ง
ซึ่งเป็น 3 ท่าง่าย ๆ ที่ผู้ประสบปัญหาสามารถเริ่มต้นทำได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ต้องมีความสม่ำเสมอด้วยเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุป ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “อาการปวดหลังจากท้องอืด”
อย่างไรก็ตาม สาเหตุแก๊สเกินในกระเพาะอาหารนั้นเป็นเพียงหนึ่งในข้อสันนิษฐานของการเกิดอาการปวดหลังเท่านั้น สิ่งสำคัญคือผู้ประสอบปัญหาต้องเฝ้าสังเกตตนเองอย่างละเอียด เพราะอาการปวดท้อง แน่นท้องพร้อมปวดหลัง อาจเป็นสัญญาณของโรคอันตรายได้ เช่น หากปวดท้องแล้วร้าวมาบริเวณหลัง หรือปวดท้องทะลุหลัง สาเหตุที่พบบ่อยคือ กระเพาะอาหารอักเสบ มีแผลกระเพาะอาหาร สาเหตุที่พบได้น้อยกว่ามาก เช่น ตับอ่อนอักเสบ (ซึ่งมักพบในคนดื่มแอลลกอฮอล์มากเป็นประจำหรือมีนิ่วในถุงน้ำดี) เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในกระเพาะอาหาร เนื้องอกหรือมะเร็งที่ตับอ่อน เป็นต้น
แต่หากอาการปวดท้อง และปวดหลังเป็นแยกกัน คือปวดไม่พร้อมกัน หรืออาการปวดท้องไม่ใช่บริเวณลิ้นปี่เหนือสะดือ หรืออาการปวดหลังเป็นตรงบริเวณช่วงเอวหรือสะโพก ไม่ใช่หลังส่วนอก สาเหตุมีมากมายค่ะ โดยที่สาเหตุของการปวดท้องจะเป็นได้จากทุกอวัยวะในช่องท้อง ส่วนสาเหตุการปวดหลัง เช่น การเคล็ดขัดยอกของกล้ามเนื้อจากใช้งานกล้ามเนื้อหลังมากเกินไป การทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องสะสมเป็นเวลานาน กระดูกสันหลังหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือเป็นโรคนิ่วในไต นิ่วในท่อไต ก็อาจทำให้มีอาการปวดหลังได้เช่นกัน โดยทางที่ดี หากมีอาการดังกล่าวและมีความรุนแรงจนน่าสงสัย ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “ปวดหลังเรื้อรัง” พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “โรคกระดูกสันหลัง” 4 โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
- เครื่องมือกายภาพ 5 แบบมีอะไรบ้างแต่ละแบบรักษาอย่างไร