เครื่องมือกายภาพ 5 แบบมีอะไรบ้างแต่ละแบบรักษาอย่างไร
“เครื่องมือกายภาพ” เป็นอุปกรณ์ที่นำกฎทางฟิสิกส์มาใช้มาช่วยเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมความสามารถของร่างกายทั้งในเรื่องของอวัยวะ การทรงตัว และการเคลื่อนไหวต่างๆ โดยเครื่องมือในการใช้ทำกายภาพบำบัดนั้นมีหลายชนิดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็จะมีวิธีการใช้และให้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน
เครื่องมือกายภาพ มีความสำคัญอย่างไร?
เครื่องหรืออุปกรณ์ทางกายภาพนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องเข้าทำกายภาพบำบัด เนื่องจากในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นต้องเดินทางมาเพื่อนเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาลตลอดอาจทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายได้ ดังนั้นการมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ไว้ที่บ้านก็จะทำให้ผู้ป่วยมีความผ่อนคลายมากขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้การบาดเจ็บนั้นๆ ของผู้ป่วยหายได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่จะมีเครื่องมือทางกายภาพบำบัดสักเครื่องนั้นก็ต้องผ่านคำแนะนำของนักกายภาพอย่างถูกต้องด้วย
5 เครื่องมือที่ใช้ในการทำกายภาพบำบัด ที่ทุกคนควรทำความรู้จัก
โดยทั่วไปแล้ว เครื่องมือทางกายภาพบำบัดนั้นมีหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งหลัก ๆ สามารถแบ่งออกได้ 5 ชนิด คือ…
1. เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อ ติด ยึด โดยจะให้กระแสไฟฟ้าที่มีความถีสูง ขนาด 0.8-1.0 MHz ไปกระทำต่อคริสตัลและส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือน โดยการสั่นสะเทือนของเครื่องอัลตราซาวด์ดังกล่าวต้องผ่านตัวกลาง เช่น น้ำ หรือ เจล แล้วเปลี่ยนไปเป็นความร้อนในเนื้อเยื่อของร่างกาย ซึ่งความร้อนที่เกิดจากเครื่องอัลตราซาวด์สามารถส่งได้ถึงชั้นกระดูกที่แม้จะอยู่ภายใต้ชั้นเนื้อที่ค่อนข้างหน้า เช่น ข้อสะโพก หัวไหล่ เป็นต้น เมื่อทำการรักษาโดยการใช้เครื่องอัลตราซาวด์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นเนื่องจากการดูดซึมพลังงานของเนื้อเยื่อในร่างกายของผู้ป่วย อีกทั้งคลื่นตัวนี้จะไม่ทำอันตรายให้กับร่างกายด้วย ผลการรักษาของเครื่องอัลตราซาวด์ คือ ลดอาการปวด ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นข้อต่อชั้นลึก ลดอาการบวม ช่วยเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมถึงยังคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
2.เครื่องดึงหลังและคอ (Pelvic and Cervical Traction)
เป็นเครื่องมือที่ช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวข้องกับหมอนรองกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อหลัง ข้อต่อหลัง กระดูกต้นคอรวมถึง กล้ามเนื้อต้นคอ และสามารถช่วยบรรเทาอาการปวกที่เกิดจากการที่เส้นประสาทเกิดการกดทับหรือความเสื่อมของหมอนรองกระดูก โดยวิธีการใช้รักษาของเครื่องดึงชนิดนี้จะใช้วิธีการดึงตามส่วนร่างกายของผู้ป่วยด้วยความแรงที่เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยท่านนั้นๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 20-25 นาทีต่อการรักษา 1 ครั้ง
3.เครื่องลดปวดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic)
เพื่อลดอาการปวดของกระดูกและข้อต่อ ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดการเสื่อมสภาพ เป็นการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านสัมผัสทางชั้นผิวหนัง โดยจะส่งกระแสไฟฟ้าความเข้มต่ำเข้าไปเพื่อไปกระตุ้นเส้นประสาทที่รับรู้ความรู้สึกจากอาการปวดต่างๆ ให้ตื้นขึ้นและเกิดการคลายของกล้ามเนื้อ ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกร้อนๆในบริเวณที่รักษา โดยจะใช้เวลา 30 นาที ต่อ 1 ครั้งการรักษา
4.แผ่นประคบร้อน (hydrocollator)
เป็นเครื่องมือที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื้อยกล้ามเนื้อเรื้อรังมาเป็นเวลานาน เนื่องจากกล้ามเนื้อมีการหดเกร็งจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อตึงตัว โดยแผ่นประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการปวดและลดความตึงตัวของข้อและเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ชั้นตื้นด้วยความร้อนด้วยอุณหภูมิที่ไม่เกิน 67 องศา โดยต้องแปะไว้ประมาณ 20 นาที ต่อ 1 ครั้งการรักษา
5.พาราฟิน (paraffin)
เหมาะกับผู้ป่วยทีมีอาการชามือ นิ้วล๊อค เหน็บชา ข้อนิ้วมือติดแข็ง มือกระด้าง ใช้ลดปวดโดยจะเพิ่มความยืดหยุ่นในบริเวณข้อต่อนิ้วมือและข้อมือหรือเท้า โดยเจ้าพาราฟินตัวนี้มาจากได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ไม่มีกลิ่นไม่มีสี เป็นของแข็งคล้ายขี้ผึ้ง ไม่สามารถละลายน้ำได้ แต่ละลายในอีเทอร์ เบนซีนและเอสเทอร์บางชนิด จะใช้พาราฟินที่ได้รับการหลอมละลายด้วยความร้อน ใช้สำหรับระยางค์ส่วนปลาย เช่น มือ เท้า ศอก แขนขา เป็นต้น
อุปกรณ์อื่นๆ ที่นิยมใช้
-
บาร์คู่ขนาน (parallel bar)
เหมาะกับผู้ป่วยโรคทางระบบประสาทและหลอดเลือด อาทิ โรคอัมพฤต, อัมพาต, พาร์กินสัน, เด็กพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด
-
เตียงฝึกยืน (tilt table)
เหมาะกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถทรงตัวเองได้
-
เครื่องแขวนออกกำลังกาย (suspension)
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ค่อยได้ใช้แขนขาให้พยายามได้ใช้แรงมากขึ้น และคอยกระตุ้นให้ผู้ป่วยบังคับใช้แรง ณ ส่วนแขนและขาให้กลับมาใช้งานอีกครั้ง กล่าวโดยสรุป เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการช่วยทำกายภาพบำบัดเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้ใน ณ เวลานี้เท่านั้น เชื่อเหลือเกินว่าในอนาคตเราจะสามารถเห็นอีกหลายๆ อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บปวดและใช้ชีวิตได้ปกติ อย่างไรก็ดี การใช้เครื่องมือต่างๆ ต้องได้รับคำแนะนำจากหมอ นักกายภาพบำบัด หรือนักเชี่ยวชาญด้วย เพื่อให้การใช้ส่งผลอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง