“โรครองช้ำ” คืออะไร อันตรายมากแค่ไหน?
“โรครองช้ำ” หลายๆ คนอาจไม่เคยรู้จักและไม่ทราบมาก่อนว่าโรคนี้คือโรคอะไร รองช้ำ คือ โรคที่เกี่ยวกับการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้าและมักพบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย หากจะพูดถึงอาการที่สังเกตได้ง่ายๆ ก็คือผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บที่ส้นเท้าในเวลาที่ต้องลงน้ำหนักตัวไปที่ส้นแล้วก็หายไป เป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ หลายๆ คนจึงคิดว่าไม่อันตรายและปล่อยจนเรื้อรัง หากแต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่า การปล่อยให้อาการนี้เป็นไปเรื่อยๆ อาจส่งผลโรคร้ายแรงต่อข้อเท้าได้ในที่สุด
“โรครองช้ำ” คืออะไร มีสาเหตุและอาการอย่างไรบ้าง?
คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณที่พังผืดยึดกับกระดูกส้นเท้า ผู้ป่วยมักมีการเจ็บปวดบริเวณส้นเท้าเวลาลงน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรกๆ ของการลงน้ำหนัก เช่น ตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังจากการนั่งนาน ๆ แต่เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ อาการปวดจะดีขึ้น ซึ่งในนักวิ่งก็เช่นกัน อาการปวดจะมีมากในช่วงแรกของการวิ่ง เมื่อวิ่งไปได้ระยะหนึ่ง อาการปวดจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่จะกลับมาปวดอีกครั้งเมื่อหยุดวิ่ง เมื่อเป็นมากๆ จะมีอาการปวดตลอดเวลา
สาเหตุของโรครองช้ำ
1.การรับน้ำหนักเป็นเวลานาน
ทำให้เอ็นที่ฝ่าเท้ารับน้ำหนักมาก พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องยืนเป็นเวลานานในระหว่างวัน เช่น ผู้ที่ต้องยืนตลอดกะการทำงานทั้ง 8 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น
2.น้ำหนักตัว
โดยผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวที่มากเพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอาจก่อให้เกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
3.รองเท้า
สวมใส่รองเท้าที่ไม่ได้มาตรฐานทำให้การรับน้ำหนักของเท้าไม่สมดุล
4.เอ็นร้อยหวายยึด
โดยสาเหตุนี้ทำให้ส้นเท้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
5.โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือข้อสันหลังอักเสบ
อาจทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบที่เส้นเอ็นในจุดใดจุดหนึ่งที่เชื่อมต่อกับกระดูก ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้
อาการทั่วไปที่สามารถสังเกตได้
ผู้ที่เป็นรองช้ำจะมีอาการปวดบริเวณใต้ฝ่าเท้า โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอนเวลาเดินลงนำ้หนักในช่วง 3-4 ก้าวแรก เมื่อเดินไปสักพักอาการปวดจะลดลง อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลาใช้งานลงน้ำหนักเท้ามากๆ และดีขึ้นเมื่อมีการพักใช้งาน ถ้าเป็นนานๆอาจมีหินปูนเกาะบริเวณส้นเท้า
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงกับอาการรองช้ำ
- ผู้สูงอายุ
- เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย
- ผู้ที่น้ำหนักตัวมาก
- ผู้ที่ต้องยืนนานๆ เดินนานๆ เป็นประจำ
- ผู้ที่มีฝ่าเท้าแบนหรือโก่งกว่าปกติ หรือมีท่าทางการเดินที่ผิดปกติ
- ผู้ที่ใส่รองเท้าพื้นแข็งหรือบางเกินไป
แนวทางการรักษา
-
ระยะแรก
สามารถรักษาโดยการพักการใช้งานเท้า ปรับรองเท้าให้อ่อนนุ่มเหมาะสมกับขนาดและรูปทรงของเท้า ใช้อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้า การประคบเย็น การทำกายภาพบำบัด การรักษาด้วยยาลดอาการอักเสบ
-
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีอาการเรื้อรัง รักษาเบื้องต้นไม่ได้ผล
แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการใช้คลื่นความถี่ (shock wave) รวมถึงการผ่าตัดเอาพังผืดฝ่าเท้าที่อักเสบและนำหินปูนที่ฝ่าเท้าออก
การฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิดอาการรองช้ำ
1.เลือกรองเท้าที่เหมาะสม เลือกรองเท้าที่มีเจลรับแรงกระแทกบริเวณส้นเท้าเป็นพิเศษหรือเจาะรูที่พื้นรองเท้าให้เป็นวงกลมเพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับบริเวณที่อักเสบ 2. หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง เนื่องจากในการเดินนั้น ส้นเท้า ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่ต้องคอยพยุงน้ำหนักตัวของเราอยู่เสมอ ดังนั้นผู้ป่วยควรสวมรองเท้าหากจะต้องเดินบนพื้นแข็งๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้อาการเจ็บกำเริบนั่นเอง 3.น้ำหนักตัว หากน้ำหนักตัวยังคงมากอยู่ ควรเปลี่ยนไปออกกำลังชนิดอื่นที่ไม่มีการกระแทกบริเวณส้นเท้า เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน 4.ในกรณีที่รูปเท้าผิดปกติ ผู้ป่วยควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปร่างของเท้า ให้ความสำคัญกับพื้นรองเท้า ต้องมีความหนานุ่มเพียงพอ เพื่อช่วยพยุงและรองรับฝ่าเท้าได้ดี
ท่ากายบริหารสำหรับบรรเทาอาการปวดจากโรครองช้ำ
1.ยืดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โดยยืนบนพื้นที่มีความชัน ขาและเข่าเหยียดตรง
2.ใช้ลูกเทนนิสวางบริเวณอุ้งฝ่าเท้า แล้วเคลื่อนไปมา เพื่อคลายเอ็นใต้ฝ้าเท้า
3.ก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหน้า จากนั้นโน้มตัวไปด้านหน้าให้รู้สึกตึงบริเวณน่องของขาหลัง
4.นั่งเหยียดขา 2 ข้างไปด้านหน้า ใช้ผ้าคล้องปลายเท้า จากนั้นค่อยๆดึงเบาๆ ให้รู้สึกตึงบริเวณน่องและฝาเท้า
5.ออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งฝ้าเท้า โดยใช้อุ้งนิ้วเท้าหยิบผ้าขนหนูผืนเล็กๆขึ้นมาจากพื้น
อย่างไรก็ดี อาการอักเสบของส้นเท้าชนิดนี้แม้จะดูไม่อันตรายมาก แต่ก็ควรรักษาให้หาย มิเช่นนั้นก็จะมีอาการเรื้อรังและจะทำให้ยากต่อการรักษาในท้ายที่สุด โดยผู้ป่วยท่านใดที่มีอาการอื่นๆ ของข้อเท้าร่วมด้วย เช่น เอ็นร้อยหวายอักเสบ กระดูกร้าวหรืองอก ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือนักกายภาพอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน