“ปวดไหล่” อาการเล็กๆ แต่อันตรายกว่าที่คิดหากนิ่งนอนใจ
“ปวดไหล่” อาการที่เราหลายๆ คนมักเคยประสบปัญหากันมาไม่มากก็น้อย เนื่องจากว่า “หัวไหล่” ของเรานั้นเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเคลื่อนไหวต่างๆ อีกทั้ง ในแต่ละกิจกรรมของช่วงระหว่างวันก็มีหลายๆ อย่างต้องใช้ไหล่ในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การแปรงฟัน ทำกับข้าว การเอื้อมหยิบของต่างๆ จึงไม่แปลกที่จะกล่าวว่า “หัวไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดของร่างกาย” และ ไม่แปลกที่อาการปวดจะเกิดกับอวัยวะนี้บ่อยๆ แต่การปวดเหล่านี้แท้จริงแล้วมันมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ แล้วหากปวดแล้วต้องรักษาอย่างไรไม่ให้เกิดการเรื้อรัง นั่นเป็นคำถามที่เราต้องหาคำตอบ
“ปวดไหล่” เกิดจากอะไร รักษาอย่างไรจึงจะหาย?
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า “หัวไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวได้มากที่สุดของร่างกาย” นั้นไม่เกินจริง คนเรานั้นจึงใช้อวัยวะส่วนนี้บ่อยเพราะต้องคอยอาศัยให้เป็นอวัยวะสำคัญในการทำกิจวัตรประจำวันและถ้าหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หัวไหล่ จะทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมากขึ้น โดยอาการปวดไหล่ นับเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หากมีอาการปวดไหล่เรื้อรัง ปวดตลอดเวลาเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไปไม่ควรชะล่าใจ และปล่อยไว้นาน เพราะอาจเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด
สาเหตุของการปวดไหล่ เกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการปวดไหล่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากที่สุดปัญหาหนึ่งและเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการบ่งชี้ก็จะมีอาการปวดบริเวณต้นแขน ปวดด้านหลังหัวไหล่ ปวดบริเวณต้นคอและสะบัก โดยสาเหตุของอาการปวดไหล่อาจเกิดจากปัญหาของโครงสร้างในข้อไหล่เอง กระดูก กระดูกอ่อน เนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ หรือถุงหุ้มเส้นเอ็น โดยพิจารณาจากกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อายุ อาชีพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยบอกว่าผู้ป่วยจะจัดอยู่ในกลุ่มสาเหตุใด ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าเป็นแล้วสะสม หรือเป็นมานานแล้วไม่รักษาก็จะทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรังได้ นอกจากนั้นอาการปวดไหล่ยังพบได้จากสาเหตุของความผิดปกติจากอวัยวะข้างเคียง คืออาการเจ็บป่วยต่างๆ สามารถส่งผลทำให้เกิดอาการข้อไหล่ติดจนส่งผลให้ปวดไหล่ได้ เช่น
- การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทำให้กล้ามเนื้อฉีดขาด เส้นเอ็นฉีกขาด กระดูกหัก หรือข้อเคลื่อน
- การใช้ข้อไหล่อย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อข้อไหล่ฉีกขาด
- การเสื่อมตามธรรมชาติของกระดูก กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งพบในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค
- โรคข้ออักเสบที่มีข้อไหล่อักเสบร่วมด้วยได้ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ เป็นต้น
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงจะเกิดการปวดไหล่เรื้อรัง
1.กลุ่มคนอายุน้อย
สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการเล่นกีฬาการออกกำลังที่หักโหมจนอาจเกิดกล้ามเนื้อฉีก หรือกิจกรรมที่ทำแล้วต้องใช้หัวไหล่ซ้ำๆ หรืออุบัติเหตุ
2. กลุ่มคนทำงานหรือผู้สูงอายุ
เกิดจากการสึกเสื่อมของกระดูกข้อไหล่ ภาวะหัวไหล่ติดหรือ ภาวะการอักเสบของเส้นเอ็นหัวไหล่ อย่างไรก็ดี ในส่วนของคนวัยทำงานในตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะมีอาการปวดไหล่มากขึ้นและอาจจะทวีความรุนแรงจนถึงขั้นปวดไหล่เรื้อรังได้ เพราะด้วยลักษณะการใช้ร่างกายที่ผิด การอยู่ในท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานาน รวมไปถึงปัจจุบันคนในช่วงวัยนี้เริ่มให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย และบางท่านอาจออกหักโหมมากเกินไปหรืออาจออกกำลังผิดท่า ไม่ยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อน-หลังออกกำลังกาย จึงทำให้โอกาสที่จะบาดเจ็บที่หัวไหล่มีสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีอาการปวดไหล่ทั้งสิ้น แต่ด้วยไม่อยากมาหาหมอบางคนจึงทนเก็บอาการไว้ แต่ยิ่งปล่อยไว้นานก็ยิ่งทำให้มีโอกาสทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรังมากยิ่งขึ้น
อาการปวดไหล่ ปวดแบบไหนจึงเรียกว่าปวดเรื้อรัง?
โดยมากอาการปวดก็จะปวดบ่อย ๆ หรือปวดตลอดเวลาเป็นระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป ลักษณะนี้จัดว่าเป็นอาการปวดไหล่เรื้อรังได้ และหากปล่อยไว้นานจนมีอาการปวดไหล่เรื้อรังเมื่อเวลาผ่านไปอาการจะเป็นมากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวข้อหัวไหล่ได้ลำบากมากขึ้น การเคลื่อนไหวที่ลดลงจะเป็นเกือบทุกทิศทาง ยกแขนได้ไม่สุด หากเป็นกรณีที่มีการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นคือเส้นเอ็นข้อไหล่อาจจะมีการฉีกขาด ซึ่งตอนแรกอาจจะฉีกขาดเล็กน้อยแต่พอปล่อยไว้นานก็อาจจะฉีกขาดเพิ่มมากขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นขาดทั้งเส้นเลยก็ได้ แน่นอนว่าถ้าถึงขั้นนั้นก็จะทำการรักษาได้ยากมากยิ่งขึ้น
แนวทางการรักษา
การรักษาอาการปวดไหล่ประกอบด้วย การรักษาอาการทั่วไป การรักษาด้วยกายภาพบำบัด และการผ่าตัด ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถรักษาได้ตั้งแต่ปวดไหล่ทั่วไปจนถึงระดับปวดไหล่เรื้อรัง ซึ่งจะใช้วิธีไหนรักษาก็ต้องดูเป็นกรณีไปว่าเป็นมากเป็นน้อยแค่ไหน ความหนักเบาของอาการ โดยหลังจากแพทย์ทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์ (X-Ray) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์เพื่อแยกโรคอื่นๆ ออกไปตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว ด้านการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับโรค และอาการแสดงของผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่
- การประคบด้วยความเย็นในขณะที่มีอาการปวดรุนแรง ปวดเฉียบพลัน ความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- การประคบด้วยความร้อน โดยใช้ถุงน้ำร้อน ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นใช้ในกรณีที่มีอาการปวดไม่รุนแรง จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- รับประทานยาบรรเทาอาการปวด ยาแก้ปวดลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ
- การทำกายภาพบำบัด ซึ่งสามารถทำเองได้ตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด อย่างเช่นการยืดกล้ามเนื้อในท่าต่างๆ หรือเข้ารับการกายภาพบำบัดด้วยเทคโนโลยีตามโปรแกรมที่เหมาะสม
- การผ่าตัด จะกระทำเมื่อให้การรักษาไประยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากการฉีกขาดของเอ็น หรือกล้ามเนื้อ
วิธีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการปวดหัวไหล่เรื้อรัง
หากเริ่มมีอาการปวดหรือเมื่อยล้าที่บริเวณหัวไหล่ ก็ควรพักการใช้ข้อไหล่ อาจจะใช้การนวดร่วมกับการประคบเย็นหรือประคบร้อนก็ได้ แต่ในกรณีบาดเจ็บของข้อไหล่ควรหลีกเลี่ยงการนวดและใช้การประคบเย็นเป็นหลัก แนะนำให้ยืดกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่อย่างถูกต้องก่อนและหลังการออกกำลังกายไหล่หรือใช้งานไหล่ ท้ายที่สุด ทุกคนจะเห็นได้ว่าอาการปวดไหล่นั้นเป็นอาการที่สามารถรักษาได้ โดยสิ่งสำคัญคือต้องเริ่มสังเกตอาการของตนเองว่ามีความผิดปกติอย่างไร หลังจากนั้นจึงอาจหาสาเหตุของอาการปวดว่าอาจมาจากกิจกรรมใดได้บ้างและลองลดกิจกรรมนั้นๆ ลง และหากยังไม่ดีขึ้นก็ต้องรับไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ณ คลินิกกล้ามเนื้อสักแห่งเพื่อปรึกษาและหาแนวทางที่แก้ไขและรักษาที่ถูกต้องก่อนที่จะกลายเป็นอาการเรื้อรังนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน