น่องตึง บวม ปัญหาเล็ก ๆ ที่ควรรักษาหากไม่อยากเป็นซ้ำ!
น่องตึง บวม เป็นอาการที่พบเจอได้ในทุกเพศทุกวัยซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน อย่างไรก็ดี อาการน่องบวมมักถูกมองว่าเกิดมาจากการยืนนานๆ หรือการใช้งานอย่างหนักหรือใช้ไม่ถูกวิธีเท่านั้น จึงทำให้น่องเกิดอาการตึง และบวม แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย สาเหตุที่หลายๆ คนคิดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีภาวะโรคร้ายอื่นๆ ที่แฝงอยู่นั่นเอง
น่องตึง บวม เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรให้หาย?
ปวดน่อง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานยกของหนัก ยืนบนส้นสูงนาน เดินเยอะ วิ่งระยะไกล ออกกำลังกายบ่อย เป็นนักกีฬา ป่วยเป็นโรคบางอย่าง ฯลฯ จนทำให้กล้ามเนื้อน่องบาดเจ็บ เกิดการอักเสบ เมื่อเป็นแล้ว จะรู้สึกปวดขา ปวดตึงน่อง อาจเกิดแค่ข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้างก็ได้ หากไม่รักษา ปล่อยให้อาการปวดน่องสะสมนาน ก็จะทำให้เดินลำบาก และอาจกลายเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้
น่องตึง เกิดอาการบวม เกิดจาก…
แม้จะดูเป็นลักษณะอาการที่ดูมีความเมื่อยล้าจากการใช้งานอย่างหนัก แต่สาเหตุดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากอาการน่องบวม หรือ ตึง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกโรคร้ายที่แฝงอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งก็กลายมาเป็นสาเหตุของภาวะน่องบวมดังกล่าว เช่น
1. การยืนนานๆ
หรือนั่งห้อยขาเป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมง ทั้งนี้เนื่องจากเลือดในหลอดเลือดดำจะต้องไหลกลับเข้าสู่หัวใจ หากยืนหรือนั่งห้อยขานาน เลือดจะไหลกลับเข้าสู่หัวใจลำบาก เพราะกล้ามเนื้อที่บริเวณน่องไม่ได้เกิดการเคลื่อนไหว ที่จะช่วยในการบีบไล่เลือดกลับหัวใจ เลือดจึงคั่งอยู่ในหลอดเลือดดำ และทำให้น้ำเหลืองไหลกลับเข้าสู่หลอดเลือดดำไม่ได้ น้ำเหลืองจึงคั่งอยู่ในเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดอาการน่องและเท้าบวมได้ ซึ่งสามารถบวมได้เกือบเท่าตัวเลย และอาจมีอาการปวดได้เล็กน้อย หากได้มีการเคลื่อนไหวของขา หรือยกขาสูง อาการบวมก็จะหายไป
2. มีไตเรื้อรัง หรือไตวาย
แต่มักมีอาการบวมที่หน้าด้วย นอกจากนี้จะต้องมีอาการอื่นๆ อีก เช่น ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะน้อยกว่าปกติ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
3. ภาวะหัวใจวาย
อาการเท้าบวม ขาบวม จะเป็นตลอดทั้งวัน และมีอาการอื่นๆ อีก เช่น แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้ ไอมีเสมหะปนเลือด น้ำหนักเพิ่ม เป็นต้น
4. เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา
อาการบวมจะเป็นตลอดต่อเนื่อง การนอนไม่ทำให้อาการดีขึ้นหรือหายไป คลำดูบริเวณขาจะรู้สึกร้อนกว่าปกติ หรือคลำหลอดเลือดได้เป็นเส้นแข็ง หากกระดกเท้าขึ้นจะปวดที่บริเวณน่อง มักมีปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิด เช่น หลังผ่าตัด ผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เป็นโรคภูมิแพ้ตนเองชนิดต่างๆ มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
5. น้ำเหลืองคั่งจากท่อน้ำเหลืองอุดตัน
ซึ่งมีสาเหตุ เช่น โรคเท้าช้าง โรคมะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งก็ต้องมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
ลักษณะอาการ
อาการปวดน่อง สามารถรักษาให้หายเองได้ แต่หากคุณมีอาการปวดน่องนานเกิน 1 เดือน และมีอาการแบบนี้ โดยไม่จำเป็นต้องครบทุกข้อ แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างแน่ชัด
- ปวดน่องตลอดเวลา
- กดน่องแล้วเจ็บ
- ขา และ น่องบวมขึ้น
- รู้สึกแสบร้อนที่น่อง
- รู้สึกเจ็บแปลบที่น่อง
- รู้สึกชาที่น่อง
- เดินไม่ได้
แนวทางการรักษาด้วยตนเองเบื้องต้น
เมื่อมีอาการปวดน่อง คุณสามารถดูแลอาการเบื้องต้น ด้วยตัวเองง่าย ๆ ดังนี้
- ประคบร้อน หลัง 48 ชั่วโมง เพื่อยืดเส้นกล้ามเนื้อน่อง
- ใช้สเปรย์ฉีดขา แก้ปวด โดยลูบวนเบาๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดน่อง ห้ามบีบนวดกล้ามเนื้อน่องเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ปวดน่องมากกว่าเดิม
- รับประทานยาแก้เส้นตึง แก้ปวด หรือ ทานยาสมุนไพรแก้ปวดขา
- หากน่องบวม ให้ยกขาสูงกว่าระดับหัวใจ เพราะจะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ช่วยลดอาการน่องบวมได้
- หากปวดน่อง เส้นตึงบ่อย ให้อบอุ่นร่างกาย ยืดเส้น ใช้ท่ายืดน่อง ก่อนออกกำลังกาย หรือ หลังตื่นนอนทุกเช้า
- งดออกกำลังกาย จนกว่าจะหายปวดน่อง
- ไม่ออกกำลังกายอย่างหักโหม
การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์
แพทย์จะรักษาอาการปวดน่องตามลักษณะอาการ ผลการวินิจฉัย และโรคประจำตัวของผู้ป่วยร่วมกัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและควบคุมสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดน่องซ้ำอีกในอนาคต กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดน่องจากภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง หลอดเลือดดำอุดตันที่ขา หรือเส้นประสาทถูกทำลายจากเบาหวาน อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาและการผ่าตัด ทั้งนี้ หากอาการปวดน่องไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากหลังการรักษา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การทำกายภาพเพื่อรักษาภาวะ “กล้ามเนื้อน่องอักเสบ” มีอาการบวมและตึง
กายภาพบําบัดกล้ามเนื้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofascial pain syndrome) สามารถรักษาด้วยเครื่องมือ กายภาพบำบัด ดังนี้
การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG)
เป็นการสอดขั้วกระแสไฟฟ้ารูปร่างคล้ายเข็มผ่านผิวหนังเข้าไปภายในกล้ามเนื้อ วิธีนี้จะช่วยตรวจหากล้ามเนื้อที่อ่อนแอหรือถูกทำลายจากการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ โดยเครื่องจะบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของปลายเส้นประสาท เพื่อให้แพทย์สามารถดูว่ามีรูปแบบการทำงานผิดปกติหรือไม่
การทำ MRI Scan
เป็นการวินิจฉัยโดยใช้กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูงถ่ายภาพกล้ามเนื้อของผู้ป่วย สามารถช่วยระบุหากล้ามเนื้อบริเวณที่มีการอักเสบหรือมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีนี้มักไม่ค่อยนำมาใช้
เครื่องอัลตร้าซาวด์
ช่วยคลายก้อนกล้ามเนื้อแข็งและเกร็งตัวให้นิ่มลง
เครื่องไฮเพาเวอร์เลเซอร์
ช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
เครื่องอบความร้อนลึก
ช่วยคลายกล้ามเนื้อและลดการอักเสบ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีวิธีรักษาที่เรียกว่า “Trigger Point Therapy” เป็นการรักษาที่ลดอาการปวดที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ ด้วยการสลายจุด Trigger Point และป้องกันการกลับมาของอาการปวด ใช้เวลาในการรักษาเพียงอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง โดยทำประมาณ 4 – 6 ครั้ง
ขั้นตอนในการรักษานั้นมีตั้งแต่ การกินยา การฝังเข็ม การทำกายภาพบำบัด และการฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของอาการแต่ละบุคคลที่มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อทุก ๆ คนต้องเข้าใจว่า อาการนี้จะไม่หายขาด เพราะโรคนี้ส่วนใหญ่แล้วมาจากการทำงาน ทุกคนจึงควรได้รับความรู้ที่ถูกต้องและการดูแลกล้ามเนื้อให้ถูกวิธี อาการดังกล่าวก็จะหายไปได้
สรุป ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “กล้ามเนื้อน่องมีอาการบวม ตึง”
ท้ายที่สุด อาการ “ปวดน่อง” เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณน่อง โดยแต่ละคนอาจมีอาการแตกต่างกันไป แต่โดยมากมักมีอาการปวดเมื่อย ปวดแปลบ ปวดร้าว หรือรู้สึกปวดตึงบริเวณด้านหลังของขาส่วนล่าง ทั้งนี้ สาเหตุอาจมาจากการได้รับบาดเจ็บจนทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ โรคเรื้อรังบางชนิด หรือการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ในการรักษาต้องรักษาที่สาเหตุแท้จริงเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- ปวดเอวเวลานอน-สาเหตุการนอนไม่หลับ แก้ยังไงดี
- “ปวดหลังเรื้อรัง” 6 พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “ฝังเข็ม” วิธีรักษาทางกายภาพบำบัดของโรคออฟฟิศซินโดรม