“ปวดหัวข้างเดียว” เป็นอะไรแน่ รักษายังไงดี?
“ปวดหัวข้างเดียว” อาการที่หลายๆ คนเคยเป็นหรืออาจจะกำลังรับมืออยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อเรามีอาการปวดหัวแบบนี้ โดยส่วนมากก็จะมีการทึกทักกันไปว่าต้องเป็นการปวดไมเกรนอย่างแน่นอน แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่าการปวดหัวข้างเดียวนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการปวดไมเกรนเสมอไป เพราะอาการปวดหัวเช่นนี้สามารถเป็นสัญญาณในการบอกอาการป่วยต่างๆ ได้มากมาย เราจึงต้องมาศึกษาให้รู้กันอย่างชัดเจนไปเลยว่าแท้จริงแล้วอาการนี้มีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง
“ปวดหัวข้างเดียว” เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณเตือนของโรคอะไรได้บ้าง?
สาเหตุของการปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะมีสาเหตุมาจาก 3 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
-
อาการปวดศีรษะแบบทั่วไป
เป็นกลุ่มที่พบบ่อยในกลุ่มอาการปวดศีรษะจากไมเกรน อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (การปวดศีรษะแบบชุด) เกิดจากระบบรับความรู้สึกในประสาทและสมองเกิดการทำงานผิดปกติ โดยอาการอาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน
-
อาการปวดศีรษะจากความผิดปกติของร่างกาย
เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณศีรษะและคอ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดอุดตันในสมอง และอาจเกิดจากอวัยวะบริเวณรอบ ๆ สมองได้อีกด้วย เช่น ไซนัสอักเสบ เป็นต้น
-
อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่นๆ
เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาท เมื่อเกิดการอักเสบจะมีผลต่อใบหน้าทำให้เกิดอาการปวดบริเวณใบหน้าอย่างรุนแรง
อาการปวดศีรษะประเภทต่างๆ
- ปวดศีรษะข้างเดียว หากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวนั่นคืออาการของโรคไมเกรน อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งสลับกันไป โรคนี้มักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น อาการปวดมักจะเกิดขึ้นเป็นชั่วโมง หรืออาจปวดนานหลายวัน
- ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ คือ อาการปวดรุนแรงบริเวณรอบดวงตา ลามไปจนขมับด้านใดด้านหนึ่ง มักจะปวดตุบ ๆ เป็นชุด ๆ ในเวลาที่แน่นอน เช่น มักปวดในช่วงเดือนนี้ของทุกปี โดยการปวดจะกินเวลานานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาการนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- ปวดศีรษะทั้งสองข้าง เป็นการปวดศีรษะจากความเครียดเป็นครั้งคราว มักเป็นๆ หายๆ หรือปวดตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป และอาจนานจนกินเวลาเป็นวันได้ ซึ่งมักพบร่วมกับการปวดไมเกรน หากมีอาการเกิดขึ้นน้อยกว่าครึ่งเดือนจะจัดว่าเป็นการปวดศีรษะจากความเครียดเป็นครั้งคราว แต่ถ้าหากมีอาการปวดมากกว่า 1-3 เดือนจะถือว่าเป็นการปวดศีรษะจากความเครียดแบบเรื้อรัง
- ปวดศีรษะจากไซนัสทั้งสองข้าง มักมีอาการปวดบริเวณหน้าผาก สันจมูก รวมถึงโหนกแก้ม โดยอาการปวดจะรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ป่วยก้มตัว หรือก้มศีรษะลง และมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล มีไข้ หรือใบหน้าบวม เป็นต้น
- ปวดศีรษะจากเนื้องอกในสมอง จะมีอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ และจะทวีความรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืนจนผู้ป่วยต้องตื่นขึ้นมากลางดึก โรคนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากเพราะอาการจะกำเริบตอนเคลื่อนไหวร่างกาย และมักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ทรงตัวลำบาก สายตาพร่ามัว ไม่มีสมาธิ เป็นต้น
แนวทางการรักษาอาการปวดหัว
1.รักษาด้วยการทานยา
โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะให้ยาตามอาการปวดนั้นๆ เช่น หากปวดข้างเดียวก็จะได้รับยาระงับไมเกรน หรือถ้าหากปวดแบบคลัสเตอร์ก็จะได้รับยาระงับอาการทางจิต และยาต้านชักร่วมด้วยนั่นเอง
2. รักษาด้วยการบำบัด
วิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว และผู้ที่มีความตึง เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะหรือต้นคอ หากทำกายภาพหรือนวดบำบัดก็จะช่วยให้ดีขึ้นได้
การป้องกันการปวดหัว
หากมองตามสาเหตุหลักๆ แล้ว อาการปวดหัวจะเกิดจากความเครียดและการพักผ่อนน้อยเสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การลดความเครียดและพยายามนอนให้เพียงพอ อาจทำกายบริหารท่าง่ายๆ เพื่อลดอาการลงหรือปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญหากมีอาการที่หนักเกินกว่าจะรักษาเอง
ท้ายที่สุด แม้จะเป็นอาการเล็กๆ ไม่ว่าจะปวดข้างเดียว ปวดท้ายทอย ปวดขมับ หรืออะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่สำคัญคือการไม่นิ่งนอนใจ ต้องรีบปรึกษาแพทย์และรักษาโดยทันทีหากมีอาการ เนื่องจากหากปล่อยไว้จากอาการเล็กๆ ก็อาจจะกลายเป็นอาการเรื้อรัง และก้าวเข้าสู่การเป็นโรคร้ายแรงในที่สุด ดังนั้น ควรดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้ป้องกันอาการปวดหัวเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน