“ลิ้นแข็ง” สัญญาณของโรคหลอดเลือดในสมองตีบ
“ลิ้นแข็ง” หนึ่งในสัญญาณอันตรายของโรคเส้นเลือดสมองตีบ โดยในปัจจุบันนั้นโรคเส้นเลือดสมองตีบเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของคนไทย และในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่เสียชีวิตก็จะได้รับผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวก็ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง เนื่องจากจะมีความยากลำบากในการเคลื่อนไหวเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ และการพูดนั่นเอง
“ลิ้นแข็ง” เกิดจากอะไร หายได้เองหรือไม่?
มุมปากตก รู้สึกชาใบหน้า พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง แขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง เดินเซ ปวดหัวมาก ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน พึงสังเกตอาการเหล่านี้ไว้ให้ดี เพราะนั่นคือสัญญาณอันตรายที่บอกว่าคุณอาจมีความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือตันได้
สาเหตุ
อาการแบบนี้เรียกว่าภาวะที่ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางการสื่อความ ซึ่งเกิดจากสมองส่วนที่ควบคุมการพูดการใช้ภาษาสูญเสียหน้าที่ไป ซึ่งเกิดได้จาก 2 สาเหตุคือเกิดจาก โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้สมองขาดเลือด และส่งผลให้เซลล์สมองตาย หรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะ เนื้องอกในสมอง การติดเชื้อในสมอง เป็นต้น โดยจะมีอาการที่สังเกตได้ เช่น พูดช้า พูดไม่ออก เป็นต้น
อาการที่สังเกตได้ชัด ว่าอาจเป็นเพราะโรคหลอดเลือดสมอง
สามารถจำแนกออกได้ 4 ประเภท ไว้ดังนี้
1.ฟังและอ่านไม่เข้าใจ แต่พูดคล่อง
เกิดจากรอยโรคที่บริเวณเวอร์นิเก (Wernicke’s) หรือตอบโต้ไม่ตรงเรื่องที่พูด ถามอย่างจะตอบอีกอย่าง นั่นเพราะผู้ป่วยไม่เข้าใจคำพูดของตัวเอง การอ่าน การเขียน ตกหล่น ถ้าเป็นมากจะอ่านหรือเขียนไม่ได้
2.มีปัญหาด้านการพูด แต่ฟังอ่านเข้าใจ
เกิดจากรอยโรคบริเวณโบรคา (Broca’s) ผู้ป่วยจะพูดไม่ชัด พูดผิดไวยากรณ์ นึกคำศัพท์นาน มักใช้คำง่ายๆ หากอาการรุนแรงจะพูดไม่ได้ แต่เขียนบอกได้ ทำตามคำสั่งได้ เช่น บอกให้ยกมือ ผู้ป่วยสามารถยกมือได้เพราะฟังรู้เรื่อง
3.นึกคำศัพท์ไม่ออก แต่ฟังเข้าใจ
พูดได้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่มักใช้คำพูดอ้อมค้อมเนื่องจากนึกคำศัพท์ไม่ออก เช่น “สิ่งที่ใช้เขียน” แทนที่จะพูดว่า “ปากกา” ทำให้พูดช้าลง
4.มีปัญหาทั้งด้านการพูดสื่อสารและรับรู้ภาษา
โดยผู้ป่วยจะฟังไม่เข้าใจ พูดไม่ได้แสดงออกไม่ได้ ทำตามคำบอกไม่ได้เพราะไม่เข้าใจ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีสมาธิ กระวนกระวาย เนื่องจากสื่อสารกับใครไม่ได้ เกิดจากความผิดปกติของ “Broca’s” หรือ สมองส่วนที่ควบคุมการพูด และสมองส่วน “Wernicke’s Areas” ซึ่งทำให้เกิดภาวะเสียการสื่อความ
สัญญาณอื่นๆ ของโรคเส้นเลือดสมองตีบที่ควรเฝ้าระวัง
-
อ่อนแรงครึ่งซีก
มีอาการแขนขาอ่อนแรง ยกไม่ถนัดเดินลำบาก อาจมีปากเบี้ยวร่วมด้วย
-
ชาครึ่งซีก
อาจพบร่วมกับอาการอ่อนแรง หรือไม่ก็ได้ ชาในที่นี้หมายถึงการเสียความรู้สึกเจ็บสัมผัส เมื่อหยิกหรือจับบริเวณที่ผิดปกติจะรู้สึกน้อยลงหรือถ้าเป็นมากอาจไม่รู้สึกเลย
-
คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ
โดยทั่วไปอาการเหล่านี้มักจะเกิดจากโรคหูส่วนใน แต่ก็มีบางครั้งที่เกิดจากโรคหลอดเลือดจากบริเวณก้านสมอง
-
อาการเห็นภาพซ้อน
โดยอาการนี้มักจะเกิดจากโรคบริเวณก้านสมอง
-
เดินเซ ทรงตัวไม่อยู่
อาจร่วมกับอาการอ่อนแรงหรือไม่ก็ได้ เกิดจากโรคบริเวณสมองน้อย หรือก้านสมอง
-
หมดสติทันที
มักจะเกิดจากสมองเสียการทำงานไปมากโดยเฉพาะบริเวณก้านสมอง หรือเกิดจากหลอดเลือดสมองแตกที่รุนแรง
-
กรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก
ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้อาเจียนมากร่วมกับอาการอ่อนแรง ในบางรายอาจถึงกับหมดสติ อาการและอาการแสดงสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองดังกล่าวนี้หากพบให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
เมื่อผู้ป่วย “พูดไม่ชัด พูดไม่ได้” ทำอย่างไรดี?
ในขั้นตอนแรก ควรตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงเสียก่อน โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ คือ
-
หากเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน
ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเป็นสำคัญ หากผู้ป่วยมาถึงทันเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงนับแต่เริ่มเกิดอาการ แพทย์จะพิจารณาการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามของการให้ยา รวมทั้งการควบคุมความดันโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
-
หากเกิดจากเลือดออกในสมอง
ถ้าหากก้อนเลือดที่คั่งในสมองมีขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง และสังเกตอาการ ถ้าหากก้อนเลือดขนาดใหญ่มากอาจพิจารณาผ่าตัด
“กายภาพบำบัด” และ “ฝึกพูดใหม่” สามารถช่วยได้
โดยเริ่มจากการทำกายภาพบำบัดด้วยท่าบริหารลิ้นและริมฝีปากอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะสามารถช่วยฟื้นฟูให้สมรรถภาพของการใช้งานลิ้นและปากได้ดีขึ้น
ตัวอย่าง ท่าบริหารลิ้น
1. แลบลิ้นออกมาให้ยาวที่สุด แล้วตวัดลิ้นกลับเข้าไปโดยเร็ว 2. แลบลิ้นออกมาเล็กน้อย แล้วตวัดลิ้นไปมา ซ้าย –ขวา 3. แลบลิ้นแตะที่ริมฝีปากบน แล้วตวัดลงมาแตะที่ริมฝีปากล่าง 4. กวาดลิ้นไปมาภายในปากแตะอวัยวะต่างๆ ภายในช่องปาก เช่น แตะปลายลิ้นที่ปุ่มเหงือกเพดานแข็ง เพดานอ่อนและโคนฟันบนและโคนฟันล่าง 5. ทำลิ้นให้แบนราบและห่อลิ้นสลับกันไป
ตัวอย่าง ท่าบริหารริมฝีปาก
1. ทำท่ายิ้ม
2. ทำปากจู๋
3. เคลื่อนไหวริมฝีปากไปซ้าย- ขวา
4. ฝึกออกเสียง อา-อี-อู
5. การอ้าปาก- ปิดปาก สลับกัน
ฝึกพูดใหม่ ด้วยการบำบัดการพูด
หลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาจากต้นตอของสาเหตุแล้ว หลังจากนั้นควรได้รับการบำบัดการพูด และการสื่อภาษาโดยทันที ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสพัฒนาทางการพูดและภาษาได้ดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการบำบัด หรือเริ่มการฝึกบำบัดช้า และการฝึกบำบัดควรจะต้องฝึกภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญในด้านการแก้ไขการพูด เพื่อให้มีทักษะทางภาษาที่ถูกต้อง โดยประเมินตามความบกพร่องของผู้ป่วยในแต่ละรายนั่นเอง
อย่างไรก็ดี เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว การดูแลและป้องกันตนเองจากโรคเส้นเลือดสมองตีบย่อมดีกว่าการเข้ารับการรักษาเมื่อเป็นผู้ป่วยโรคนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตตนเอง ร่วมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ หรือหากไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นอย่างไรก็สามารถปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักกายภาพบำบัด ที่แนะนำแนวทางที่ถูกต้องได้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของการป้องกันที่แท้จริง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน