ปวดไมเกรน-รักษาด้วยกายภาพได้หรือไม่?
“ปวดไมเกรน” อาการที่หลายๆ คนเป็นโดยเฉพาะวัยทำงาน แต่ที่น่าหนักใจไปมากกว่านั้นก็คือผู้ป่วยอาการนี้ไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ เนื่องจากอาการปวดชนิดนี้มีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น อีกทั้งอาการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เช่น ปวดหัวข้างเดียว ปวดหัวสองข้าง ปวดขมับจนถึงท้ายทอย จนทำให้สับสนว่าอาการแบบไหนที่เรียกว่า “ไมเกรน” กันแน่ และถ้าหากเป็นแล้วจะรักษาอย่างไรดีให้หาย แล้วการทำกายภาพสามารถช่วยได้หรือไม่
“ปวดไมเกรน” คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง?
ไมเกรน (Migraine) แท้จริงแล้วไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองบีบตัวและคลายตัวมากกว่าปกติ ในคนปกติหลอดเลือดแดงเหล่านี้มีอยู่มากมายในสมองจะมีการบีบตัวและคลายตัวอยู่เป็นประจำ แต่ไม่มากจึงไม่ปวดหัว ในผู้ปวดไมเกรนจะไม่พบพยาธิใดๆ ในหลอดเลือดแดงของสมองจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอัมพาตหรือพิการแต่อย่างใด
สาเหตุของการปวดไมเกรน
เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้ก้านสมองถูกกระตุ้น หลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองมีการบีบและคลายตัวมากกว่าปกติ เกิดอาการปวดหัวตุ๊บๆ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แพ้แสง จากก้านสมองที่ถูกกระตุ้น
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรน
1. แสงไฟสว่าง
แสงไฟกระพริบ หรือแสงแดดที่จ้า
2. อากาศที่ร้อนเกินไป
หรืออากาศที่ร้อนชื้น เช่น ช่วงเวลาก่อนฝนจะตก
3. ออฟฟิศซินโดรม
หรือ โรคพังผืดของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือใช้มือถือ ก้มหน้านาน ๆ จนกล้ามเนื้อเกิดพังผืดขึ้น รวมถึงอาการกล้ามเนื้อบริเวณคอตึง ก็สามารถกระตุ้นทำให้เกิดไมเกรน ปวดร้าวรอบกระบอกตา คลื่นไส้มึนหัวได้
4. อาหารที่สามารถกระตุ้นไมเกรนได้
เช่น ชีส แอลกอฮอล์ ผงชูรส อาหารที่ผสมไนไตรท์ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน น้ำตาลเทียม นอกจากนี้ ยังพบว่า คาเฟอีน ถือเป็นสารที่กระตุ้นอาการไมเกรนได้ ใครที่กินกาแฟอยู่แล้วมีอาการไมเกรน ควรลดปริมาณการกินกาแฟลง อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเพียง 20% เท่านั้น ที่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอาหารเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน
5. ความเครียด
การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการอดนอนจะกระตุ้นให้อาการปวดไมเกรนกำเริบไวขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรระวังไม่ให้ตนเองเครียดจนเกินไปรวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอ
อาการของการปวดไมเกรน
2 ข้อที่มักถูกเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปวดไมเกรน
1. ปวดไมเกรนไม่จำเป็นต้องปวดข้างเดียวเสมอไป
แท้จริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่ว่าการปวดศีรษะข้างเดียวนั้นคืออาการไมเกรน แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือหลายๆ คนเข้าใจผิดว่าอาการนี้ต้องปวดศีรษะของเดียวเท่านั้นจึงจะเรียกว่าปวดไมเกรนซึ่งแท้จริงแล้วภาวะเช่นนี้สามารถปวดหัวได้ทั้ง 2 ข้างหรือปวดสลับข้างก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดีผู้ป่วยต้องสังเกตตนเองให้ดีเนื่องจากในบางครั้งการจะเป็นไมเกรนได้นั้นต้องมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้น หากไม่แน่ใจให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการให้แน่ใจจะดีที่สุด
2.ปวดไมเกรนไม่จำเป็นต้องมีอาการรุนแรง
ร่างกายและจิตใจของแต่ละคนสามารถทนรับกับความเจ็บปวดได้แตกต่างกัน นอกจากนี้อาการปวดหัวไมเกรนยังมีความรุนแรงหลายระดับ คนที่มีอาการนี้ จึงไม่จำเป็นว่าต้องปวดหัวจนกระทั่งทนไม่ไหวเสมอไป แม้ว่าจะมีอาการไม่รุนแรง แต่หากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นถี่ หรือมีระยะเวลายาวนาน หรือเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ก็ควรเข้าพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
อาการที่สามารถสังเกตได้
- ปวดหัวตุ๊บๆ บริเวณขมับ อาจปวดร้าวมาที่กระบอกตาหรือท้ายทอย และปวดหัวข้างเดียว (บางรายอาจพบว่าปวดหัวทั้งสองข้าง)
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน
- มีอาการแพ้แสงแพ้เสียง
- ปวดหัวเป็นครั้งคราว บางครั้งก็สัมพันธ์กับรอบเดือน
- บางครั้งมีอาการมองเห็นผิดปกตินำ หรือที่เรียกว่า อาการออร่า (migraine aura) ผู้ป่วยจะเห็นเป็นแสงไฟสีขาว ๆ มีขอบหยึกหยัก เป็นอาการเตือนนำมาก่อนที่จะเริ่มมีอาการปวดหัว
ระยะของการปวดไมเกรน
- ระยะแรก Prodrome อาการเตือน อาจมีอาการเตือนจากภาวะทางอารมณ์ เช่น การรู้สึกวิตกกังวล อารมณ์ดีหรือเศร้าผิดปกติ มีอาการปวดตึงคอ กระหายน้ำและปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ระยะที่สอง Aura อาการนำ จะมีอาการหลายแบบ โดยจะมีอาการทางการมองเห็นถึง 90% เช่น มองเห็นแสงกระพริบ ๆ หรือสายตาพร่ามัว เป็นต้น กล้ามเนื้อจะรู้สึกอ่อนแรง รู้สึกชาที่มือหรือเท้า
- ระยะที่สาม Headache ปวดหัว อาการปวดหัวไมเกรนอาจปวดหัวข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และมีลักษณะอาการปวดแบบตุบ ตุบ และเริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน ชีวิตการทำงาน
- ระยะที่สี่ Postdrome หลังปวดหัว ระยะสุดท้ายของไมเกรนซึ่งจะเกิดหลังจากเป็นไมเกรนแล้ว มักมีภาวะอารมณ์ผิดปกติ สับสนมึนงง อาจมีอาการท้องผูก ท้องเสียร่วมด้วย
การรักษา “ไมเกรน” ด้วย “กายภาพบำบัด”
หากพูดถึง “กายภาพบำบัด” นั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกวิธีการรักษาหนึ่งที่หลายๆ คนเลือก เนื่องจากเป็นการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัดและใช้ยา แต่ก็ยังสามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน โดยการรักษาโรคต่างๆ ด้วยกายภาพนั้นจะเน้นไปที่การฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายและบรรเทาอาการเจ็บปวดของอวัยวะตามร่างกายในบริเวณต่างๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งการปวดไมเกรนก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่นิยมเลือกการทำกายภาพบำบัดเป็นการรักษา
ท่ากายภาพง่ายๆ ช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรน
ท่าที่ 1
- นั่งหลังตรง ก้มคางลงชิดอก
- ประสานมือทั้งสองเข้าด้วยกันวางด้านหลังศีรษะ ออกแรงกดค้างไว้ นับ 1 – 10 ทำซ้ำ 3 – 5 ครั้ง
ท่าที่ 2
- นั่งหลังตรง ตั้งข้อศอกทั้งสองข้างขึ้น กางนิ้วมือเป็นรูปตัวแอล โดยกางนิ้วหัวแม่มือออกให้ตั้งฉากกับนิ้วที่เหลือซึ่งเรียงชิดกัน
- วางนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างใต้ฐานกะโหลกศีรษะซึ่งเป็นแอ่งเล็กๆ ออกแรงกดเล็กน้อยแล้วหมุนวน นับ 1 – 10 ค้างไว้ ทำซ้ำ 3 – 5 ครั้ง
ท่าที่ 3
- เป็นท่ายืดส่วนหลัง โดยเริ่มจากนั่งแล้วเหยียดขาไปข้างหน้าทั้งสองข้าง หายใจเข้ายกมือขึ้นเหนือศีรษะ
- จากนั้นหายใจออกค่อยๆเอื้อมมือทั้งสองข้างไปแตะที่ปลายเท้า
- พยายามให้ขาตึง ห้ามงอขา ก้มให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วนับค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำอีก 10 ครั้ง
ท่าที่ 4
- เป็นท่ากายบริหารที่ออกไปในทางโยคะ เริ่มจากคุกเข่า แขนเหยียดตรง
- ยกกระดูกก้นกบ เกร็งหน้าท้อง โก่งหลังขึ้นให้ได้มากที่สุด
- หลังจากนั้นก้มหัวลงพยายามกดคางให้ชิดหน้าอก ค้างไว้สักครู่แล้วค่อยๆผ่อนลมหายใจ
ท่าที่ 5
- ท่านี้หากให้ลองนึกง่ายๆ จะเป็นท่าก้มตัวให้ศีรษะชิดกับหัวเข่า โดยเริ่มจากหายใจออกแล้วค่อยๆก้มตัวไปด้านหน้า ยืดขาให้ตึง
- หลังจากนั้นให้พยายามทำให้ลำตัวแนบกับต้นขามากที่สุด
- หากสามารถยืดตัวได้มากๆ ให้ใช้มือจับไว้ที่ด้านหลังข้อเท้า ค้างไว้สักครู่แล้วกลับสู่ในท่ายืนตรง
อย่างไรก็ดี อาการปวดหัวไมเกรน เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง จะมีอาการเป็นๆ หายๆ ดังนั้น แนวทางการป้องกันอาการปวดหัวไมเกรนที่เหมาะสมคือ การปรับจากพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่กระตุ้นการเกิดไมเกรน นอกจากนี้ การรักษาด้วยกายภาพบำบัดก็นับได้ว่ามีประสิทธิภาพที่ดีเลยทีเดียวในการเริ่มต้นหากผู้ป่วยไม่ต้องการรับยา ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อการรักษาที่ถูกต้องนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน