“โรคกระดูกสันหลัง” 4 โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
“โรคกระดูกสันหลัง” มักจะเป็นสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ใครหลายคนต้องมาพบแพทย์ เนื่องจากไม่ว่าจะขยับไปไหนก็จะรู้สึกเจ็บอยู่เสมอและทำให้การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันติดขัดไปเสียหมด แต่เหนือสิ่งอื่นใด ดูเหมือนว่าการปวดหลังนั้นจะไม่ใช่แค่การปวดบริเวณหลังอย่างเดียวแต่ยังตามมาด้วยก็ปวดหลังคอ ปวดบ่า แขน และในบางรายอาจเกิดอาการชาตามมือและเท้าด้วย ดังนั้นปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขที่ต้นตอ นั่นคือหาสาเหตุที่แท้จริงของการปวดหลังนั่นเอง ซึ่งหากกล่าวกันตามจริงอาการปวดหลังนั้นอาจมาจากโรคบางโรคที่คุณอาจคาดไม่ถึงก็เป็นได้
“โรคกระดูกสันหลัง” ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
เรื่องราวของกระดูกสันหลัง เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับร่างกายคนเรา เพราะกระดูกสันหลังเปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างหลักที่ช่วยค้ำยันร่างกายให้ตั้งตรง เป็นศูนย์รวมของระบบประสาทที่สำคัญ ควบคุมแขน ขา อวัยวะภายในของร่างกายและให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เราต้องการ และเมื่อใดที่เกิดปัญหาสุขภาพกับอวัยวะสำคัญนี้ ย่อมมีผลกระทบอย่างมากกับการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้านของคนเราและปัจจุบันสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคกระดูกสันหลังจะมีที่มาจากการทำกิจกรรมที่ผิดสุขลักษณะ และเพื่อเป็นช่องทางในการดูแลป้องกันก่อนโรคกระดูกสันหลังจะมาเยือนเราจึงควรทำความรู้จักกระดูกชิ้นนี้ของเราและศึกษาโรคอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับมันเพื่อเตรียมพร้อมเพื่อตั้งรับก่อนสายไป
มารู้จักกับกระดูกสันหลังของเรากันก่อน
ประเภทของกระดูกสันหลัง
กระดูกสันหลังนอกจากเป็นโครงสร้างแข็งแรงที่ปกป้องแกนของไขสันหลังแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อของหลัง และยังเชื่อมต่อกับกะโหลกศีรษะ (skull) กระดูกสะบัก (scapula) กระดูกเชิงกราน (pelvic bones) และกระดูกซี่โครง (ribs) อีกด้วย กระดูกสันหลังในคนปกติจะมี 33 ชิ้น ซึ่งจะจัดจำแนกตามตำแหน่งและรูปร่างลักษณะ ได้แก่
1.กระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical vertebrae)
ซึ่งมีจำนวน 7 ชิ้น อยู่ในช่วงลำคอ กระดูกสันหลังในส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็นที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของลำคอและศีรษะ
2.กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic vertebrae)
มีจำนวน 12 ชิ้น อยู่ในส่วนอก และมีลักษณะพิเศษคือจะมีจุดเชื่อมต่อสำหรับกระดูกซี่โครง ซึ่งเป็นโครงร่างสำคัญของช่องอก
3.กระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว (Lumber vertebrae)
มี 5 ชิ้น อยู่ในช่วงเอว และมีขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำหนักของร่างกายท่อนบน และมีส่วนเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อที่เป็นผนังทางด้านหลังของช่องท้องอีกด้วย
4.กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ (Sacral vertebrae)
ซึ่งเดิมมี 5 ชิ้น แต่จะเชื่อมรวมกันเป็นชิ้นเดียว และจะต่อกับกระดูกเชิงกราน (pelvic bone) โดยจะมีช่องเปิด (sacral foramina) เพื่อเป็นทางผ่านของเส้นประสาทที่ไปยังบริเวณเชิงกรานและขา
5.กระดูกสันหลังส่วนก้นกบ (Coccygeal vertebrae)
ซึ่งเดิมมี 4 ชิ้น ซึ่งจะเชื่อมกันเป็นกระดูกชิ้นเดียวเป็นกระดูกรูปสามเหลี่ยมที่ปลายด้านล่างสุด
องค์ประกอบของกระดูกสันหลังหนึ่งชิ้น
กระดูกสันหลังแต่ละชิ้น จะประกอบด้วยโครงสร้าง ช่องเปิดและแขนงของกระดูกที่ยื่นออกมาจากแนวกลาง ซึ่งได้แก่ Vertebral body เป็นแกนกลางของกระดูกสันหลังและเป็นส่วนรองรับน้ำหนัก ส่วนนี้จะติดต่อกับกระดูกสันหลังถัดไปโดยหมอนรองกระดูกสันหลัง (intervertebral discs) และเอ็นต่างๆ ขนาดของ vertebral body ของกระดูกสันหลังส่วนล่างจะมากกว่าส่วนบน เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักมากกว่า Vertebral arch เป็นส่วนที่ยื่นออกไปจากทางด้านหลังของ body และจะประกอบกันเป็นส่วนทางด้านข้างและด้านหลังของ ช่องกระดูกสันหลัง (vertebral foramen) ซึ่งภายในช่องนี้จะมีไขสันหลัง (spinal cord) วางตัวอยู่ แต่ละ vertebral arch จะประกอบด้วยสองส่วน คือ เพดิเซล (pedicels) ซึ่งต่อกับ vertebral body และ ลามินี (laminae) ซึ่งเป็นแผ่นของกระดูกที่ยื่นต่อจากเพดิเซล แล้วมาบรรจบกันที่แนวกลางของกระดูกสันหลัง Spinous process เป็นส่วนที่ยื่นออกมาทางด้านหลังและชี้ลงทางด้านล่างของกระดูกสันหลัง และจะเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆมากมาย Transverse process เป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากรอยต่อระหว่างเพดิเซลและลามินี และยื่นออกมาทางด้านข้างเยื้องไปทางด้านหลังเล็กน้อย และเป็นจุดต่อกับกระดูกซี่โครง ในกระดูกสันหลังส่วนอก Superior and inferior articular processes ยื่นออกมาจากรอยต่อระหว่างเพดิเซลและลามินีของกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น ซึ่งจะเป็นจุดที่ต่อกันระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้นนอกจากที่บริเวณหมอนรองกระดูกสันหลัง
4 โรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลัง
1.กระดูกสันหลังคด
โรคกระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยทั่วไปส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีส่วนน้อยที่อาจเกิดขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคสมองพิการ (cerebral palsy) หรือโรคกล้ามเนื้อเสื่อม (muscular dystrophy) การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ในเด็กบางรายกระดูกสันหลังอาจผิดรูปมากขึ้นเมื่อโตสู่วัยรุ่น
2.โรคกระดูกทับเส้น
โรคกระดูกทับเส้น หรือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยด้วยอาการปวดหลัง ปวดขา และเดินได้ในระยะสั้นลงเรื่อย ๆ อาการกระดูกทับเส้น หรือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ เนื่องจากการเสื่อมสภาพของข้อกระดูกสันหลังจนทรุดตัว ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นเพื่อต้านการทรุดตัวและไปกดทับเส้นประสาท หรือบางครั้งอาจเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท
3.กระดูกก้านคอเสื่อม
ผู้ที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อมจะมีอาการเริ่มแรกคือ นอนหลับไม่สนิท บางทีนอนตะแคงไม่ได้ นอนตะแคงแล้วจะเกิดอาการปวดเมื่อย ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ จะใช้หมอนหนาขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นอันหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง และต่อมาจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงของมือและแขน บางรายจะมีอาการเหลียวหลังไม่สะดวก ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้ร่างกายพิการได้
4.หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
มีสาเหตุมาจากการสึกหรอตามอายุการใช้งาน เช่นนั่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ นั่งขับรถเป็นระยะทางไกลๆ เป็นประจำ โดยอาการที่แสดงว่าหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมที่เห็นเด่นชัดคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณเอว ลักษณะอาการปวดจะตื้อๆ ระดับเอวอาจร้าวลงมาที่บริเวณกล้ามเนื้อด้านข้างของหลังและสะโพก ซึ่งอาการปวดจะมีส่วนสัมพันธ์กับการใช้งาน จึงทำให้ส่งผลให้อาการปวดส่งผลถึงอวัยวะอื่นๆ ได้ง่าย
ท้ายที่สุด การดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคต่างๆ ของกระดูกสันหลัง เมื่อเราทราบถึงสาเหตุหลักๆ และโรคต่างๆ ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนก็จะทำให้เราเตรียมตัวรับมือกับมันได้ทัน อย่างไรก็ดี หากมีอาการที่ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณเกี่ยวกับโรคทั้ง 4 ดังกล่าวหรืออาการที่ดูเหมือนจะอันตรายต่อกระดูกสันหลัง ควรรีบไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุดเพื่อที่จะได้รักษาอย่างทันการ
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน