“ปวดกระบอกตา” อาการที่อาจมาจากไมเกรน
“ปวดกระบอกตา” อาการที่พบบ่อยในคนยุคปัจจุบัน แต่หลายๆ คนก็ยังสงสัยว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่ เนื่องจากภาวะเช่นนี้เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน รวมทั้งยังเป็นกลุ่มอาการที่สามารถมาได้จากทั้งโรคทางตาหรือศีรษะก็ได้เช่นกัน โดยหากเป็นอาการที่เกิดจากความเจ็บปวดทางศีรษะ ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นการปวดหัวแบบ ไมเกรน ก็เป็นได้ ดังนั้น เราจึงควรมาเรียนรู้เกี่ยวกับอาการนี้กันมากขึ้น
“ปวดกระบอกตา” มีสาเหตุมาจากอะไร ทำอย่างไรจึงจะหาย?
การปวดบริเวณกระบอกตา เป็นอาการปวดตื้อ ๆ จนรู้สึกถึงแรงกดหรือแรงตึงบริเวณดวงตาที่มาจากภายในศีรษะด้านหลังตา ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคเกี่ยวกับดวงตาหรือศีรษะก็ได้ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้
สาเหตุ
โรคและภาวะที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดบริเวณกระบอกตา มีดังนี้
ปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะอาจก่อให้เกิดอาการปวดด้านหลังดวงตาได้ เช่น อาการปวดศีรษะจากความเครียดซึ่งมีลักษณะปวดตื้อหรือแน่นบริเวณหน้าผากหรือด้านหลังศีรษะและลำคอ ปวดศีรษะแบบตุบๆ ข้างเดียวอย่างไมเกรน หรือปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ที่เป็นการปวดรุนแรงอย่างเป็นๆ หายๆ เป็นต้น
เส้นประสาทตาอักเสบ
อาจมีสาเหตุมาจากโรคเอ็มเอส โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือการติดเชื้ออื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดอาการบวมหรืออักเสบที่ด้านหลังดวงตาจนเส้นประสาทตาเสียหาย และนำไปสู่อาการปวดตื้อ ๆ ด้านหลังดวงตาได้
ไซนัสอักเสบ
เป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือไวรัสบริเวณโพรงอากาศข้างจมูก ทำให้บริเวณดังกล่าวบวม มีมูกเหนียวหรือเมือกสารคัดหลั่ง ผู้ป่วยจึงรู้สึกถึงแรงกดบริเวณส่วนบนของใบหน้าและด้านหลังดวงตา รวมทั้งอาจมีอาการอื่นๆ
ปัญหาสุขภาพปากและฟัน
อาการปวดฟัน ความผิดปกติในการเรียงตัวของขากรรไกร หรือปัญหาในการกัดเคี้ยวอาหาร อาจทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวจนมีอาการปวดศีรษะและปวดตื้อบริเวณหลังตาไปด้วย
ลักษณะอาการของการปวดบริเวณกระบอกตา
-
ความรู้สึกเจ็บแปลบเหมือนถูกแทง
-
ปวดแสบปวดร้อนที่ตา
-
ปวดตื้อ ๆ
-
รู้สึกเหมือนมีบางอย่างอยู่”ใน”ตา (รู้สึกถึงสิ่งแปลกปลอม)
-
บ่อยครั้งที่อาการปวดตามาพร้อมกับตามัว ตาแดง (เห็นเส้นเลือดในตา) และ การไวต่อแสง
แนวทางการรักษา
โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะถูกรักษาตามอาการหรือจากสาเหตุที่เป็นต้นตอให้เกิดอาการ เช่น
หากเกิดจาก: การปวดศีรษะ
แพทย์อาจให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน เป็นต้น หรืออาจใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงกว่าเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวดศีรษะ
หากเกิดจาก: เส้นประสาทตาอักเสบ
แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมของเส้นประสาทตา แต่หากการอักเสบมีสาเหตุมาจากโรคเอ็มเอสหรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาจต้องใช้ยาอื่น ๆ ที่ช่วยกดภูมิต้านทานเพื่อป้องกันเส้นประสาทเสียหายมากยิ่งขึ้น
หากเกิดจาก: ไซนัสอักเสบ
กรณีที่อาการอักเสบของไซนัสเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือจะช่วยลดอาการบวมและคัดจมูก ซึ่งอาจทำให้อาการปวดกระบอกตาดีขึ้นด้วย
หากเกิดจาก: ปัญหาสุขภาพปากและฟัน
ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม เพื่อปรับการจัดเรียงตัวของฟันและลักษณะขากรรไกร
การป้องกันตนเองจากการปวดบริเวณกระบอกตา
การป้องกันสามารถทำได้ง่ายๆ โดยผู้ป่วยอาจจะต้องทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ดีขึ้น ดังนี้
- ไม่จ้องแสงนานๆ เช่น จากโทรศัพท์ จอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงในการอยู่ในบริเวณที่ร้อนจัด หรือแดดแรงเป็นเวลานานๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- พกยาแก้ปวดหรือยาตามสั่งจากแพทย์ติดตัวไว้เสมอ
- หมั่นตรวจสุขภาพ เพื่อไม่เกิดโรคแทรกซ้อนที่มากับดวงตา
อย่างไรก็ดี การรักษาโรคที่เป็นตัวต้นเหตุทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตาเป็นทางรักษาที่ดีที่สุด เพื่อให้อาการปวดกระบอกตาดีขึ้น และไม่กลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้หากจะให้เกิดผลมากที่สุด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการปวดร่วมด้วยเพื่อเป็นการป้องกันตนเองอีกทางหนึ่ง และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อความแน่ใจในการดูแลตนเอง
———————–
ข้อควรระวัง: เนื้อหาในบทความ วีดีโอ ข้อความคิดเห็น มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ และสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างเท่านั้น ไม่ได้มีความตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนการเข้ารับการตรวจ วิเคราะห์ และการวางแผนการรักษาของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ผู้เข้าชมไม่ควรวินิจฉัย หรือ คาดเดาโรคด้วยตัวเองจากการอ่านบทความ ข้อคิดเห็น หรือ ดูวีดีโอ นี้ คนไข้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของตนเองเพื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด และเพื่อหลีกเลี่ยงการปวดที่อาจเกิดเพิ่มมากขึ้นในภายหลัง
บทความที่น่าสนใจ
- นวดไทย vs กายภาพบำบัด ต่างกันอย่างไร?
- “ออกกำลังกายในน้ำ” กายภาพบำบัดง่ายๆ ที่มีประโยชน์กว่าที่คุณคิด
- ปวดหัว มึนหัว ปวดกระบอกตา คล้ายไมเกรน