ปวดคอร้าวลงแขน บ่อยๆ อาการนี้คืออะไรกันแน่?
“ปวดคอร้าวลงแขน” เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คนและหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับการทำงานในสำนักงาน หรือเรียกว่าอาการ ออฟฟิศซินโดรม และอาชีพที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งต้องแบกหรือยกของหนักๆ ซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้ง จึงอาจเกิดการกดทบกล้ามเนื้อบริเวณหลังต้นคอและอาจลุกลามไปถึงแขนด้วยนั่นเอง ซึ่งอาการเช่นนี้อาจหายเองได้ภายใน 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจเกิดอาการเรื้อรัง
ปวดคอร้าวลงแขน เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายอะไรได้บ้าง?
หากพูดถึง คอ นั้น ถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายของเรามากๆ เพราะนอกจากจะต้องคอยรับน้ำหนักของศีรษะรวมคอ ที่ถือว่าเป็น 10% ของน้ำหนักตัวแล้วก็ยังต้องคอยทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวในทุกๆ อิริยาบถของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ก้ม เงย เอี้ยว และหมุนตัว จึงไม่แปลกนักที่หลายๆ คนจะมีปัญหาการปวดคอหรือบริเวณใกล้เคียง เพราะต้องถูกใช้งานอยู่ตลอดนั่นเอง
สาเหตุของการปวดคอ
เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ที่ไม่สมดุลหรือไม่เหมาะสม จนมีอาการปวดบริเวณคอ สะบัก หรือปวดหลัง เป็นๆ หายๆ สาเหตุมักเริ่มต้นมาจากกล้ามเนื้ออักเสบ ส่วนใหญ่อาการปวดมักดีขึ้นภายใน 1 เดือน เมื่อหยุดการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด รับประทานยา นวด ฝังเข็ม หรือทำกายภาพบำบัด อย่างไรก็ตามหากไม่มีการปรับท่าทางระหว่างการทำงาน หรือเกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นจะมีการเสื่อมของกระดูกสันหลังตามมาจนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง
ลักษณะอาการ
อาการปวดคอนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายอาการ เช่น
1. กลุ่มอาการปวดคออย่างเดียว
จะรู้สึกปวดตั้งแต่ต้นคอมาจากถึงบ่าและสบัก และเป็นอาการที่รักษาง่ายที่สุดในหลายๆ อาการ ซึ่งโดยทั่วไปสามารถหายได้เองหรือดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
2.กลุ่มอาการที่ปวดเพราะความเสื่อมของกระดูกและการกดทับเส้นประสาท
การเสื่อมตัวของหมอนรองกระดูกคอทำให้เกิดการทรุดตัว ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างกระดูกแคบลงและเกิด กระดูกงอก หรือ หินปูนเกาะ ในที่สุด
3.อาการปวดชาร้าวลงแขน
จะมีอาการปวดร้าวและชาจนถึงสบัก แขน ไปจนถึงปลายมือ โดยถ้าหากเป็นมากจะทำให้อ่อนแรง ยกไหลไม่ขึ้น และทำกิจกรรมประจำวันลำบากมากขึ้น
อาการปวดคอและร้าวลงแขนแบบนี้ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
-
โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม อาจมีกระดูกงอกแล้วเบียดทับเส้นประสาท
-
โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทที่จะไปเลี้ยงแขน
-
เกิดจากการเสื่อมของกระดูกบริเวณต้นคอ เนื่องจากมีอายุมากยิ่งขึ้น
-
เกิดจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับบริเวณคอโดยตรง เช่น รถชน ถูกต่อย ฯลฯ
แนวทางการรักษา
ปรับพฤติกรรม ลดการก้มเงย
ปรับเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถ เพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
ทานยาแก้ปวด
โดยแพทย์จะให้ยาจากการประเมินจากความรุนแรงของอาการเป็นหลัก หากมีอาการปวดต้นคอไม่รุนแรงมาก อาจบรรเทาได้ด้วยการทานยาพาราเซตามอล แต่หากอาการปวดนั้นมีสาเหตุจากการอักเสบรุนแรง แพทย์อาจให้ยาลดการอักเสบร่วมด้วย อย่างไรก็ตามการรับประทานยาควรทานตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
กายภาพบำบัด
ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงจนขยับคอลำบาก อาจต้องกระตุ้นกล้ามเนื้อโดยการประคบร้อน ประคบเย็น และการดึงคอ รวมถึงการบีบนวดที่ถูกวิธีก็ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อคอได้ นอกจากนี้ควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดเรื้อรังด้วย
ผ่าตัดกระดูกคอ แทนด้วยหมอนรองกระดูกเทียม ด้วยกล้องไมโครสโคป แผลเล็ก
เป็นวิธีที่มีความเสี่ยง และจะใช้รักษาในผู้ที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง เนื่องจากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผลแล้ว
ท่าบริหารง่ายๆ สำหรับบรรเทาอาการปวดคอ
ท่ายืดกล้ามเนื้อคอ
ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อคอด้านข้าง และกล้ามเนื้อไหล่ เริ่มจากนั่งสบาย ๆ บนพื้นหรือเก้าอี้ แล้วยกแขนขวาโอบไปจับที่หูข้างซ้าย แล้วค่อย ๆ เอียงคอไปทางขวาจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคอตึง แล้วค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที จากนั้นเปลี่ยนสลับข้างอีก 5-10 ครั้ง
ท่าจับศอก
ท่านี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบคอ ไหล่ แขน เริ่มจากยกมือข้างหนึ่งไปแตะบริเวณหัวไหล่ แล้วยกมืออีกข้างไปแตะที่ข้อศอก ยืดหลังตรงจากนั้นพยายามดึงจนรู้สึกตึง ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำสลับข้างซ้ายขวา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการปวด คอ บ่า หรือไหล่ เป็นเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าอาการปวดคอดังกล่าวมีสาเหตุมาจากสาเหตุใด เพราะส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าอาการที่เป็นรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งกว่าจะรู้ว่าอาการรุนแรงก็อาจสายไป ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตตนเองและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
——————————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นั่งนาน ปวดหลัง แก้ได้ไม่ยาก
- ปวดกล้ามเนื้อหลัง (Myofascial Pain Syndrome)
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน