“เข่าเสื่อม” เกิดเฉพาะกับผู้สูงวัยเท่านั้น จริงหรือ?
“เข่าเสื่อม” โรคเกี่ยวกับเข่าที่เป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักจะพบผู้ที่เป็นโรคนี้กันอยู่มาก หลายๆ คนจึงคิดไปว่าโรคเข่าเสื่อมจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นเพียงเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น โรคเข่าหรือข้อต่างๆ เสื่อมสามารถเป็นกันได้ได้ทุกเพศทุกวัยซึ่งขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและการดูแลกระดูกของบุคคลนั้นๆ นั่นจึงหมายถึงว่าผู้สูงอายุทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเข่าเสื่อมทุกคน และการที่มีอายุน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคนี้ไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงควรรู้ถึงต้นตอและวิธีป้องกันโรคนี้อย่างถูกต้องนั่นเอง
“เข่าเสื่อม” เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร?
โรคที่เกี่ยวกับข้อเข่าชนิดนี้ ทุกคนทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วไม่ต้องรอให้แก่ตัวลงก็เป็นได้ หลายคนเข้าใจว่า จะเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อเป็นผู้สูงอายุ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “โรคข้อเข่าเสื่อม” เป็นภัยเงียบที่แอบแผงอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน หากใช้ข้อเข่าอย่างไม่ระมัดระวัง และไม่ดูแล คุณก็อาจจะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน เมื่อเราพูดถึง “ข้อเสื่อม” สิ่งแรกที่เราควรรู้จักคือ “กระดูกอ่อนผิวข้อ” (Articular Cartilage) ข้อต่อของร่างกายเป็นจุดที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้การเคลื่อนไหวนั้นราบรื่น ไม่สะดุด บริเวณปลายกระดูกตรงผิวของข้อต่อจึงต้องมีลักษณะพิเศษ คือมีความมันวาว ลื่น และความยืดหยุ่น เพื่อทำให้ทนต่อการรับแรงกดที่ลงมาที่ข้อต่อได้รวมไปถึงในข้อต่อของเรายังมีน้ำหล่อลื่นข้อเพื่อช่วยลดแรงเสียดทานในการเคลื่อนไหวอีกด้วย
สาเหตุของโรคเข่าเสื่อม
แม้สาเหตุทั่วไปของโรคนี้จะเกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวข้อตามกาลเวลา เกิดจากกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงภายในข้อ และร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทันกับการที่ถูกทำลายไป เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อมีเลือดมาเลี้ยงน้อย ส่งผลให้เซลล์กระดูกอ่อนได้รับสารอาหาร และออกซิเจนไม่เพียงพอ ไม่สามารถสังเคราะห์สารต่างๆที่จำเป็นไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ ส่งผลให้ข้อที่เสื่อมไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ทำให้มีอาการเจ็บปวดในการใช้ชีวิตประจำวัด โดยไม่ได้เป็นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะสาเหตุของการเสื่อมของข้อเข่ามีหลายสาเหตุด้วยกัน ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะเข่าเสื่อม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
-
แบบที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้
เช่น อายุที่มากขึ้น เพศหญิง (เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า) และพันธุกรรม เป็นต้น
-
แบบที่ปรับเปลี่ยนได้
เช่น การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกผิวข้อบาดเจ็บ อาชีพที่ต้องใช้งาน งอเข่าซ้ำ ๆ น้ำหนักตัวที่มาก กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง และกลุ่มโรคความดันสูง ไขมันสูง เบาหวาน
อาการโดยทั่วไป
1.อาการปวด (Pain)
ลักษณะอาการปวดจะเป็นอาการปวดเรื้อรัง ตรงบริเวณข้อเข่า สัมพันธ์กับการเดิน การใช้งาน ถ้านั่งเฉยๆก็จะไม่ปวด อาจจะมีเสียงกรอบแกรบร่วมด้วยเวลาขยับซึ่งเกิดจากการที่กระดูกแข็งมากระทบเสียดสีกัน ยิ่งอาการข้อเสื่อมเป็นรุนแรงขึ้น อาการปวดก็จะยิ่งมากขึ้น
2.ใช้งานไม่ได้ (Dysfunction)
เดินแล้วเจ็บ หรือเมื่อนั่งนานๆพอลุกแล้วจะเดินทันทีเลยไม่ได้ ต้องค่อยๆตั้งหลักก่อนจึงจะเดินต่อได้
3.ความผิดรูป (Deformity)
ในกรณีที่เป็นรุนแรงมากจนกระดูกอ่อนผิวข้อหายไปหมด เมื่อกระดูกแข็งเสียดสีกันซ้ำนาน ๆ ไป ก็จะทำให้เกิดกระดูกงอก รวมถึงกระดูกบางจุดมีการทรุดตัวลง ทำให้เกิดความผิดรูป ซึ่งมีได้หลายแบบเช่น เข่าโก่ง เข่าฉิ่ง เข่าแอ่น เข่าเหยียดได้ไม่สุด เป็นต้น
ข้อสังเกตอาการว่าเราเป็นภาวะเข่าเสื่อมหรือไม่
- ปวดเข่า บริเวณข้อ ปวดเรื้อรัง ปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งาน และทุเลาลงเมื่อพักการใช้งาน
- มีเสียงในข้อเข่า เมื่อขยับเคลื่อนไหว
- ข้อเข่าตึง ฝืด เมื่อพักการใช้งานข้อเข่าเป็นเวลานาน
- ปวดเสียวที่ข้อเข่าเมื่อขึ้น-ลงบันได
- เข่าเปลี่ยนรูป เกิดจากการเสื่อมของเข่า และเกิดกระดูกงอก ทำให้เข่าเปลี่ยนรูป
แนวทางการรักษา
โดยปกติแนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะข้อเสื่อม โดยจะเริ่มต้นจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อนซึ่งได้แก่ การให้ความรู้ ลดน้ำหนัก บริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรง และกินยาลดการอักเสบแก้ปวดตามอาการ
การป้องกันและดูแล
- ออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
- ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เพื่อลดแรงกระทำต่อข้อ
- ใช้เครื่องช่วยเดิน เพื่อผ่อนการลงน้ำหนัก ลดแรงกระทำต่อข้อ เช่น ไม้ค้ำ ไม้เท้า
- การประคบร้อนเมื่อมีอาการปวดในช่วง 48 ชั่วโมงแรก และประคบเย็นช่วง 48 ชั่วโมงหลังมีอาการปวด การรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ การกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิว การเลเซอร์ หรือฝังเข็ม
- การใช้ยากลุ่มต่างๆ ที่รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม อย่างเช่น พาราเซตามอล บรรเทาอาการปวดในเบื้องต้น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ ช่วยลดอาการปวด และช่วยการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี โรคข้อเข่าโรคนี้ไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด ดังนั้น นอกจากปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมเองได้ เราจึงควรดูแลในส่วนทีค่เราสามารถทำได้ให้ดีที่สุด หมั่นออกกำลังกาย ดูแลเรื่องรับประทานอาหารและคอยระมัดระวังตัวในเรื่องของอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด เพื่อสุขภาพและความแข็งแรงของข้อเข่าที่เราต้องใช้ไปได้อีกนานแสนนาน เพราะเข่านั้นไม่ใช่เพียงอวัยวะชิ้นหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นฟันเฟืองของร่างกายที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของเราด้วยนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน