“เอ็นหัวไหล่อักเสบ” บำบัดง่ายๆ ด้วย 5 ท่ากายภาพ
“เอ็นหัวไหล่อักเสบ” อาการบาดเจ็บที่ดูเหมือนไกลตัว แต่แท้จริงแล้วมันใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เนื่องจากเป็นอาการบาดเจ็บที่ค่อยๆ ใช้เวลาในการสะสมจนมาเป็นอาการอักเสบนั่นเอง โดยการอักเสบของเอ็นหัวไหล่เช่นนี้มักจะเกิดจากที่ผู้ที่มีอาการเจ็บใช้งานหัวไหล่ซ้ำๆ หรือใช้งานหัวไหล่ในการยกมือสูงๆ ซึ่งแม้จะใช้เวลานานในการก่อตัวเป็นการบาดเจ็บก็จริง แต่หากเป็นขึ้นมาแล้วก็มีความยากที่จะรักษา ซึ่งในบางรายก็ต้องทำการผ่านตัดกันเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีนอกจากการผ่าตัดแล้วก็ยังมีวิธีการรักษาอื่นๆ ที่จะพอบรรเทาอาการปวดของเอ็นหัวไหล่อักเสบได้ เช่น การทานยา ฉีดยา และการทำกายภาพบำบัด เป็นต้น
“เอ็นหัวไหล่อักเสบ” คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง?
Rotator cuff หรือเอ็นหมุนข้อไหล่ คือกลุ่มของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่หุ้มล้อมรอบข้อไหล่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอย่างมีระบบและให้ความมั่นคง เส้นเอ็นหมุนข้อไหล่ทั้ง 4 เส้นจะทำหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อเอ็นข้อไหล่เข้ากับส่วนบนของกระดูกแขน (humerus) โรคนี้จะปวดไหล่และมีการกดเจ็บและเคลื่อนไหวไหล่ได้น้อยลงมาก ในระยะแรกสาเหตุ คือ พยาธิสภาพที่เกิดการอักเสบรอบนอกของข้อ ซึ่งมีเอ็น ปลอกเอ็น ถุงน้ำกันเสียดสีและกล้ามเนื้อและเอ็นหุ้มข้อ ในระยะต่อมาจะมีการอักเสบเสื่อมในตัวข้อไหล่เอง ทำให้ไหล่ติดแข็ง
สาเหตุของอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบ
การอักเสบของเส้นเอ็นข้อไหล่เกิดจากการใช้งานไหล่ซ้ำๆกันโดยเฉพาะงานที่ต้องยกแขนสูง เช่นปัดฝุ่นหรือเช็ดถูประตู-หน้าต่าง ตัดแต่งกิ่งไม้ ทาสีฝาผนังหรือเพดาน หรืองานหนักที่ต้องใช้แรงไหล่มาก เช่นงานที่ต้องยก แบกหรือหามของหนัก หรือพบในนักกีฬาที่ต้องยกแขนสูง เช่น บาสเกตบอล ว่ายน้ำ แบทมินตัน เป็นต้น
อาการของอาการเอ็นหัวไหล่อักเสบ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณไหล่โดยเฉพาะเวลายกหรือขยับไหล่อาจมีอาการปวดร้าวลงไปบริเวณต้นแขนได้ บางคนอาจมีอาการขัด ขยับไหล่ลำบากหรือบวมบริเวณไหล่ร่วมด้วย อาการเริ่มแรกอาจไม่รุนแรงมาก แต่ถ้ายังมีการใช้งานต่อไป อาการปวดอาจรุนแรงมากขึ้น อาจปวดตอนกลางคืนหรือปวดตอนพักได้ รู้สึกแขนล้าไม่มีแรง ส่งผลให้การเคลื่อนไหวจะลดลงและทำกิจกรรมบางอย่างลำบาก ทั้งนี้มีการปวดซ้ำๆ ซึ่งทำให้ข้อไหล่เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด มีเสียงเสียดสีหรือกรอบแกรบเมื่อขยับข้อไหล่ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การปวดไหล่ในเวลานอน/กลางคืน หรือปวดมากเมื่อมีกิจกรรมเหนือศีรษะ (overhead activity) เช่นสระผม เกาหลัง ติดกระดุมหรือรูดซิบที่อยู่ด้านหลัง ถือเป็นอาการสำคัญที่ต้องคิดถึงภาวะเอ็นหมุนข้อไหล่ฉีกขาดมากที่สุด
แนวทางการรักษา
-
การรักษาแบบประคับประคอง
ซึ่งอาจรวมถึง การฉีดคอร์ติโซน กายภาพบำบัด การใช้ยา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานหากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษาแบบประคับประคองและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
-
การผ่าตัด
ในวิธีการนี้เป็นวิธีการรักษาส่วนใหญ่ที่แพทย์เฉพาะทางหรือผู้ที่มีความชำนาญอาจแนะนำ เป็นการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเย็บซ่อมแซมเอ็นหมุนข้อไหล่นั่นเอง
5 ท่ากายภาพบำบัด ช่วยบรรเทาอาการปวดจากเอ็นหัวไหล่อักเสบ
- Pendulum exercise
ให้ยืนโน้มตัวไปด้านหน้า มือข้างปกติจับขอบโต๊ะหรือเก้าอี้ ให้แขนข้างที่มีแรงห้อยลงตามแรงโน้มถ่วง ออกแรงหมุนเป็นวงกลมช้าๆ ให้กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้ สลับทิศทางการหมุนเป็นด้านตรงข้าม 10 รอบ ทำซ้ำ 1-3 เซต วันละ 1-2 รอบ
- Wall exercise
ให้ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง เหยียดข้อไหล่ข้างที่มืออาการขึ้น ค่อยๆ ใช้นิ้วมือไต่ขึ้นไปบนกำแพงให้ได้สูงที่สุดโดยที่ไม่ปวดจนเกินไป ค้างไว้ 10-30 วินาที ทำซ้ำ 1-3 เซต วันละ 1-2 รอบ
- ยืดข้อไหล่ (Crossover arm stretch)
เอื้อมมือข้างมีอาการมาแตะไหล่ข้างปกติ มือข้างปกติดันข้อศอกเข้าหาตัวเองจนรู้สึกตึง ค้างไว้10-30 วินาที ทำซ้ำ 1-3 เซต วันละ 1-2 รอบ
-
ดึงผ้าขนหนู
ใช้มือข้างที่มีอาการไพล่หลังไว้ มือข้างปกติยกขึ้น หย่อนปลายก้านหนึ่งของผ้าขนหนูลงไปให้มือข้างที่มือปัญหาจับ มือข้างปกติออกแรงดึงช้าๆ เหมือนใช้ผ้าขนหนูขัดหลัง ค้างไว้ 10-30 วินาที ทำซ้ำ 1-3 เซต วันละ 1-2 รอบ
- Doorway Stretch
เปิดประตูออก ยืนหันหน้าเข้าหาช่องประตู กางข้อไหล่ข้างที่มีปัญหาออกให้รักแร้และข้อไหล่ทำมุม 90 องศา ปลายนิ้วทั้ง 5 ชี้ขึ้นเพดาน เอาปลายข้อศอกแนบประตูก่อนจะก้าวขาให้พ้นขอบประตูเล็กน้อยจนรู้สึกตึงด้านหน้าของข้อไหล่ ค้างไว้10-30 วินาที ทำซ้ำ 1-3 เซต วันละ 1-2 รอบ อย่างไรก็ดี ท่ากายภาพนี้เป็นวิธีบรรเทาอาการปวดของเอ็นหัวไหล่อักเสบก็จริง แต่สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้การบาดเจ็บนี้เกิดขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนักๆ หลีกเลี่ยงการนอนทับไหล่ของใดข้างหนึ่ง และหมั่นบริหารกล้ามเนื้อบ่อยๆ เป็นต้น การป้องกันเช่นนี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เอ็นหัวไหล่ห่างไกลความเสี่ยงจากการอักเสบมากขึ้น อีกทั้งยังคงความแข็งแรงให้กับเส้นเอ็นและหัวไหล่อีกด้วย ——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน