โรคหลอดเลือดสมอง: สัญญาณอันตรายของอัมพาต
“โรคหลอดเลือดสมอง” โรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโรคทั้งหมด โดยรองจากอันดับ 1 อย่าง โรคมะเร็ง นั่นเอง ซึ่งจริงอยู่ที่โรคนี้มักจะพบในผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงวัยเนื่องจากหลอดเลือดมีความเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้จะเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยไม่ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดตั้งแต่กำเนิด หรือ การประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น และนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตในที่สุด ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือการทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคนี้อย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้รู้วิธีการป้องกันและดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
“โรคหลอดเลือดสมอง” คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร?
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองมีการตีบตันหรือแตกอย่างเฉียบพลัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองในส่วนนั้นหยุดชะงักลง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย เนื่องจากการขาดออกซิเจนและสารอาหาร โดยปกติสมองของคนเราแต่ละส่วนจะควบคุมการทำงานของร่างกายแตกต่างกันออกไป เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายจะส่งผลต่อการทำหน้าที่ในส่วนนั้นๆ
สาเหตุ
สาเหตุของโรคหลอดเลือดในสมอง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้ หลอดเลือดสมองตีบ (Atherosclerosis) เป็นสาเหตุที่สามารถเกิดได้มากที่สุดถึง 80% โดยการที่หลอดเลือดในสมองตีบนั้นเกิดจากการที่ลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังหลอดเลือดสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตันนั่นเอง โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดสมองตันนั้น ยกตัวอย่าง เช่น อายุ ความดันโลหิตสูง พฤติกรรมการดื่มแอลกอร์ฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น หลอดเลือดสมองอุดตัน (Embolic) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง โดยสาเหตุนี้นอกจากจะมีปัจจัยที่มาจากความผิดปกติของหลอดเลือดหรือหัวใจของผู้ป่วยที่มีมาตั้งแต่กำเนิดแล้ว ก็จะมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถพบได้มากในกลุ่มวัยรุ่น เช่น การเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ต้องใช้แรงสะบัดอวัยวะ แรงๆ หรือจากปัจจัยในผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดหลังคลอด โดยอาจมีอาการชักร่วมด้วยในบางราย เลือดออกในสมอง (Hemorrhagic) สาเหตุนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด 20% เกิดจากเลือดออกภายในสมอง ซึ่งเลือดที่ไหลออกมาทำให้เกิดแรงกดเบียดต่อเนื้อสมอง และทำลายเนื้อสมอง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง
ลักษณะอาการ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการดังต่อไปนี้
- สูญเสียการควบคุมอวัยวะบางส่วนจากอาการอ่อนแรงหรืออัมพาต โดยเฉพาะที่แขนและขาด้านใดด้านหนึ่ง
- การพูดและการมองเห็นไม่ปกติ เช่น กลืนลำบาก ทรงตัวไม่ค่อยได้
- มีปัญหาในการควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ในกรณีที่เป็นรุนแรง
ความเสียหายต่อสมอง
-
ความเสียหายต่อสมองซีกซ้าย ส่งผลให้
อัมพาตครึ่งตัวด้านขวา ปัญหาการพูด ความเข้าใจ และการกลืน สูญเสียการจัดการ และมีการตอบสนองช้าลง เสียการมองเห็นภาพซีกขวาของตาทั้งสองข้าง
-
ความเสียหายต่อสมองซีกขวา ส่งผลให้
อัมพาตครึ่งตัวด้านซ้าย สูญเสียความสามารถในการประเมินและกะระยะทาง สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจในการทำสิ่งต่างๆ เสียการมองเห็นภาพซีกซ้ายของตาทั้งสองข้าง
แนวทางการรักษา
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างทันท่วงทีด้วยวิธีการที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการเป็นซ้ำและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีแนวทางดังนี้
1.การผ่าตัดถ่างหลอดเลือด
โดยการผ่าตัดเช่นนี้จะรักษาในเชิงเดียวกับการทำบอลลลูน โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดถ่างหลอดเลือดในจุดที่มีการตีบอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ตีบซ้ำ
2. การผ่าตัด
การผ่าตัดแบบแผลเล็ก Minimal Invasive โดยใส่สายสวนที่ขาหนีบเพื่อเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตัน ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองที่ยังไม่ตายได้ทัน
3.การใช้ยา
โดยส่วนมากจะเป็นยาที่ช่วยในการสลายลิ่มเลือดเพื่อลดการอุดตัน การหนืด และเกาะตัวนั่นเอง
การฟื้นฟูผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
กายภาพบำบัด (Physical Therapy)
ฝึกกำลังแขนขา การทรงตัว การเคลื่อนไหว การเดิน
กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy)
ฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อการใช้งานของแขนและมือ ฝึกกลืน ฝึกการขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ฝึกทำกิจวัตรประจำวัน
อรรถบำบัด (Speech Therapy)
ฝึกการพูด การหายใจ
ฟื้นฟูกระบวนการรับรู้ ความคิด และความจำ (Cognitive Function)
รวมถึงการฟื้นฟูภาวะซึมเศร้าและปัญหาด้านสภาพจิตใจ
อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคนี้คือการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติอย่างเร็วที่สุด จริงอยู่การรักษาจากแพทย์หรือการผ่าตัดนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยผู้ป่วยได้จริง แต่ถ้าหากผู้ป่วยทำการรักษาโดยปราศจากขั้นตอนการฟื้นฟู ก็จะทำให้การกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ช้าลง ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวรวมถึงตัวผู้ป่วยเองจึงต้องหมั่นทำตามคำแนะนำแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน