เจ็บโคนขาหนีบ มีอาการอักเสบ อันตรายหรือไม่?
“เจ็บโคนขาหนีบ” อาจเป็นเรื่องปกติของผู้ที่ชื่นชอบการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย เนื่องจากในระหว่างการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายนั้นๆ อาจส่งผลให้เกิดการเจ็บตามกล้ามเนื้อต่างๆ ได้อย่างง่ายดายอยู่แล้ว หากแต่จะเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำการออกกำลังใดๆ แต่ก็รู้สึกเจ็บขึ้นมา อีกทั้ง ในบางรายยังมีการบวมตรงโคนขาหนีบ ซึ่งจะเป็นอาการอักเสบหรือโรคร้ายแรงอื่นกันแน่ เราจึงต้องรีบศึกษาเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
เจ็บโคนขาหนีบ อักเสบทั่วไป หรือ เป็น “ไข่ดัน”
เนื่องจากทั้ง 2 อาการมีความคล้ายกันในช่วงของอาการปวด แต่ผลของโรคจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น คำถามคือเราจะแยกได้อย่างไรว่าอาการเจ็บโนคขาหนีบแบบใดเป็นการเจ็บแบบธรรมดา และ แบบใดที่เจ็บแบบการปวดไข่ดัน สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องศึกษาเพื่อทำการแยกแยะและสังเกตตัวเองได้ในเบื้องต้นว่าตนเองมีลักษณะอาการเป็นเช่นใดกันแน่ เพื่อที่จะได้เข้ารับการรักษาและดูแลตัวเองอย่างถูกต้องนั่นเอง
-
การเจ็บโคนขาหนีบแบบทั่วไป
ภาวะกล้ามเนื้อช่วงขาหนีบมันเกิดการอักเสบธรรมดา มักพบได้ในคนที่ชอบออกกำลังกายโดยการวิ่ง การกระโดดอยู่เป็นประจำ หรือเคยมีอุบัติเหตุมีสิ่งของมากระแทกบริเวณช่วงขาหนีบจนทำให้เกิดอาการปวดดังกล่าว
สาเหตุ
สำหรับอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เล่นกีฬา หรือ อื่น ๆ ส่วนใหญ่ ที่ทำให้กล้ามเนื้อโคนขาหนีบมีอาการบาดเจ็บ จะไม่รุนแรง โดยปกติจะมีอาการตึงหรือ อักเสบเท่านั้น ไม่ถึงกับฉีกขาดเหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ เนื่องจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องหักโหมหรือเกิดอุบัติเหตุให้ร่างกายผิดท่าจริงๆ เท่านั้น อาการบาดเจ็บที่บริเวณกล้ามเนื้อโคนขาหนีบนั้น ส่วนมากจะเกิดจากการหมุนของขาออกนอกอย่างรุนแรง ขณะที่อยู่ในท่าขากาง ทำให้เกิดการยืด หรือฉีกขาดของเอ็นหรือกล้ามเนื้อ บางทีจะเกิดขึ้นในลักษณะอาการบาดเจ็บแบบสะสม กล่าวคือ เป็นการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ของกล้ามเนื้อส่วนนี้แต่เป็นซ้ำๆ จนเกิดอาการอักเสบนั่นเอง
ลักษณะอาการ
อาการโดยทั่วไปของเมื่อมีภาวะ โอนขาหนีบตึง หรือ อักเสบ จะมีอาการตึง หรือเจ็บ บริเวณโคนขาหนีบด้านใน หนักหน่อยจะมีอาการเหมือนมีดมาเสียบ แต่ส่วนมากจะมีอาการปวดตื้อๆ และน่าหงุดหงิดตอนขยับต้นขาเสียมากกว่า ซึ่งโดยปกติแล้วไม่อันตรายแต่ที่น่าหงุดหงิดคือจะเป็นอาการที่เป็นๆ หายๆ จนกว่าจะหายสนิทจริงๆ
แนวทางการรักษา
โดยทั่วไปอาการนี้เป็นอาการที่หายได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้มีอาการควรพักจากการออกกำลังกายอย่างจริงจัง หลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นๆในช่วงที่มีการอักเสบ อาจมีการรับประทานยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการได้ และการประคบเย็นก็สามารถบรรเทาอาการได้ด้วย
การป้องกันอาการเจ็บ
ในการป้องกันนั้น ให้เน้นไปที่การยืดกล้ามเนื้อส่วนนี้ทั้งก่อนและหลังออกกำลังกายจะช่วยป้องกันการเกิดอาการได้มาก การทำโยคะท่าดาว และ ท่าผีเสื้อ เป็นประจำ ก็ช่วยยืดกล้ามเนื้อโคนขาหนีบด้านใน และลดโอกาสการเกิดอาการบาดเจ็บได้มากเช่นกัน
-
การเจ็บโคนขาหนีบจากไข่ดัน
อาการไข่ดัน หรือ อาการต่อมน้ำเหลืองบวมช่วงขาหนีบ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ การเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บ ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกดเจ็บหรือปวดที่โคนขาหนีบ โดยอาการบวมก็จะมีขนาดและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยจะพบอาการนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงด้วยนั่นเอง ทั้งนี้อาการเจ็บกดบริเวณโคนขาหนีบชนิดนี้ยังมีลักษณะที่คล้ายกันกับอาการ ไส้เลื่อน ด้วย ผู้ป่วยจึงต้องสังเกตให้ดี
สาเหตุ
ต่อมน้ำเหลืองเป็นส่วนประกอบของระบบน้ำเหลือง เป็นส่วนสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำหน้าที่เป็นตัวกรองหรือดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย โดยต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อความผิดปกติหรือเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เป็นต้น ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการที่อวัยวะเพศได้รับการบาดเจ็บแต่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ทำให้ลุกลามมาถึงต่อมน้ำเหลืองข้างโคนขานั่นเอง
ลักษณะอาการ
เนื่องจากระบบน้ำเหลืองของร่างกายมีการเชื่อมต่อกันทั่วร่างกาย เมื่อเกิดการอักเสบที่ใดที่หนึ่งก็อาจส่งผลถึงต่อมน้ำเหลืองในส่วนอื่นๆ ด้วย โดยอวัยวะที่มีต่อมน้ำเหลืองบวมบ่อย ได้แก่ คอ ศีรษะ รักแร้ รวมไปถึงบริเวณขาหนีบหรือที่เรียกว่าไข่ดัน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น
- มีอาการกดเจ็บหรือปวดที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองที่โคนขาหนีบ
- ในบางรายอาจมีแผลเปื่อยหรือแตกตรงจุดที่เกิดอาการบวม
- โดยปกติแล้วอาการนี้จะไม่ส่งผลต่อผิวหนัง แต่ในบางรายเกิดการสีผิวเปลี่ยนสีเป็นสีแดงหรือม่วงตรงโคนขาหนีบ
แนวทางการรักษา
ในการรักษาต่อมน้ำเหลืองที่บวมบริเวณขาหนีบ คุณหมอจะรักษาตามสาเหตุของการป่วย ดังนี้
- หากเป็นการติดเชื้อบริเวณเท้า ขาหนีบ และอวัยวะเพศ คุณหมอจะจ่ายยาต้านไวรัสหรือยาปฏิชีวนะให้
- หากเป็นเพราะยา เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol) อะทีโนลอล (Atenolol) ไฮดราลาซีน (Hydralazine) คุณหมอจะเปลี่ยนตัวยาหรือปรับปริมาณของยาดังกล่าวให้
- หากเป็นมะเร็ง คุณหมอจะรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายรังสี หรือการบำบัดด้วยรังสี
- หากเป็นโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง คุณหมอจะรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการใช้ยาเพื่อปรับระบบภูมิคุ้มกัน
การป้องกันการเกิดไข่ดัน
เนื่องจากโดยทั่วไปต่อมน้ำเหลืองบวมหรือไข่ดัน จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาจป้องกันและดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้
ประคบร้อนแบบเปียก
หากมีอาการกดเจ็บหรือเจ็บปวดบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองบวม ผู้ป่วยสามารถใช้การประคบร้อนแบบเปียก เช่น ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนและบิดหมาด ๆ ประคบไปยังบริเวณที่มีอาการ
ยาบรรเทาอาการปวด
กรณีที่มีอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยสามารถซื้อยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน หรือยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) โดยผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
พักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากโรคที่เป็นสาเหตุได้ดียิ่งขึ้น
เพศสัมพันธ์
ควรป้องกันตนเองหากมีเพศสัมพันธ์ เช่น สวมถุงยางอนามัย เพื่อไม่ให้ติดโรคทางเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ดี การเจ็บโคนขาหนีบเช่นนี้ มีที่มาได้จากหลายสาเหตุและสารพัดโรค ซึ่งถ้าหากเป็นโรคที่รักษาได้หายขาดก็นับว่าเป็นความโชคดี แต่หากเป็นโรคร้ายแรงก็จะส่งผลเสียให้กับสุขภาพเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองและหากมีความผิดปกติก็ควรรีบพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั่นเอง
สรุป ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “อาการเจ็บโคนขาหนีบ”
อาการเจ็บกล้ามเนื้อที่โคนขาหนีบนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและแต่ละสาเหตุก็อาจมีอาการแสดงที่เหมือนกันได้ ซึ่งแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้องคือการเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าอาการดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เพื่อหาแนวทางรักษาที่ถูกต้องต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับเคสปวดกล้ามเนื้อที่โคนขาจากการอักเสบ ผู้ประสบปัญหาควรเข้ารับการดูแลจากนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์การดูแลภาวะอาการเจ็บกล้ามเนื้อเฉพาะทางจะดีที่สุด เพราะนอกจากแผนการรักษาที่เหมาะสมแล้วก็ยังมีเครื่องมือที่ครบครันในการรักษาอีกด้วย
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน