ปวดหลังมากนอนไม่ได้ อาจเสี่ยงโรคกระดูกสันหลัง
“ปวดหลังมากนอนไม่ได้” อาการที่ดูเหมือนอาจจะไม่ค่อยร้ายแรง แต่แท้จริงแล้วน่าเป็นห่วง อาการปวดหลัง นับว่าเป็นอาการปกติของคนยุคปัจจุบัน เพราะพฤติกรรมในชีวิตประจำวันนั้นมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดอาการนี้ขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเคลื่อนไหวต่างๆ หรือแม้แต่กระทั่งการนอนในท่าที่ไม่เหมาะสม ก็ทำให้เกิดการปวดได้ อย่างไรก็ดี การปวดหลังมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ปวดหลังล่าง ปวดหลังช่วงบน ปวดหลังกลาง และลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผู้ป่วยต้องรักษาอาการเหล่านี้ให้หายขาด เพราะถ้าหากปล่ อยไว้อาจเสี่ยงโรคกระดูกสันหลังต่างๆ ได้นั่นเอง
“ปวดหลังมากนอนไม่ได้” มีสาเหตุมาจากอะไร เสี่ยงเป็นโรคกระดูกสันหลังได้จริงหรือ?
อาการปวดหลังมักเป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ ในทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในกลุ่มคนวัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยสาเหตุอาจเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว รวมไปถึง อุบัติเหตุ ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด และการติดเชื้อ เป็นต้น ซึ่งอาการก็จะมีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป
สาเหตุของการปวดหลัง
สาเหตุของโรคหรือความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ประกอบด้วย
-
ความเสื่อมทางชีวกลศาสตร์ของหลัง
เช่น ท่าทางไม่ถูกต้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ขาดการออกกําลังกาย
-
อารมณ์ตึงเครียด
โดยอารมณ์เหล่านี้อาจส่งผลถึงกล้ามเนื้อหลัง ทําให้มีอาการเกร็งและปวดหลังได้
-
การบาดเจ็บ
เช่น ตกจากที่สูง หมอนรองกระดูกเคลื่อน การเล่นกีฬา พลัดตกหกล้ม เป็นต้น
-
เนื้องอก
เช่น การกระจายของมะเร็งจากอวัยวะอื่นมาที่กระดูกสันหลัง
-
การติดเชื้อ
เช่น วัณโรคของกระดูกสันหลัง เป็นต้น
-
ความผิดปกติแต่กําเนิด
โดยจะเป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังของผู้ป่วยบางรายที่มีความคดงอ โก่ง ผิดรูป จึงอาจทำให้เกิดอาการปวดได้ง่าย
ลักษณะอาการ
อาการปวดหลังสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
-
อาการปวดไม่รุนแรง
ในทางการแพทย์ได้ให้คะแนนความรุนแรงของการปวดอยู่ที่ 1-7 คะแนน มักจะมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนไหวหรือการทำกิจกรรมใดๆ ที่มีท่าทางไม่เหมาะสม ซึ่งโดยปกติหากรักษาตามอาการก็สามารถหายได้ใน 3- 5 วัน
-
อาการปวดรุนแรง
โดยอาการนี้มีคะแนนความปวดอยู่ที่ 8-10 คะแนน เป็นกลุ่มของอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน รุนแรง และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก สาเหตุอาจเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น เส้นเลือดแดงโป่งพอง อาการที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินอาหาร เกิดโรคนิ่วในไต หรืออาการเกี่ยวกับระบบกระดูก หากผู้ป่วยมีอาการเช่นนี้ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว
อาการที่สามารถสังเกตได้
-
ปวดล้าๆ เมื่อยๆ
มีจุดที่กดแล้วปวดมากขึ้น สาเหตุอาจเกิดจากกล้ามเนื้อ -
ปวดร้าวเหมือนไฟฟ้าช็อต
เช่น ร้าวจากคอไปปลายนิ้วมือ สาเหตุเหล่านี้อาจเกิดจากเส้นประสาทที่ถูกกดเบียดได้ -
ปวดหลังแบบมีอาการชา
หรืออาการอ่อนแรงร่วมด้วย อาจเกิดความผิดปกติของระบบประสาท หรือเส้นประสาท อาจมีแนวโน้มจะเป็นโรคจากหมอนรองกระดูกสันหลัง -
ปวดตรงแนวกระดูกกลางหลัง
โดยมักจะเกิดจากตัวกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง หรือเอ็นยึดระหว่างกระดูกสันหลัง
โรคที่เกี่ยวกับกระดูกสันหลังที่อาจเกิดขึ้นได้
1.หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม
มีสาเหตุมาจากการสึกหรอตามอายุการใช้งาน เช่นนั่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ นั่งขับรถเป็นระยะทางไกลๆ เป็นประจำ โดยอาการที่แสดงว่าหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมที่เห็นเด่นชัดคือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณเอว ลักษณะอาการปวดจะตื้อๆ ระดับเอวอาจร้าวลงมาที่บริเวณกล้ามเนื้อด้านข้างของหลังและสะโพก ซึ่งอาการปวดจะมีส่วนสัมพันธ์กับการใช้งาน จึงทำให้ส่งผลให้อาการปวดส่งผลถึงอวัยวะอื่นๆ ได้ง่าย
2.โรคกระดูกทับเส้น
โรคกระดูกทับเส้น หรือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยด้วยอาการปวดหลัง ปวดขา และเดินได้ในระยะสั้นลงเรื่อย ๆ อาการกระดูกทับเส้น หรือ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคนี้มักเกิดกับผู้สูงอายุ เนื่องจากการเสื่อมสภาพของข้อกระดูกสันหลังจนทรุดตัว ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างกระดูกงอกหรือหินปูนขึ้นเพื่อต้านการทรุดตัวและไปกดทับเส้นประสาท หรือบางครั้งอาจเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท
3.กระดูกสันหลังคด
โรคกระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยทั่วไปส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีส่วนน้อยที่อาจเกิดขึ้นจากโรคบางอย่าง เช่น โรคสมองพิการ (cerebral palsy) หรือโรคกล้ามเนื้อเสื่อม (muscular dystrophy) การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อในกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ในเด็กบางรายกระดูกสันหลังอาจผิดรูปมากขึ้นเมื่อโตสู่วัยรุ่น
4.กระดูกก้านคอเสื่อม
ผู้ที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อมจะมีอาการเริ่มแรกคือ นอนหลับไม่สนิท บางทีนอนตะแคงไม่ได้ นอนตะแคงแล้วจะเกิดอาการปวดเมื่อย ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ จะใช้หมอนหนาขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นอันหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง และต่อมาจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงของมือและแขน บางรายจะมีอาการเหลียวหลังไม่สะดวก ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้ร่างกายพิการได้
ตัวอย่างท่านอนลดอาการปวดหลัง
1.นอนตะแคง
แนะนำให้นอนตะแคง เพราะเป็นท่าที่กระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะโค้งอย่างเหมาะสม และควรจะนอนตะแคงแบบงอเข่าเล็กน้อย พร้อมกับหนุนหมอนที่ระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้สะโพกอยู่ในระนาบเดียวกันกับกระดูกสันหลัง ไม่เกิดการคดงอที่ผิดไปจากปกติและทำให้นอนหลับสนิทมากขึ้น
2.ท่านอนตะแคงขวางอเข่า
ท่านอนตะแคงขวาเป็นท่านอนที่ดี ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ โดยเฉพาะหากนอนงอเข่าข้างหนึ่งโดยมีหมอนข้างกอดไว้ หรือจะงอเข่าทั้งสองข้างจะทำให้ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้มากขึ้น
3.นอนตะแคงเอาแขนแนบลำตัว
ท่านอนนี้เป็นท่าที่ดีต่อกระดูกสันหลังมากที่สุด เพราะจะทำให้ร่างกายอยู่ในท่าทางที่เป็นธรรมชาติ ช่วยลดอาการปวดหลังและปวดคอได้ในคราวเดียวกัน รวมถึงช่วยลดปัญหานอนกรนด้วย แต่หากนอนทับแขนนานๆ อาจได้รับผลกระทบเป็นอาการปวดไหล่และแขนได้ ดังนั้นอาจเลี่ยงโดยการเปลี่ยนท่านอนเป็นพักๆ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติจากการปวดรุนแรงหรือไม่ เพราะถ้าหากมีก็ควรรีบพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานเพราะอาจมีอาการปวดจนไม่อยากขยับร่างกาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดแผลกดทับและนำไปสู่โรคร้ายได้ในที่สุด
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง