อากาศร้อน ปวดหัว สาเหตุไมเกรนกำเริบแบบไม่รู้ตัว
อากาศร้อน ปวดหัว แม้จะเป็นอากาศที่คนไทยคุ้นเคยกันดี แต่ต้องบอกก่อนเลยว่าอากาศร้อนของประเทศเรานั้นมีแนวโน้มว่าจะร้อนขึ้นทุก ๆ ปี และนั่นเป็นสัญญาณของความอันตรายที่อาจมีผลกระทบต่อร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลงเป็นอากาศร้อนอบอ้าวแทบตลอดทั้งวัน ทำให้หลายคนมีอาการเจ็บป่วยเพราะสุขภาพร่างกายปรับตัวตามอากาศไม่ทัน หนึ่งในอาการที่แสดงออกได้ชัดคือ “อาการปวดหัว” หรือ Heat Headach นั่นเอง
อากาศร้อน ปวดหัว เกิดจากอะไร ป้องกันอย่างไรได้บ้าง?
อาการปวดศีรษะเพราะอากาศร้อน หรืออยู่กลางแดดนานๆ เป็นการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Primary Headache) เช่น ปวดไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะชนิดหนึ่ง มีลักษณะอาการปวดตุบๆ และมักเป็นข้างเดียว อาการดังกล่าวจะกำเริบขึ้นเมื่อมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นโดยอากาศร้อน หรือการอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้บางคนเป็นไมเกรนได้ โดยจากงานวิจัยพบว่า อากาศที่ร้อนเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 องศา จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการไมเกรนกำเริบเพิ่มขึ้นถึง 7.5% เนื่องจากหลอดเลือดแดงในสมองเกิดการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ Heat Headache
อาการปวดหัวจากความร้อนอาจเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งอุณหภูมิจากภายนอกตัวอาคาร หรือจากสภาพแวดล้อมที่ต้องทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนจัด หรือเป็นผลข้างเคียงของอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน
ทั้งนี้ สภาพอากาศร้อนเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะได้ เพราะเมื่ออากาศร้อนขึ้น ความชื้นและความดันบรรยากาศจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระบวนการสร้างสารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นได้
นอกจากนี้ อากาศร้อนยังส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณของสาร “เซโรโทนิน” ในสมอง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดได้ เมื่อมีความเครียดเพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปที่จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ แสงจ้าของดวงอาทิตย์ อาการอ่อนเพลียจากความร้อน และโรคลมแดด (Heat Stroke)
ลักษณะอาการของ Heat Headache
สำหรับอาการของการปวดหัวจากอากาศร้อนนั้น จะมีความแตกต่างกัน
ปวดบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง
ส่วนใหญ่อาการปวดหัวที่พบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณรอบศีรษะ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณหน้าผากและขมับทั้งสองข้าง บางครั้งร้าวมาที่ด้านหลังของศีรษะและต้นคอ รวมถึงบ่าไหล่ร่วมด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่สัมพันธ์กับความเครียด
ปวดบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่ง
หากมีอาการปวดบริเวณขมับด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ หรือปวดสลับกันระหว่างข้างซ้ายหรือข้างขวา และเวลาปวดบางครั้งอาจจะมีปวดร้าวเข้ามาที่กระบอกตาร่วมด้วย อาจเป็นอาการปวดจากโรคไมเกรน ซึ่งจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ร่วมด้วย และถ้าอยู่ในที่แสงสว่างจ้า เสียงดัง หรือว่ามีกลิ่นฉุนอาการจะแย่ลงได้
ปวดบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง
อีกหนึ่งอาการที่พบบ่อยคือปวดบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้างลงมาจนถึงบริเวณหน้าผากด้วย หรือว่าปวดตรงบริเวณดั้งจมูก ซึ่งเป็นตำแหน่งของไซนัส ดังนั้น หากเกิดมีการอักเสบของไซนัส ก็จะมีอาการปวดที่ตรงบริเวณนี้ด้วย
อาการปวดหัวจากอากาศร้อน มีระยะกี่วัน?
อาการปวดศีรษะไมเกรนมักเริ่มต้นจากอาการปวดศีรษะธรรมดา จนค่อยๆเพิ่มขึ้นจนปวดมาก มักจะแย่ลงระหว่างการออกกำลังกาย ความเจ็บปวดอาจเคลื่อนจากด้านหนึ่งของศีรษะไปอีกด้านหนึ่ง อาจอยู่ด้านหน้าศีรษะ หรือรู้สึกปวดทั้งศีรษะ
ประมาณ 80% ของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตัวซีด หรือเป็นลมได้ อาการปวดศีรษะไมเกรนส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง แต่หากเป็นอาการปวดที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นได้นานถึง 24 ชั่วโมงหรือมากกว่า 3 วัน
แนวทางดูแลตนเองเพื่อป้องกันไมเกรนกำเริบจากอากาศร้อน
สำหรับการดูแลตนเองแบบง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ สามารถเริ่มต้นได้จาก…
- หลบเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแสงแดดจัด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 9.00-16.00 น.
- หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกช่วงที่อากาศร้อน อาจพกร่ม สวมหมวก หรือแว่นกันแดด
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ร้อนและแออัด มีผู้คนจำนวนมาก ซึ่งทำให้อากาศหายใจไม่เพียงพอ
- ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อช่วยคลายความร้อน การดื่มน้ำที่เพียงพอจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
- รับประทานยาแก้ปวด ใช้ผ้าเย็นประคบบริเวณหน้าผากหรือต้นคอเพื่อบรรเทาอาการ
- พักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน และใช้เวลาสุดสัปดาห์ในการพักผ่อนอย่างเต็มที่
- รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า
- หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการปวดศีรษะจากไมเกรนติดต่อกันนานเกิน 3-4 วัน ควรปรึกษาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ และรักษาต่อไป
การนวดกดจุดเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวที่เกิดจากอากาศร้อน
สามารถลองทำได้ง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
กระตุ้น Third Eye Point
แต่ละจุดที่ต้องกดก็จะมีชื่อแตกต่างกันไป เป็นชื่อที่เรียกกันมาแต่โบราณ กับอีกแบบคือชื่อสมัยใหม่ที่เพิ่งมี ซึ่งอย่างหลังจะเป็นตัวอักษรผสมกับตัวเลข อย่าง Third Eye Point ก็เรียกว่า GV 24.5 เป็นจุดที่กดแล้วช่วยบรรเทาอาการปวดหัวและแน่นหน้า จุดนี้จะอยู่ที่หว่างคิ้ว เป็นจุดที่เชื่อมสันจมูกกับหน้าผากนั่นเอง
วิธีการกด:
- ค่อยๆ กดลงไปที่จุดนี้ให้ลึก แล้วค้างไว้ 1 นาที จะกดลงไปตรงๆ หรือนวดวนก็ได้ ลองดูว่าแบบไหนได้ผลสำหรับคุณที่สุด
กดจุด Drilling Bamboo
Drilling Bamboo บางทีก็เรียก Bright Lights Points หรือ B2 เป็นจุดที่กดแล้วแก้อาการปวดหัวที่อยู่ค่อนไปทางด้านหน้า จุดนี้จะอยู่ที่หัวตาทั้ง 2 ข้าง เหนือเปลือกตานิดหน่อย บริเวณกระดูกเบ้าตา
วิธีการกด:
- ให้ใช้ปลายนิ้วชี้ 2 ข้างกดทั้ง 2 จุดพร้อมกันเป็นเวลา 1 นาที
- หรือจะกระตุ้นทีละข้างก็ตามความชอบ แค่ทำให้ครบ 1 นาทีทั้ง 2 ข้างก็พอ
กดจุด Welcome Fragrance
Welcome Fragrance บางทีก็เรียก Welcome Perfume หรือ LI20 เป็นจุดที่กดแล้วช่วยแก้อาการปวดหัวไมเกรนและแน่นหน้าเพราะไซนัส จุดนี้จะอยู่ด้านนอกของรูจมูกทั้ง 2 ข้าง ใกล้กับด้านล่างของโหนกแก้ม
วิธีการกด:
- กดลงไปตรงๆ ลึกๆ หรือนวดวนก็แล้วแต่ ให้ครบ 1 นาที
อย่างไรก็ตาม แม้อาการปวดหัวเช่นนี้จะสามารถหายได้ แต่ก็ไม่สามารถหายขาด ยิ่งหากผู้ประสบปัญหามีภาวะทางร่างกายที่มีความ Sensitive กับอากาศร้อนอยู่แล้ว หากดูแลตนเองไม่ดีก็อาจจะกลับไปมีอาการอีกได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรคอยสังเกตุการณ์สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หากใครที่มักจะเป็นไมเกรนเมื่ออากาศร้อนแนะนำให้สังเกตุดูสภาพอากาศด้วยสมาร์ทโฟนและแอพพลิเคชั่นสภาพอากาศที่หาได้ง่ายในปัจจุบัน เมื่อคุณเห็นว่าอุณหภูมิกำลังเพิ่มขึ้น คุณจะสามารถเตรียมตัวในการปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ เครื่องเพิ่มความชื้น หรือเครื่องลดความชื้นเพื่อให้อุณหภูมิในบ้านหรือที่ทำงานของเราไม่ให้เปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาอุณภูมิของอากาศให้คงที่ได้มากที่สุด
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วิดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวิดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “ปวดหลังเรื้อรัง” พฤติกรรมที่ทำให้คุณปวดหลังแบบไม่รู้ตัว
- “โรคกระดูกสันหลัง” 4 โรคที่ควรระวังปล่อยไว้อาจส่งผลเสีย
- เครื่องมือกายภาพ 5 แบบมีอะไรบ้างแต่ละแบบรักษาอย่างไร