“ปวดหลังคอ” มีหลายแบบ-ปวดแบบไหนที่เสี่ยงอันตราย
“ปวดหลังคอ” อาการที่หลายๆ คนเป็นโดยเฉพาะหนุ่มสาววัยทำงานที่มักมีอาการ “ออฟฟิศซินโดรม” โรคยอดฮิต ณ ขณะนี้ที่แม้จะอายุยังน้อยก็สามารถเป็นได้ โดยจะมีตั้งแต่อาการปวดหลัง คอ ไหล่ ไปจนถึงบริเวณหลังช่วงล่างนั่นเอง อาการปวดเหล่านี้บางทีเป็นๆ หายๆ ซึ่งถ้าหากหายก็ดีไป แต่ถ้าหากปวดแล้วปวดเรื้อรังก็จะส่งผลแย่ตามมาก โดยเฉพาะอาการปวดหลังคอที่มีความปวดที่แตกต่างกัน โดยผู้มีปัญหากับอาการปวดเหล่านี้อาจจะต้องคอยสังเกตว่างตนเองมีอาการปวดแบบใดเนื่องจากบางอาการนั้นคือสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงบางโรคนั่นเอง
“ปวดหลังคอ” คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร
ในปัจจุบันพบผู้คนที่มีอาการปวดบริเวณหลังคอเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถพบผู้ป่วยที่มีปัญหากับอาการนี้ได้ในหลากหลายอาชีพ แต่โดยส่วนมากจะพบหนุ่มสาวออฟฟิศเนื่องจากจำเป็นต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นเวลานานๆ ในแต่ละวัน ซึ่งอาการนี้จะสามารถหายเองได้ แต่รู้หรือไม่ภาวะปวดคอนั้นมีหลายรูปแบบ และอาการปวดคอ แบบไหนถือว่าอันตราย?
ภัยเงียบที่มาพร้อมกับอาการปวด
กระดูกต้นคอ หรือข้อกระดูกต่างๆ ย่อมมีความเสื่อมตามวัยที่มากขึ้น และภาวะกระดูกคอเสื่อมจะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีปัจจัยหลายประการมาประกอบ เช่น ขนาดของน้ำหนักตัว ภารกิจประจำวัน ภาวะหลวมคลอนของข้อกระดูกต่างๆ เป็นต้น อาการกระดูกคอเสื่อมนั้นเกิดจากการที่หินปูนที่เกาะบริเวณกระดูกและเอ็นไปกดเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวดคอร้าว มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง
สาเหตุของอาการปวดหลังคอ
- นั่งทำงานหรือนั่งเล่นโทรศัพท์ในท่าเดิมๆ เป็นระยะเวลานานๆ
- นอนหมอนสูงเกินไป
- ทำกิจกรรมที่ต้องเกร็งคอเป็นเวลานาน
- การแบกสัมภาระหรือกระเป๋าไว้บนบ่าหนักๆ
ปวดคอแบบไหนถึงเสี่ยงอันตราย?
-
ปวดคออย่างเดียว
โดยปวดมาถึงบริเวณบ่าและสะบัก กลุ่มนี้แม้ว่าจะหายจากอาการปวดคอได้ง่าย และไม่อันตราย แต่ผู้ป่วยที่มีอาการนี้ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าอาจจะมีภาวะออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) หรือหมอนรองกระดูกเสื่อม
-
ปวดเพราะมีการกดทับเส้นประสาท
ผู้ที่ประสบปัญหานี้จะมีอาการปวดตั้งแต่ต้นแขนไปจนถึงมือ ร่วมกับมีอาการชา ในบางรายอาจมีอาการอ่อนแรง เช่น ยกไหล่ไม่ขึ้น ขยับนิ้ว หรือกระดกข้อมือไม่ขึ้นร่วมด้วย ซึ่งอาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
-
ปวดเพราะมีการกดทับไขสันหลัง
กลุ่มนี้มีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน ผู้ป่วยอาจมีประวัติปวดคอเรื้อรัง ร่วมกับปวดลงแขนหรือลงขา หรือมีอาการชาร่วมด้วย ไปจนถึงมีอาการอ่อนแรง ไม่สามารถหยิบจับสิ่งเล็กๆ ได้ เดินเซ สูญเสียการทรงตัว บางรายอาจมีอาการเกี่ยวกับการควบคุมระบบขับถ่าย สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ที่ให้ความแม่นยำ และความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย
วิธีการป้องกันการปวดหลังต้นคอ
-
ปรับเปลี่ยนท่านั่ง
เมื่อต้องยืนหรือนั่ง ควรปรับท่านั้นๆ ให้ไหล่ตรงกับกับแนวสะโพก เช่นเดียวกับใบหูที่อยู่เหนือไหล่ในแนวเดียวกัน
-
ยืดกล้ามเนื้อ
เมื่อมีอาการ ผู้ป่วยควรลุกหรือทำกายบริหารง่ายๆ เพื่อให้ร่างกายได้ถูกยืดออกหรือได้ออกกำลังบ้างเล็กน้อย
-
จัดโต๊ะทำงานใหม่
โดยจัดให้หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตา ปรับเก้าอี้ให้นั่งแล้วหัวเข่าอยู่ต่ำกว่าสะโพกเล็กน้อย และควรใช้เก้าอี้ทำงานที่มีที่พักแขน
-
ไม่นอนหมอนสูงจนเกินไป
ควรนอนให้ศีรษะและคออยู่ในแนวเดียวกับร่างกาย โดยใช้หมอนเล็กๆ รองคอไว้ นอนราบให้หลังติดที่นอนและใช้หมอนรองต้นขาให้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคกระดูกต้นคอเสื่อม ออฟฟิศซินโดรม หรือโรคอะไรก็ตามที่จะตามมา “การป้องกัน” คือสิ่งที่ดีที่สุด โดยต้องหมั่นให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวบ้างและควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมใดๆ ที่จะต้องเกร็จคอเป็นระยะเวลานานๆ หรือหากจำเป็นต้องทำกิจกรรมนั้นๆ จริงๆ ก็ควรทำควบคู่ไปกับอิริยาบถที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกระดูกหรือโรคอื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาทำให้สุขภาพของเราเสียนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน