“เอ็นข้อมืออักเสบ” ปัญหาใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
“เอ็นข้อมืออักเสบ” การบาดเจ็บของข้อมือที่มักพบในคนวัยทำงาน เนื่องจากการใช้ข้อมือทำงานบ่อยๆ และซ้ำๆ กันในระยะเวลาที่ยาวนาน โดยการบาดเจ็บชนิดนี้แม้จะฟังดูไม่อันตราย แต่แท้จริงแล้วไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างมาก เพราะหากปล่อยอาการไว้จนเรื้อรังก็อาจส่งผลต่อการใช้งานของข้อมือโดยตรงรวมถึงส่งผลในระยะยาวอีกด้วย ดังนั้น เราจึงต้องศึกษาถึงสาเหตุ และอาการของโรคนี้เพื่อนำไปสู่การป้องกันที่ถูกวิธีและการรักษาที่ถูกต้องนั่นเอง
“เอ็นข้อมืออักเสบ” เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร?
เอ็นนั้นเป็นส่วนประกอบหลักที่ใช้ขยับข้อมือและนิ้วมือ โดยเอ็นนี้ถูกใช้งานอย่างหนักในแต่ละวัน เช่น การพิมพ์งาน การเล่นโทรศัพท์มือถือ ก็ต่างเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้งานเส้นเอ็นบ่อยๆ ซ้ำๆ ทั้งสิ้น นั่นจึงทำให้มีความเสี่ยงขึ้นไปอีกในการที่เอ็นข้อมือจะเกิดอาการอักเสบได้นั่นเอง
สาเหตุของการอักเสบ
เอ็น (Tendons) มีโครงสร้างคล้ายเชือก มีหน้าที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูกเข้าด้วยกัน โดยเอ็นสองเส้นหลักบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือถูกห่อหุ้มด้วยปลอกเยื่อหุ้มเอ็นที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์เล็ก ๆ การใช้แรงข้อมืออย่างหนักซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานจะทำให้ปลอกหุ้มเอ็นหนาและบวมขึ้น ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวดเมื่อเกิดการเสียดสีของปลอกเยื่อหุ้มเอ็นและเอ็น ขยับข้อมือทำได้จำกัด และเกิดอาการปวดเมื่อเคลื่อนไหวข้อมือ
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงกับอาการเอ็นข้อมืออักเสบ
ผู้ที่มีอายุในช่วง 30-50 ปี
จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการเอ็นข้อมืออักเสบมากกว่าคนในช่วงอายุอื่น และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
ผู้ที่มีอาชีพกับการทำกิจกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ
เช่น นักจัดสวน นักกีฬากอล์ฟ เทนนิสหรือแบดมินตัน ผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เป็นต้น
หญิงผู้มีภาวะตั้งครรภ์หรือหลังคลอด
เนื่องจากหญิงหลังคลอดต้องรับมือกับการเลี้ยงดูบุตร จึงทำให้ต้องอุ้มเด็กเป็นเวลานานๆ และส่งผลให้เกิดอาการเส้นเอ็นข้อมืออักเสบได้
ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับข้อต่างๆ
เช่น โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อข้อมีพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง จึงส่งผลไปถึงส่วนอื่นๆ ของข้อมือ รวมไปถึงเส้นเอ็นนั่นเอง
3 อันดับที่พบบ่อย ของเอ็นอักเสบบริเวณข้อมือ คือ
เอ็นหัวแม่มือ
เอ็นหัวแม่มือนี้จะทอดผ่านตัวข้อมือและถูกใช้งานมากที่สุด เป็นปริมาณร้อยละ 50 ถึง 60 ของมือข้างนั้นๆ และต้องยอมรับว่าสมาร์ทโฟนนั้น ถูกดีไซน์มาให้ใช้กับหัวแม่มือเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดอาการเอ็นหัวแม่มืออักเสบได้บ่อยที่สุด โดยการอักเสบจะเป็นบริเวณโคนหัวแม่มือหรือเป็นบริเวณข้อมือก็ได้
เอ็นหลังข้อมือ
เกิดจากการที่กระดกข้อมือไปทางด้านหลังเป็นระยะเวลานานโดยมักจะพบกับมือขวา หรือมือข้างที่ถนัด ที่ต้องกระดกเพื่อใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตนั่นเอง
เอ็นหน้าข้อมือ
ซึ่งเป็นเอ็นที่ใช้สำหรับการงอข้อมือหรือนิ้วมือ การอักเสบนี้ มักจะพบที่บริเวณมือซ้าย หรือมือข้างที่ไม่ถนัด เนื่องจากว่าต้องถือโทรศัพท์ในท่าเกร็งข้อมือและงอนิ้วมือเป็นระยะเวลานาน
อาการ
ผู้ป่วยจะปวดบริเวณข้อมือด้านนอก บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ อาการปวดขึ้นทีละน้อย หรือเกิดขึ้นทันที และรู้สึกปวดบริเวณข้อมือร้าวไปที่แขน อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อ มีการใช้งานข้อมือและนิ้วหัวแม่มือซ้ำๆ โดยเฉพาะเมื่อยกของหนักหรือบิดข้อมือ อาการบวมจะเกิดบริเวณข้อมือด้านนอก บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ อาการปวดบวมจะทำให้ขยับนิ้วหัวแม่มือและข้อมือลำบาก
แนวทางการรักษา
โดยส่วนใหญ่แล้ว แนวทางการรักษาของอาการเส้นอักเสบสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทาง คือ
1.รักษาด้วยการผ่าตัด
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีผ่าตัดแบบวันเดียว ผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล และสามารถกลับบ้านได้หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น โดยแพทย์จะทำการผ่าเปิดปลอกหุ้มเอ็นข้อมือออก เพื่อลดการกดเบียดของเส้นเอ็น
2. รักษาด้วยการทานยา
เพื่อระงับอาการเจ็บปวด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่บริเวณปลอกหุ้มเอ็นข้อมือเพื่อลดอาการปวดบวม
3. รักษาด้วยกายภาพบำบัด
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำกายภาพบำบัด โดยจะมีนักกายภาพบำบัดช่วยตรวจดูการใช้งานข้อมือของผู้ป่วย พร้อมทั้งให้คำแนะนำถึงวิธีการใช้งานข้อมืออย่างเหมาะสมโดยไม่ให้ข้อมือทำงานหนักจนเกินไป อย่างไรก็ดี การระมัดระวังในการใช้งานข้อมือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะตอนที่บาดเจ็บแล้วหรือยังไม่บาดเจ็บ เราก็ควรให้ความสำคัญให้มาก เนื่องจากหากอาการมีความรุนแรงและผู้บาดเจ็บปล่อยให้เรื้อรัง ก็จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง ดังนั้น การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า หรือถ้าหากยังไม่มั่นใจว่าควรดูแลตัวเองอย่างไร ควรปรับท่าทางการเล่นกีฬาหรือการทำกิจกรรมอย่างไร ก็สามารถปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อความมั่นใจได้มากขึ้น
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน