“ปวดหน้าแข้ง” โรคสุดฮิตของนักวิ่งที่ควรรักษา
“ปวดหน้าแข้ง” เชื่อว่านักกีฬาประเภทวิ่งรวมถึงประเภทอื่นๆ ก็ต่างประสบปัญหานี้กันมาแล้ว เนื่องจากการใช้งานในการเล่นกีฬาอย่างหนัก หรือในบางครั้งอาจเกิดจากการบาดเจ็บจากการเล่น จึงทำให้ส่วนหน้าแข้งเกิดอาการปวดและเจ็บขึ้นมา อย่างไรก็ดีเราต่างรู้กันดีว่า หน้าขาส่วนนี้ค่อนข้างมีความสำคัญกับนักกีฬาหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะ นักวิ่ง เพราะต้องความแข็งแรงทั้งส่วนขาไปจนถึงเท้าในการแข่งขัน
“ปวดหน้าแข้ง” โรคสุดฮิตของ “นักวิ่ง” ที่ “นักวิ่ง” ควรรักษา
การปวดบริเวณหน้าแข้ง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่จะพบบ่อยสุดในหมู่นักวิ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “โรคกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ” (Shin Splints) จะมีอาการเจ็บ ปวด กล้ามเนื้อหน้าแข้ง อักเสบ ขาอ่อนแรง ขาชา เป็นต้น อย่างไรก็ดี อาการปวดตรงบริเวณหน้าแข้งเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่ก็สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยหลายวิธีเช่นเดียวกัน
สาเหตุของ “กล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ”
1. การวิ่งที่หักโหมและวิ่งในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม
โดยนักกีฬาอาจวิ่งอย่างหักโหมจนเกินไป เช่น วิ่งนาน วิ่งเร็ว เพิ่มระยะทางการวิ่งมากเกินไป รวมถึงการวิ่งบนพื้นที่ไม่เรียบ พื้นมีความต่างระดับ จึงทำให้การวิ่งไม่คงที่และนำมาซึ่งการเกิดอุบัติเหตุหรือวิ่งผิดท่าได้ด้วย
2. การอบอุ่นร่างกายยังไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร
ยืดกล้ามเนื้อขาน้อยเกินไป หรือ ไม่ยืดกล้ามเนื้อขาก่อนวิ่ง หรือ ออกกำลังกาย จึงทำให้ปวดหน้าแข้งเวลาวิ่งได้
3. รองเท้าที่ไม่เหมาะกับการวิ่ง
โดยนักกีฬาอาจเลือกสวมรองเท้าไม่เหมาะสม เช่น ไม่เหมาะกับรูปเท้า หลวม หรือ คับเกินไป สวมรองเท้าผิดประเภทกีฬาที่เล่น พื้นรองเท้าแข็ง เป็นต้น
4. วิ่งผิดท่า
เช่น วิ่งหันปลายเท้าออกด้านนอกมากเกินไป วิ่งลงน้ำหนักลงขา หรือ สะโพกข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป
5. นักกีฬามีความผิดปกติที่เท้า
เช่น เท้าแบน ทำให้มีโอกาสเส้นกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ ตึง มากกว่าคนปกติทั่วไป
ลักษณะอาการของ “หน้าแข้งอักเสบ”
โดยอาการปวดสันหน้าแข้ง จะมีอาการปวด 2 แบบ ประกอบด้วย
1. ปวดสันหน้าแข้งด้านหน้า (Anterior shin splints)
มีการอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อด้านในของหน้าแข้ง เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนรอบกระดูกหน้าแข้ง
2. ปวดสันหน้าแข้งด้านใน (Medial shin splints)
เป็นอาการปวดบริเวณหน้าแข็งด้านในส่วนล่างซึ่งเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อน่อง และ กล้ามเนื้อที่อยู่ใต้กล้ามเนื้อน่อง โดยทอดตัวจากด้านหลังกระดูกหน้าแข้งไปสิ้นสุดที่กระดูกในฝ่าเท้าซึ่งทำหน้าที่บิดข้อเท้าเข้าด้านใน และจิกปลายเท้าลงนั่นเอง
อาการแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
โดยปกติแล้ว อาการปวดบริเวณหน้าแข้งสามารถหายเองได้ เนื่องจาก อาการปวดที่ไม่ได้มีความรุนแรง จะมีลักษณะอาการที่คล้ายกับการปวดกล้ามเนื้อทั่วไป ดังนั้น หากนักกีฬาหยุดการออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือหยุดการวิ่ง ไปสัก 2-3 วันและหมั่นทำการประคบเย็นก็สามารถหายได้ในระยะเวลาดังกล่าว หรือมีอาการดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน หากพบว่าภายใน 3 วันอาการปวดยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
-
ปวดแข้งอย่างรุนแรง อาจเกิดจากการเล่นกีฬาหรืออกกำลังกาย
-
มีรอยแผลหรือรอยช้ำ
-
หน้าแข้งเกิดการบวม และ อักเสบ อย่างเห็นได้ชัด
-
รู้สึกร้อนวูบในหน้าแข้ง รวมถึงรู้สึกล้า ชา หรือเพลียตามบริเวณขา
-
มีไข้ร่วมด้วย
แนวทางการรักษา
-
ประคบเย็น
บริเวณปวด เพื่อลดการอักเสบ โดยประคบเย็นครั้งละ 20-30นาที ทุก 3-4 ชม. ราว 2-3 วัน จนอาการปวดหายไป
-
ยาแก้ปวด
โดยอาจเป็นยาแก้ปวดตามคำสั่งแพทย์หรือยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) เพื่อลดอาการรุนแรง
-
พักการออกกำลังกายที่ใช้ขา
หรือ อาจลดความหนักในการออกกำลังกายลง เช่น ลดระยะการวิ่ง หรือวิ่งช้าลง
-
ฉีดยา
คือการฉีดกลูโคสเข้าไปที่บริเวณกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีการอักเสบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเร่งกระบวนการฟื้นฟูและรักษาตามธรรมชาติ
-
กายภาพบำบัด
- อัลตราซาวด์ : ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ เเละข้อต่อในชั้นลึก เร่งกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ โดยจะเพิ่มการไหลเวียนเลือด
- เทปบำบัด : เพื่อพยุงกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บให้ลดการใช้งานลง และสามารถกลับไปทำกิจกรรมเดิมๆโดยที่ไม่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวด
- เลเซอร์ : เกิดการกระตุ้นปลายประสาท ยับยั้งกระบวนการปวด ลดอาการปวด บวม และอักเสบ นอกจากนี้เลเซอร์มีผลความร้อน ทำให้หลอดเลือดขยายตัว มีผลในการนำเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงเซลล์มากขึ้นด้วย
ท่ากายบริหารบรรเทาอาการปวดแข้ง
-
ดึงยืดหน้าแข้ง
โดยการคุกเข่าลงบนพื้น (ควรใช้ผ้ารองเข่า หรือบริหารบนพรม) โดยให้น่อง ข้อเท้าและนิ้วเท้าชี้ไปทางด้านหลัง จากนั้นนั่งลงบนน่องและส้นเท้าช้าๆ ค่อยๆดันข้อเท้าให้ราบติดพื้น จนรู้สึกหน้าแข้งตึง ค้างท่านี้ราว 10-20วินาที แล้วเริ่มทำซ้ำ
-
เดินโดยใช้ส้นเท้า
โดยในการออกกำลังกายวิธีนี้อาจทำประมาณ 30 วินาที สลับการเดินปกติ 30 วินาที ทำอย่างนี้ 4 เซต ประมาณ 3 ครั้งต่อวัน
-
ยืนหันหน้าเข้ากำแพง
เหยียดขาข้างที่ต้องการยืดน่องไปด้านหลัง ฝ่าเท้าราบติดกับพื้น ทำค้างไว้นับ 15 วินาที แล้วกลับมายืนตรง ทำซ้ำ 3-5 รอบ
-
ใช้ผ้าขนหนูวางรองใต้ข้อเท้า
กระดกปลายเท้าขึ้น-ลง อาจใส่ถุงทรายเพื่อเพิ่มน้ำหนักโดยเริ่มจาก 0.5 กก. หรือ 1 กก. ได้ 10-12 ครั้ง ทำซ้ำ 3-5 รอบ
การปฏิบัติตัวสำหรับนักกีฬา
- หยุดพักจากการวิ่ง หรือ พักจากการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้แรงขาหนัก ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือ จนกว่าจะหายดี
- ประคบเย็นหรือฉีดสเปรย์เพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
- ไม่ฝืนวิ่งหรืออกกำลังกายหากไม่ไหว
- หมั่นยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อเท้าอย่างสม่ำเสมอ
- เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับตนเอง
- หลีกเลี่ยงการวิ่งบนพื้นที่ที่ขรุขระ ไม่มีความสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ดี การดูแลหรือป้องกันตามที่กล่าวมา เป็นเพียงข้อควรรู้เบื้อต้นเท่านั้น สิ่งสำคัญคือนักกีฬาหรือผู้ที่มีปัญหาการปวดแข้งควรหมั่นสังเกตตนเอง และหากมีอาการที่ผิดสังเกตก็ควรรีบพบแพทย์ หรือ นักกายภาพบำบัด เพื่อหาทางออกหรือทางรรักษาที่ถูกต้องต่อไป เพราะถ้าหากใช้วิธีรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่ออาชีพนักกีฬาได้เลยนั่นเอง
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- “จิตวิทยาการกีฬา” สิ่งสำคัญในการแข่งที่ขาดไม่ได้
- “ความเย็นบำบัด” วิธีฟื้นฟูสำคัญสำหรับนักกีฬา
- “เทปบำบัด” หนึ่งเทคนิคลดอาการปวดที่นักกีฬาควรรู้