“โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” คืออะไร รักษาด้วยกายภาพได้หรือไม่?
“โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” หนึ่งในกลุ่มโรคเกี่ยวกับการอักเสบของปอดที่นับได้ว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งสาเหตุของโรคนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่ปอดเกิดความเสียหายจากการได้รับแก๊สหรือสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดลมค่อยๆ ตีบแคบลงหรือถูกอุดกั้นโดยไม่อาจฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้อีกนั่นเอง ดังนั้น หากเป็นโรคนี้ขึ้นมา ควรรักษาอย่างไรและการทำกายภาพสามารถช่วยได้หรือไม่
“โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” คืออะไร และมีสาเหตุมาจากอะไร?
โรคนี้เป็นโรคปอดที่มีลักษณะเฉพาะคือความบกพร่องอย่างเรื้อรังในการไหลผ่านของอากาศของระบบทางเดินหายใจ และมักจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการที่พบบ่อยได้แก่ เหนื่อย ไอ และ มีเสมหะ เป็นต้น
ประเภทของโรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง
โรคปอดชนิดนี้สามารถออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1.โรคหลอดลมอักเสบ
เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม มีเสมหะอุดหลอดลม
2.โรคถุงลมปอด
ถุงลมส่วนปลายมีขนาดโตกว่าปกติร่วมกับมีการทำลายของผนังถุงลม
3.โรคหอบหืด
เกิดการหดเกร็งตีบแคบลง บวม เนื่องจากมีการอักเสบรวมทั้งจะมีการสร้างเสมหะมากกว่าปกติ
สาเหตุหลักของการเกิดโรค
สาเหตุสำคัญของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่
การสูบบุหรี่
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดเนื่องจากในควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด สารและแก๊สเหล่านี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลมและถุงลมจนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง และทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพในที่สุด ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับควันบุหรี่แม้จะไม่ได้สูบก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน
มลพิษทางอากาศ
เช่น ฝุ่นละออง ควันพิษ รวมถึงการหายใจเอาสารเคมีบางอย่างเข้าไปในปอดติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นกรณีที่มักเกิดกับผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีละอองสารเคมี เช่น เหมืองถ่านหิน งานเชื่อมโลหะ รวมถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการประกอบอาหารและขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆ
โรคทางพันธุกรรม
เช่น โรคพร่องสาร alpha-1-antitrypsin (AAT) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่ผลิตในตับแล้วหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อป้องกันไม่ให้ปอดถูกทำลายจากสารต่างๆ โรคนี้จึงสามารถเกิดได้ทั้งกับคนวัยหนุ่มสาว สำหรับผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ การขาด AAT จะเร่งให้เกิดภาวะถุงลมโป่งพองเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนักและมักพบในชาวยุโรปหรือชนชาติผิวขาวอื่นๆ
ลักษณะอาการ
ในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการปรากฎ จนกระทั่งปอดถูกทำลายมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะมากโดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน รู้สึกเหนื่อยหอบ หมดเรี่ยวแรง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจบ่อยๆ บางรายอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วง เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบมากจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ น้ำหนักลดลงอย่างมาก ในระยะท้ายของโรคมักพบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ภาวะหายใจวาย (respiratory failure) และหัวใจด้านขวาล้มเหลว
แนวทางการรักษา
แม้ว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการดำเนินโรค บรรเทาอาการของโรค ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนรวมถึงอาการกำเริบเฉียบพลันได้ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
เลิกสูบบุหรี่
เนื่องด้วยการสูบบุหรี่นั้นเป็นสาเหตุหลักของการทำให้ปอดเกิดปัญหา ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการให้ผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดเพื่อสุขภาพของปอดที่ดีขึ้น
การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยานั้นมีจุดประสงค์ในการที่จะช่วยลดและบรรเทาอาการเจ็บปวดลง ซึ่งจะเลือกใช้ไปตามอาการของผู้ป่วยในแต่ละกรณี เช่น
-
ยาขยายหลอดลม
ช่วยในเรื่องของการไอ หายใจติดขัด ผู้ป่วยจึงหายใจได้สะดวกขึ้น สามารถรับยาได้ทั้งแบบพ่นและแบบทานซึ่งก็จะช่วยได้ในระยะที่สั้นและยาวแตกต่างกันไป
-
ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด
จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งอาจจะมีการใช้ในรูปแบบเม็ดเพื่อรักษาและป้องกันการกำเริบของโรคแบบเฉียบพลัน แม้ว่าคอร์ติโคสเตียรอยด์จะไม่แสดงถึงประโยชน์สำหรับผู้ที่เป็นโรค COPD ในระยะเบื้องต้น แต่ก็สามารถลดการกำเริบของโรคแบบเฉียบพลันในผู้ป่วยที่เป็นโรคระยะปานกลางและระยะรุนแรงได้
-
ยาปฏิชีวนะ
ให้ในกรณีที่มีการติดเชื้อ หรือการกำเริบเฉียบพลัน
การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
แม้ผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่สะดวกที่จะต้องรับยาบ่อยๆ แต่ก็สามารถทำการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้ เช่น การบำบัดออกซิเจนระยะยาว การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันการเสียหายของปอด และการทำ กายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของปอดให้ดีมากขึ้น
กายภาพบำบัดช่วยอะไรได้บ้าง?
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคปอดชนิดนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การทำกายภาพบำบัดก็สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของปอด และบรรเทาอาการเจ็บปวดรวมถึงลดอาการที่จะกำเริบขึ้นได้ ทั้งนี้ต้องมีการดูแลเรื่องโภชนาการและสภาพจิตใจของผู้ป่วยร่วมด้วย
ตัวอย่างกิจกรรมกายภาพบำบัดในการฝึกหายใจและยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มปริมาณการหายใจเข้า-ออก
1. การฝึกหายใจเพื่อลดอาการเหนื่อยหอบ
หายใจเข้าทางจมูก (ท้องป่อง) หายใจออกผ่อนออกทางปากช้าๆ (ท้องแฟบ) จำนวนครั้ง 5-10 ครั้ง /หรือทำจนอาการหอบเหนื่อยลดลง
2. การฝึกยืดกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มปริมาณการหายใจเข้า-ออก
ท่าที่1. เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกด้านหน้า-ด้านหลัง ท่าเริ่มต้น นั่งตัวตรงบนเก้าอี้ วิธีการ ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะพร้อมหายใจเข้า จากนั้นโน้มตัวลงมาทางด้านหน้าพร้อมหายใจออก จำนวนครั้ง 5ครั้ง/เซต ทำซ้ำ 2 เซต ท่าที่2. เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกด้านหลัง-ด้านข้าง ท่าเริ่มต้น นั่งตัวตรงบนเก้าอี้ วิธีการ ประสานมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกันยกแขนขึ้นเหนือศีรษะและหมุนตัวไปด้านซ้าย พร้อมหายใจเข้า จากนั้นโน้มตัวลงมาทางด้านหน้ามือแตะพื้นพร้อมหายใจออก จำนวนครั้ง 5ครั้ง/เซต ทำซ้ำ 2 เซต ท่าที่3. เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกด้านหน้า-ด้านหลัง ท่าเริ่มต้น นั่งตัวตรงบนเก้าอี้ วิธีการ ประสานมือทั้งสองไว้ที่ท้ายทอย ก้มตัวลงพร้อมเอาศอกชิดกันและหายใจออก กางศอกออกพร้อมกับยืดตัวหายใจเข้า จำนวนครั้ง 5ครั้ง/เซต ทำซ้ำ 2 เซต ท่าที่4. เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกด้านข้าง ท่าเริ่มต้น นั่งตัวตรงบนเก้าอี้ วิธีการ ยกแขนขึ้นเหนือศร๊ษะและเอียงตัวมาทางด้านซ้ายพร้อมหายใจเข้า กลับสู่ท่าเดิมพร้อมหายใจออก จำนวนครั้ง 5ครั้ง/เซต ทำซ้ำ 2 เซต อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงการรักษาและดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นเท่านั้น โดยผู้ป่วยควรเข้ารับคำแนะนำและการดูแลจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักกายภาพบำบัดอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อที่จะได้ประคองอาการให้ดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้ หากในกรณีที่ใครยังไม่ถึงขั้นที่จะเข้าข่ายการเป็นโรคปอดชนิดนี้ และมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเป็นก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นๆ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคมากขึ้นนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน