“โรคพาร์กินสัน” บำบัดได้ด้วยการทำกายภาพ
“โรคพาร์กินสัน” เป็นโรคของความเสื่อมทางสมองที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุที่มักจะพบว่าเป็นโรคนี้อยู่มาก โดยในปัจจุบันนั้นยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่การรีบให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยและได้รับการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นก็จะช่วยชะลออาการของโรคให้กับผู้ป่วยได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคนี้ก็คือการทำ กายภาพบำบัด นั่นเอง
“โรคพาร์กินสัน” คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร?
เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ สถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปี สำหรับในประเทศไทยมีการเก็บรวบรวมสถิติการเกิดโรค จากสภากาชาดไทยพบว่าอุบัติการณ์การเกิดโรคพาร์กินสันอยู่ที่ 425 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งพบมากในประชากรแถบภาคกลางของประเทศ คนไทยสมัยโบราณรู้จักโรคพาร์กินสันมานานแล้วในนามของ “โรคสันนิบาตลูกนก” แต่ก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันคนไทยตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น ผู้ป่วยจึงได้มาพบแพทย์เร็วขึ้นทำให้ได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ นั่นเอง
สาเหตุ
โรคพาร์กินสัน เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองที่มีความสามารถในการสร้าง โดปามีน หรือ สารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัว (Dopamine) บริเวณเบซัลแกงเกลีย (Basal Ganglion) และก้านสมอง เมื่อเซลล์สมองเสื่อมสภาพหรือถูกทำลายไป การสร้างสารโดปามีนจึงลดลง ทำให้เกิดอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า แข็งเกร็ง การเดินและการทรงตัวลำบาก
อาการ
ในส่วนของอาการของโรคนี้ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มอาการหลักคือ
-
อาการทางการเคลื่อนไหว
อาการทางการเคลื่อนไหวที่บุคคลทั่วไปพอทราบกันนั้นคืออาการสั่น
-
อาการระบบอื่นๆ
ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แต่นอกจากอาการสั่นแล้วก็ยังมีอาการอื่นอีก ได้แก่ เคลื่อนไหวช้า ร่างกายแข็งเกร็ง หลังค่อม เดินลำบากและล้มง่าย
กลุ่มอาการที่สามารถสังเกตได้
-
สั่น
เกิดอาการสั่นเมื่ออยู่นิ่งมากกว่าตอนที่เคลื่อนไหว พบมากบริเวณ มือ เท้า อาจพบที่ลิ้นและคาง
-
กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง
มักเกิดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแขน ขา ลำตัว
-
เคลื่อนไหวช้า
ผู้ป่วยขาดความกระฉับกระเฉงในการเคลื่อนไหว อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มได้
-
การแสดงออกทางสีหน้า
ใบหน้าผู้ป่วยจะแสดงสีหน้าไม่มีอารมณ์ เฉยเมย ผู้ป่วยสามารถขยับมุมปากได้เพียงเล็กน้อย
ระดับอาการของโรคพาร์กินสัน
อาการพาร์กินสันสามารถจำแนกได้ 5 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1:
เกิดอาการสั่นเพียงเล็กน้อยในการเดิน ยืน การแสดงออกทางสีหน้า ซึ่งยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติ
ระดับที่ 2:
เกิดอาการสั่นทั้งสองข้าง อาการแข็งเกร็ง การยืน เดิน ผิดปกติและมีลำตัวคดงอเล็กน้อย การดำเนินชีวิตประจำวันยังปกติแต่บางอย่างอาจทำได้ยากขึ้น
ระดับที่ 3:
เกิดอาการสั่นทั้งสองข้าง เริ่มทรงตัวไม่ค่อยอยู่ ร่างกายเริ่มสูญเสียสมดุลทำให้เดินช้าลง ผู้ป่วยมีโอกาสล้มได้ในระยะนี้
ระดับที่ 4:
เกิดอาการสั่นทั้งสองข้างหนักมากจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จึงต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
ระดับที่ 5:
เกิดอาการสั่นทั้งสองข้างอย่างรุนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองทำให้เป็นผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการประสาทหลอนเกิดขึ้นด้วย
แนวทางการรักษา
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า โรคความเสื่อมทางสมองชนิดนี้ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด ดังนั้น หากใครที่ทราบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีโอกาสที่จะเป็นผู้ป่วยโรคนี้จึงควรดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่ให้อาการแย่ลงนั่นเอง
การดูแลและรักษาในการประคองอาการผู้ป่วย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี คือ
1.การรักษาด้วยยา ทั้งรับประทานและฉีด 2. การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น การทำกายภาพบำบัด อรรถบำบัด เป็นต้น 3. การรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา
ตัวอย่าง กิจกรรมกายภาพบำบัดที่ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
-
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย
เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีความตึงและเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวของร่างกายและการขยับข้อต่อมีความลำบาก ดังนั้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เคลื่อนไหวร่างกายได้ง่าย และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น
-
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีโครงสร้างของร่างกายที่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป ที่สังเกตเห็นได้ชัด เช่น หลังค่อม ไหล่ห่อ เข่าและสะโพกเหยียดไม่สุด ติดอยู่ในท่างอ ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลกันของกล้ามเนื้อร่างกาย การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงจะช่วยปรับสมดุลของกล้ามเนื้อร่างกาย ทำให้โครงสร้างของร่างกายดีขึ้น และสามารถลุกขึ้นยืน เดินได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยชะลอการดำเนินไปของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย
-
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของร่างกาย
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของร่างกายในผู้ป่วยพาร์กินสัน อาจจะออกกำลังกายโดยการเดิน ว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลทำให้ระบบการทำงานของหัวใจ ปอด และการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่เหนื่อยง่าย และยังสามารถช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์สมองได้อีกด้วย
-
การออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัวรักษาสมดุลของร่างกาย
การทรงตัวขาดความสมดุลเป็นปัญหาที่มักพบบ่อยในผู้ป่วยพาร์กินสัน ส่งผลให้การทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันยากลำบาก เช่น การลุกขึ้นยืน การยืน และการเดิน เป็นต้น ดังนั้นการออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัวรักษาสมดุลของร่างกายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงในการทำกิจกรรมต่างๆของผู้ป่วย การฝึกแกว่งแขน การฝึกก้าวขายาวในผู้ป่วยพาร์กินสันจะช่วยให้ผู้ป่วยเดินได้ง่ายและคล่องขึ้น อีกทั้งยังลดปัจจัยเสี่ยงต่อการล้มของผู้ป่วยได้อีกด้วย
-
การฝึกออกเสียง และการฝึกกลืน
จะพบว่าผู้ป่วยพาร์กินสันมักจะพูดและกลืนได้ลำบาก การฝึกออกเสียง การพูดช้าๆชัดๆและออกเสียงให้ดัง การฝึกให้ผู้ป่วยออกเสียงโดยการร้องเพลง หรือชวนพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยตอบโต้กับผู้อื่นจึงมีความสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาการออกเสียง และการกลืนลำบากได้
-
การฝึกหายใจ
เนื่องจากภาวะตึงของกล้ามเนื้อและการแข็งเกร็งของแนวแกนกลางลำตัว ผู้ป่วยพาร์กินสันจึงมักจะหายใจได้สั้นและถี่ ทำให้มีอาการหอบเหนื่อยได้ง่าย การฝึกการหายใจโดยให้มีการขยายของซี่โครงในระดับต่างๆ และฝึกให้ผู้ป่วยใช้กล้ามเนื้อกระบังลมในการหายใจจะช่วยลดอาการดังกล่าวลงได้ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี นอกจากการออกกำลังกายเหล่านี้แล้ว ผู้ป่วยโรคนี้ต้องได้รับการบำบัดในกิจกรรมการกระตุ้นความจำด้วย เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ฝึกคิดและจำ ซึ่งจะทำให้ระบบสมองของผู้ป่วยได้ทำงานอยู่เสมอ ทั้งนี้ บุคคลที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยไม่ใช่มีเพียงแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หากแต่รวมสมาชิกในครอบครัวที่ต้องหมั่นดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและสังเกตอาการของผู้ป่วยเสมอ เพียงเท่านี้ โรคพาร์กินสัน ก็จะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน